คลอด 6 มาตรการสกัดไวรัส “โคโรน่า”
นักวิชาการด้านไวรัสวิทยาและระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้ทรงคุณวุฒิตัวแทนจากองค์การอนามัยโลก (who) ประจำประเทศไทย ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาราธณสุข (ซีดีซี)ได้ประชุมหารือเป็นการด่วนที่สำนักโรคอุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
เมื่อวันที่ 26 กันยายน หลังการพบเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ต่างประเทศโดย ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค (คร.)แถลงข่าวว่าเป็นการหารือเพื่อเตรียมความพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั้งในด้านเทคนิคและวิชาการหากเกิดการระบาดของโรค
“ขณะนี้ยังไม่ถือว่าเป็นโรคระบาด เนื่องจากทั่วโลกยังพบผู้ป่วยเพียง 2 ราย คือ ชายชาวซาอุดิอาระเบีย พักรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ”ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐระบุ
ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวว่า ไวรัสตัวนี้เป็นเชื้อตัวใหม่ จัดอยู่กลุ่มโคโรนาไวรัสเช่นเดียวกับไข้หวัดซาร์ส แต่ไม่ใช่ตัวเดียวกับซาร์ส ซึ่งโดยปกติไวรัสกลุ่มนี้จะก่อให้เกิดอาการในระบบทางเดินอาหาร และระบบทางเดินหายใจ มีอาการตั้งแต่ระดับอ่อนๆเป็นไข้หวัดธรรมดา ปละรุนแรงถึงขั้นหายใจติดขัด ระบบการหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตเช่นโรคไข้หวัดซาร์ส
“แต่โรคใหม่นี้ หากพิจารณาจากผู้ป่วย 2 ราย โรคมีความรุนแรง แต่ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า แท้จริงโรคมีความรุนแรงหรือไม่ เพราะผู้ป่วยมีจำนวนน้อย ส่วนการติดต่อของโรคจากการติดตามผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยทั้ง 2 ราย พบว่ายังไม่มีการป่วยเป็นโรคนี้ แสดงว่าโรคยังไม่ระบาดจากต้นตอโรคไปยังคนอื่น ณ ขณะนี้ความเสี่ยงยังต่ำอยู่” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ชี้แจง
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวถึง การเตรียมการป้องกันปละควบคุมโรคของประเทศไทยว่า จะเน้นใน 6 ประเด็นสำคัญ
1.คณะทำงานตั้งชื่อโรคนี้ว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2012 เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
2.เฝ้าระวังทางระบาดวิทยา โดยจะทำหนังสือแจ้งเวียนไปยังโรงพยาบาลทุกแห่งจับตาผู้ป่วยที่เดินทางมาจากประเทศซาอุดีอาระเบียและกาตาร์ ถ้ามีอาการป่วยรุนแรง เช่น ปอดบวม ต้องสอบสวนโรคอย่างละเอียดทุกราย
3.เฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งห้องแล็บในบ้านเราสามารถตรวจสอบเชื้อตัวนี้ได้ ซึ่งฮูและซีดีซีจะให้ความช่วยเหลือในเรื่องรายละเอียดของสารพันธุกรรมของไวรัสในขั้นตอนตรวจสอบ
4. การดูแล รักษา จะใช้แนวทางเดียวกับช่วงที่เกิดการระบาดของโรคซาร์ส เพราะไม่มียารักษาต้องดูแลแบบประคับประคอง เน้นป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล
5.การดูแลผู้เดินทาง จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มชาวตะวันออกกลาง จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มชาวตะวันออกกลางโดยเฉพาะซาอุฯและกาตาร์ที่เดินทางมาไทยประมาณ 6,000 คนต่อเดือน จะจัดทำใบให้คำแนะนำของโรคเป็น 3 ภาษา ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอารบิก แจกที่บริเวณขาเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
“ส่วนกลุ่มชาวไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุฯซึ่งปีนี้จะมีผู้เดินทางประมาณ 1.5 หมื่นคน จะประสานให้คณะแพทย์ที่เดินทางกลับไทยจะต้องติดตามการเจ็บป่วยเป็นเวลา 10 วัน” นพ.คำนวณชี้แจง
6.การกำหนดยุทธศาสตร์และสถานการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ระดับได้แก่ 1.ไม่มีผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยจัดกอยู่ในสถานการณ์ระดับนี้2.พบผู้ป่วยควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้าง 3. มีการระบาดเป็นวงกว้าง 3. มีการระบาดเป็นวงกว้างแต่การเจ็บป่วยไม่รุนแรง และ 4 โรคทวีความรุนแรงขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก