คลอดพ.ร.ก.ขยายเพดานภาษีบุหรี่

ขี้ยาควักเพิ่มซองละ11-16บ.

 

 คลอดพ.ร.ก.ขยายเพดานภาษีบุหรี่

          รัฐบาลเห็นชอบให้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพิ่มเพดานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันและภาษีสรรพสามิตบุหรี่แล้ว คาดทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 7.5 หมื่นล้าน ขณะที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลเพิ่มภาษีสุราและเบียร์ไปแล้ว ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 6.3 พันล้านบาท

 

          ทั้งนี้ นพ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมว่า รัฐบาลเห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันและภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ซึ่งเป็นการขยายเพดานการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติม         

 

          นพ.พฤติชัยกล่าวว่า ส่วนภาษีสรรพสามิตบุหรี่จะขยายเพดานจัดเก็บตามมูลค่าที่ 90% จากปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่ 80% คาดว่าอัตราภาษีใหม่จะอยู่ที่ 85% โดยจะมีผลให้ราคาบุหรี่เพิ่มประมาณ 11 -16 บาทต่อซอง ซึ่งบุหรี่ไทย เช่น สายฝน กรองทิพย์ กรุงทอง ปรับเพิ่มซองละ 11 บาท โดยราคาปัจจุบันอยู่ที่ซองละ 45 บาท เสียภาษีอยู่ที่ 23.92 บาทต่อซอง โดยอัตราใหม่จะทำให้ราคาขึ้นไปที่ซองละ 56 บาท และเสียภาษีซองละ 34.92 บาท ส่วนบุหรี่นอก เช่น แอลเอ็มจะปรับเพิ่มซองละ 12 บาท และมาร์ลโบโรจะปรับเพิ่มซองละ 16 บาท จากราคาปัจจุบันอยู่ที่ซองละ 63 บาท เสียภาษีที่ซองละ 32.68 บาท อัตราใหม่จะทำให้ราคาปรับเพิ่มเป็นซองละ 79 บาท และเสียภาษีซองละ 48.60 บาท คาดจะสร้างรายได้เพิ่มเติมแก่รัฐปีละ 2 หมื่นล้านบาท

 

          “กฎหมายที่เสนอให้ปรับเพิ่มภาษีน้ำมันและบุหรี่จะต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนมีผลบังคับใช้จริง ระหว่างนี้สั่งการให้กรมสรรพสามิตเข้มงวดตรวจสอบเพื่อป้องกันการกักตุนสินค้า ซึ่งกรมมีข้อมูลการซื้อแสตมป์บุหรี่จากโรงงานผลิตอยู่แล้ว คาดว่าไม่น่าจะกักตุนได้มาก” นพ.พฤฒิชัยกล่าว และว่า การออกกฎหมายครั้งนี้เข้มงวดเฉพาะสินค้าบาปแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ส่งเสริมให้ประชาชนลุ่มหลงมัวเมากับเหล้ายา และเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการให้บริการสาธารณสุขที่ต้องใช้เพื่อดูแลผู้ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ถึงปีละ 1.5 แสนล้านบาท

 

          สสส.ชี้ขึ้นภาษีสุรา – เบียร์น้อยไป

 

          นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึง กรณีรัฐบาลขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตสุราและเบียร์ว่า เป็นการขึ้นภาษีเพียงเล็กน้อย ซึ่งจะไม่ได้ผลในการลดปัญหาการบริโภคเท่าที่ควร อีกทั้งยังได้เงินเข้ารัฐน้อยด้วย การขึ้นภาษีสุราและเบียร์จาก 55% เป็น 58%, เหล้าขาวจาก 110 เป็น 120 บาทต่อลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ส่งผลให้ราคาเบียร์ขึ้น 4 – 5 บาทต่อขวด หรือเพิ่มขึ้น 10% และเหล้าขาวขึ้น 2.5 บาทต่อขวด หรือเพิ่ม 3% ถือว่าขึ้นน้อยไป ทั้งที่มีโอกาสทำได้มากกว่านี้ โดยเบียร์สามารถขึ้นภาษีได้เต็มเพดานที่ 60% จะทำให้ได้ภาษีเพิ่มขึ้น 7 – 9 บาทต่อขวด ราคาขายจะเพิ่มขึ้น 20% ส่วนสุราขาวสามารถขึ้นที่ 200 บาทต่อลิตร จะได้ภาษีเพิ่ม 22.50 บาทต่อขวด โดยราคาขายเพิ่มขึ้น 28% จะมีผลต่อการลด การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีนัยสำคัญ และจะได้ภาษีกว่า 23,000 ล้านบาท แทนที่จะได้เพียง 6,300 ล้านบาท

 

          อนึ่ง โครงสร้างรายรับภาษีสรรพสามิตสุราของประเทศไทย ปี 2551 รัฐได้ภาษีสรรพสามิตสุรารวม 90,186 ล้านบาท ประกอบด้วย อันดับ 1 เบียร์ 53,369 บาท คิดเป็น 59% อันดับ 2 สุราขาว 11,605 ล้านบาท คิดเป็น 13% อันดับ 3 สุราผสม 9,020 ล้านบาท คิดเป็น 10% อันดับ 4 สุรานำเข้า 7,589 ล้านบาท คิดเป็น 8.4% อันดับ 5 สุราพิเศษ (ครอบคลุมบรั่นดี) 6,151 ล้านบาท คิดเป็น 6.8% อันดับ 6 สุราปรุงพิเศษ 198 ล้านบาท คิดเป็น 0.2%

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

update 12-05-52

Shares:
QR Code :
QR Code