คลายปมเรื่องเพศในสังคมไทยกับ ณัฐยา บุญภักดี
“แม้จะทำงานเกี่ยวกับสุขภาพ ก็ไม่จำเป็นต้องพูดจาภาษาหมอ เราต้องพูดจาภาษาชาวบ้านให้ผู้หญิงเข้าใจ” นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้ประสานงานมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง และผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สสส. ชวนคิดระหว่างการสนทนาเรื่องผู้หญิง
ณัฐยาทำงานเกี่ยวกับสุขภาพและอนามัยเจริญพันธุ์ผู้หญิงมานานกว่า 15 ปี จากจุดเล็กๆ ที่เธอตั้งคำถามว่า “แค่ไหนล่ะ…ที่ผู้หญิงจะปกป้องตัวเองได้บ้าง ถ้าถูกลวนลามบนรถเมล์ มันเป็นเรื่องปกติไหม..”
เมื่อค่อยๆ เรียนรู้และทำความเข้าใจ ก็มองเห็นปัญหาชัดเจนยิ่งขึ้น และเชื่อมโยงไปสู่การแก้ปัญหา ทั้งเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อม การทำแท้ง และสารพัดเรื่องที่เกี่ยวกับผู้หญิง
เรื่องเหล่านี้ ณัฐยาบอกว่า ต้องกลับมาที่วัฒนธรรมความเชื่อในสังคมที่ผู้หญิงถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่เกิด พร้อมกับการคลายปมในใจผู้หญิง ด้วยวิธีการให้ความรู้ในรูปเวิร์คชอป ควบคู่ไปกับการทำงานวิจัย และโยงไปถึงการร่วมผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองอนามัยเจริญพันธุ์
งานหลัก คือ การทลายความเชื่อผิดๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง “สนใจประเด็นผู้หญิงตั้งแต่ทำงานมูลนิธิผู้หญิง ตอนนั้นสนใจเรื่องการค้ามนุษย์ เพราะผู้หญิงอยากมีอาชีพมีเงินใช้ จึงไปทำงานในต่างประเทศ”
สิ่งที่ผลักดันให้ผู้หญิงเดินทางไปขายบริการข้ามชาติ เธอมองไปที่ต้นตอปัญหาที่ทำให้ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อ เพราะแรงผลักดันจากครอบครัวให้ออกมาหาเงิน เธอจึงตั้งคำถามต่อว่า เป็นไปได้ไหมที่ผู้หญิงจะกำหนดชีวิตตัวเอง ถ้าเป็นไปไม่ได้ ผู้หญิงเหล่านั้นจะทำอย่างไรต่อ
ณัฐยาค้นพบคำตอบจากการให้คำปรึกษาผู้หญิงหลากหลายอาชีพ จุดที่ผู้หญิงควบคุมตัวเองไม่ได้มากที่สุด คือ ประเด็นเรื่องเพศ จึงเป็นที่มาของการทำงานเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศของผู้หญิง
“เพราะผู้หญิงไม่รู้เรื่องเพศของตัวเอง พวกเธอถูกทำให้รู้สึกว่า อวัยวะเพศตัวเองเป็นของต่ำและสกปรก รวมถึงถูกทำให้เชื่อว่า เกิดเป็นผู้หญิงไม่มีคุณค่าเท่าผู้ชาย” เธอเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในสังคมไทย
เมื่อเธอศึกษาลงลึกไปเรื่อยๆ ก็พบว่า เรื่องเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพ ทำให้ผู้หญิงเกิดความอายในร่างกายตัวเอง และเรื่องเพศ ผู้ชายต้องเป็นคนนำ
“ผู้หญิงที่เราพูดคุยด้วย ไม่ได้รู้สึกว่าสามารถปกป้องดูแลร่างกายตัวเองได้ หากสามีไปมีผู้หญิงอื่น ภรรยาก็ไม่กล้าพูดว่า เวลามีเพศสัมพันธ์ให้ใส่ถุงยางอนามัย ไม่อย่างนั้นไม่นอนด้วย กลายเป็นว่า คนที่ตัดสินเรื่องนี้คือผู้ชาย”
ณัฐยาสะท้อนให้เห็นว่า กรอบวัฒนธรรมทำให้เชื่อว่า เวลามีประจำเดือนไม่ควรไปถวายอาหารให้พระสงฆ์ หรือเวลาตากผ้า ผู้ชายไทยไม่ควรเก็บชุดชั้นในหรือผ้าถุงให้ผู้หญิง ฯลฯ
ทัศนคติความเชื่อในเรื่องเพศ เป็นเรื่องยากที่จะพูดอย่างเปิดเผย ณัฐยาและทีมจึงหากระบวนการสร้างความเข้าใจอบรมผู้นำหญิงในชุมชนที่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสังคม
“เวลาทำงานเราจะไม่เอาสิทธิเป็นตัวนำ จากประสบการณ์การทำงาน เรารู้ดีว่า สังคมไทยอ่อนไหวมากที่ผู้หญิงจะลุกขึ้นมาพูดเรื่องสิทธิ ถ้าออกมาพูดเรื่องนี้จะถูกต่อต้าน”
เมื่อเข้าใจดีว่า สังคมไทยเปราะบางในบางเรื่อง ถ้าออกมาส่งเสียงเรียกร้องสิทธิสตรีคงไม่ได้ผล ณัฐยาจึงใช้วิธีสร้างความเข้าใจด้วยการทลายความเชื่อบางอย่างออกไป
“ถ้าออกมารณรงค์เรื่องสิทธิ เราพบว่า จะมีการโต้แย้งอย่างมีอคติ จะไปกระตุ้นอคติทางเพศ ทำให้ยากในการทำความเข้าใจ ในสังคมไทยหญิงหรือชายต่างอยู่ภายใต้กรอบวัฒนธรรมความคิดและความเชื่อเดียวกัน นี่คือ สิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง”
ณัฐยา บอกว่า ก่อนอื่นต้องทลายมายาคติความเข้าใจในร่างกายแบบผิดๆ ออกไปก่อน แค่เชื่อว่าเกิดเป็นผู้หญิงก็มีกรรมแล้ว ความเชื่อแบบนี้ส่งผลต่อความภาคภูมิใจในการเป็นผู้หญิง
“เมื่อทลายความเชื่อผิดๆ ออกไปแล้ว จากนั้นให้ความรู้สุขภาพที่ถูกต้องเป็นข้อมูลทางการแพทย์ และเพิ่มกิจกรรมฟื้นฟูความรู้สึกดีๆ อาจให้เขียนจดหมายถึงน้องสาว (อวัยวะเพศ) บอกเล่าความรู้สึกทำความเข้าใจกับร่างกายตัวเองมากขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ ให้ความสำคัญกับการตรวจมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น”
ความเชื่อที่ฝังหัวมาตั้งแต่เกิด ไม่ใช่ง่ายที่จะเปลี่ยนแปลง ณัฐยา บอกว่า กระบวนการของเราไม่ได้ทำครั้งเดียวจบ จะติดตามผลอย่างต่อเนื่องให้ความรู้ผู้นำในชุมชนนั้นๆ อาทิ เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย แกนนำชาวบ้าน ครู ซึ่งคนเหล่านี้มีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงสังคมนำความรู้ไปเผยแพร่ต่อ
“เป็นเรื่องสนุก มีเรื่องมีปัญหาให้เรียนรู้ทุกวัน แต่ละวันท้าทายให้แก้ปัญหา” ณัฐยา เล่าและย้อนไปถึงช่วงทำงานแรกๆ เมื่อ 20 ปีที่แล้วตอนเป็นนักศึกษาปริญญาโท เธอทำงานวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันเอชไอวี แม้จะได้คำตอบว่า คนส่วนใหญ่คิดว่า การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีง่ายมาก แค่ใส่ถุงยาง
แต่งานวิจัยสวนทางกับความเป็นจริง เธอตั้งคำถามต่อว่า “แล้วผู้หญิงจะกล้าบอกให้ผู้ชายใส่ถุงยางไหม”
ความเข้าใจเรื่องเพศต่างมุมต่างความคิด จึงต้องมีกระบวนการทำงานที่ถูกต้อง เธอและทีมงานใช้วิธีลงพื้นที่จัดเวิร์คชอปให้ผู้หญิงกลุ่มเล็กๆ นั่งคุยเปิดใจในทุกเรื่อง ซึ่งกระบวนการที่เธอทำ ต่างจากหน่วยงานรัฐที่ทุ่มสื่อโฆษณาชักชวนให้ผู้หญิงไปตรวจมะเร็งปากมดลูกในทุกปี แต่ไม่อาจลงลึกถึงปัญหาเหมือนเช่นที่เธอและทีมงานทำ
“เคยไปทำกิจกรรมกับผู้หญิงกลุ่มเล็กๆ ในพะเยา ปรากฏว่า แค่ตำบลเดียวมีผู้หญิงไปตรวจมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้น 40%” เธอเล่า เพราะเห็นว่ากระบวนการทำงานในระดับพื้นที่เป็นงานที่เห็นผลและมั่นใจว่ามาถูกทาง
“เรื่องสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ให้ความรู้สุขภาพอย่างเดียวไม่พอ ต้องปรับทัศนคติที่มีต่อเรื่องเพศด้วย อยากบอกให้ผู้หญิงรู้ว่า ตั้งแต่เกิดมีคนมากมายบอกผู้หญิงว่า เราอ่อนแอ ไม่เป็นผู้นำ ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล เรื่องลบๆ ที่คนเอามาใส่หัว เราอย่าบอกตัวเองว่าเราเป็นอย่างนั้น ให้ดูว่าเราทำอะไรได้บ้าง แล้วใช้ศักยภาพให้เต็มที่”
ในขณะเดียวกันเธอย้ำว่า ผู้หญิงก็ไม่ควรนำเรื่องลบๆ ไปใส่หัวลูกหลานตัวเอง ผู้หญิงควรเป็นแนวร่วมซึ่งกันและกัน เพราะในสังคมมีการกำหนดคุณค่าผู้หญิงไว้ต่ำมาก
“อย่าเอาความเป็นผู้หญิงมาตีกรอบให้ตัวเอง ไม่ว่าจะเพศไหน ต่างมีศักยภาพในการพัฒนาสังคมและตัวเอง”
เรื่อง: เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ