คลอด `พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดนมผง` สร้างมาตรฐานสังคมไทย
ที่มา : หนังสืพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
อาทิตย์ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารก และเด็กเล็กประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยผู้ที่ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเนื้อหากฎหมายฉบับนี้จะมีผลอย่างไร จึงมีการสัมมนา "การเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และอาหารตามวัยทารกและเด็กเล็ก" เพื่อชี้แจงถึงเนื้อหา…
ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เนื้อหา 'พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดนมผง' เน้นส่งเสริมให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองมากที่สุด และปกป้องไม่ให้ แม่ หรือครอบครัวถูกโน้มน้าวจากการโฆษณา ส่งเสริมการตลาด ซึ่งกฎหมายนี้แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของบริษัทผู้ผลิตในเชิงจริยธรรม จึงทำให้ต้องมีกฎหมายเข้ามาควบคุม
ขณะเดียวกันก็คุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะแม่ที่ไม่มีโอกาสได้เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองอย่างเต็มที่ กฎหมายฉบับนี้จะไม่มีผลต่อแม่ที่ใช้นมตัวเองเลี้ยงลูก แต่แม่ที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองจะได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ เพราะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ใช่ได้ข้อมูลที่เกินจริง
โดยผลิตภัณฑ์ที่ถูกควบคุมคือ อาหารสำหรับทารกที่อายุไม่เกิน 6 เดือน และอาหารสำหรับเด็กเล็ก 1-3 ปี ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะสอดคล้องกับกฎหมายอาหารแต่จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการควบคุมคุณภาพผลิต ภัณฑ์ แต่จะเน้นควบคุมการโฆษณา และการส่งเสริมการตลาด
กฎหมายนี้ควบคุมอาหาร 3 ประเภทคือ 1.อาหารสำหรับทารก อายุ 0-12 เดือน 2.อาหารสำหรับเด็กเล็ก อายุ 1-3 ปี ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ถ้าไม่มีประกาศอาหารชนิดนั้นจะไม่ถูกควบคุม แต่เมื่อใดผลิตภัณฑ์นั้นมีการโฆษณาที่เกี่ยวโยงกับทารก สินค้านั้นมีสิทธิถูกประกาศควบคุม ซึ่งอาหารสำหรับ เด็กเล็กสามารถโฆษณาได้ แต่ห้ามใช้ข้อความที่เกี่ยวกับทารก หรือเด็กเล็กในสื่อที่เชื่อม โยงทำให้เข้าใจว่าเป็นอาหารสำหรับทารก หรือเหมาะสมสำหรับใช้เลี้ยงทารก และ 3.อาหารเสริมสำหรับทารก ไม่สามารถ โฆษณาได้
ขณะที่ฉลากข้างผลิตภัณฑ์ต้องมีข้อมูลทุกอย่างชัดเจน ได้รับอนุมัติจาก อย. และต้องแตกต่างอย่างชัดเจน สามารถแยกออกได้โดยง่าย การให้ข้อมูลโดยบุคลากรทางการแพทย์ทำได้ และเป็นหน้าที่ที่ควรทำ แต่ห้ามไม่ให้บริษัทผู้ผลิตมาให้ข้อมูลกับบุคคลทั่วไป ยกเว้นแต่เป็นข้อมูลที่ปรากฏตามฉลาก และไม่ใช่ข้อมูลโฆษณาแอบแฝง เช่นบอกว่า ในนมมีส่วนผสมชนิดหนึ่งตามฉลากได้ แต่ไม่สามารถให้ข้อมูลว่า เมื่อทานนมนี้แล้วจะทำให้ลูกฉลาด หรือเก่งได้ และไม่สามารถทำการส่งเสริมการตลาด โดยการลด แลก แจก แถม แจกตัวอย่าง ให้ของขวัญแม่ที่มีบุตร เพราะเสี่ยงที่แม่ที่ตั้งครรภ์จะได้ข้อมูลที่ผิด ส่วนการบริจาคสามารถทำได้ แต่ต้องไม่มีตรา หรือสัญลักษณ์เข้าไปอยู่ในสิ่งของ
การให้ของขวัญ หรือเงิน สิ่งจูงใจ ต่าง ๆ ไม่สามารถทำได้ ขณะการให้ทุนทรัพย์ในการจัดประชุมวิชาการต่าง ๆ แก่วิชาชีพ กฎหมายไม่ได้ห้าม แต่ต้องผ่านการตรวจ สอบของวิชาชีพ หรือผ่านสถาบันการศึกษาของรัฐ ส่วนการสาธิตผลิตภัณฑ์ไม่สามารถทำได้ ยกเว้นบุคลากรสาธารณสุขที่ทำเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และประโยชน์ในการรักษาเด็ก
'ที่ผ่านมาโรงพยาบาลรัฐมีนโยบายห้ามไม่ให้มีการแจกตัวอย่างนมกับแม่ที่มาคลอด ถ้าแม่ได้ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ตั้งแต่หลังคลอด เมื่อกลับบ้านไป พอน้ำนมแม่มาน้อย ทั้งที่จริงแล้วควรให้ลูกดูดบ่อย ๆ เพื่อกระตุ้นน้ำนม ซึ่งเมื่อเด็กทานนมผงจะอิ่ม และไม่ดื่มนมแม่ ทำให้น้ำนมแม่ไม่ถูกกระตุ้น นี่จึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้แม่ที่ได้รับตัวอย่างนมจากโรงพยาบาล ไม่ประสบความสำเร็จในการให้นมตัวเองแก่ลูก"
ด้าน มร.โธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า นี่ถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของพ่อแม่ บุคลากรทางสาธารณสุข และสังคมโดยรวมที่ได้ต่อสู้มายาวนานหลายสิบปี เพื่อปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศ ถือเป็นวิธีที่สำคัญที่สุดวิธีหนึ่งในการช่วยให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง
ปีที่ผ่านมา วารสารทางการแพทย์นานาชาติ เดอะแลนเซ็ท ได้รวบรวมหลักฐานจากทั่วโลก และพบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเหมาะสมสามารถป้องกันการเสียชีวิตของทารกมากกว่า 800,000 คน/ ปี และยังช่วยในการพัฒนาระดับเชาวน์ปัญญาหรือไอคิว ขณะที่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่ในแม่อีกด้วย.