‘คลองพนพัฒนา’ ขับเคลื่อนสังคมสูงวัยเชิงพื้นที่
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เมื่อปัญหาต่างๆ ของท้องถิ่น ได้กลายเป็นโจทย์สำคัญของงานวิจัย จึงตั้งอยู่บนความต้องการแท้จริงของพื้นที่ และนำมาสู่การออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาทีถูกจุดและยั่งยืนต่อไป
เช่นเดียวกับผลงานวิจัยเรื่อง "การพัฒนาการจัดการสวัสดิการและคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในเขตเทศบาลตำบลคลองพนพัฒนา อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่" โดย ผศ.สิทธิกร ศักดิ์แสง และ คณะ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีคือ หนึ่งตัวอย่างของงานวิจัยเกิดจากปัญหาแท้จริงในพื้นที่ ภายใต้การขับเคลื่อนงานเชิงพื้นที่ (Area Based) เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นภายใต้แนวคิด "มหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือของชุมชนท้องถิ่น" อีกหนึ่งโครงการนำร่องที่จัดขึ้นโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน ในช่วงระหว่างปี 2558-2561
"โครงการนี้เกิดจากการคิดจากท้องถิ่นเองและเป็นสิ่งที่เขาอยากทำ นำมาสู่ประเด็นการวิจัย ร่วมกันและหลังจากเราลงไปดูสภาพท้องถิ่นว่ามีการดำเนินการอะไรไว้อยู่แล้วบ้าง เราก็พยายามดูต่อว่ามีเรื่องใดบ้างที่สามารถดำเนินการได้ยั่งยืน หรือเขาสามารถทำได้เอง" ผศ.สิทธิกร ศักดิ์แสง ผู้เป็นหัวหน้าทีมวิจัยโครงการนี้เอ่ยเล่า
"เราพบว่าท้องถิ่นมีความต้องการในประเด็นเรื่องการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนด้วยตัวเอง เพราะมองว่าเป็นหน่วยงานบริการสาธารณะที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน ซึ่งการทำงานวิจัยครั้งนี้ท้องถิ่นยังมีความต้องการให้ทางด้านวิชาการช่วยวิเคราะห์ว่าท้องถิ่นสามารถดูแลผู้สูงอายุได้เองหรือไม่ และยังมีอุปสรรคอะไร"
การลงวิจัยในพื้นที่จริง ทำให้ทางคณะทำงานพบว่า ปัญหาสำคัญที่สุดคือการทำงานที่ไม่บูรณาการการทำงานระหว่างแต่ละหน่วย ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคทำให้การดำเนินโครงการไม่ราบรื่นและไม่เดินหน้า
ขณะเดียวกัน แม้ความต้องการของท้องถิ่นคือการมีบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่เอง แต่ก็ต้องสะดุดกับปัญหาสำคัญนั่นคือเมื่อ ภาครัฐบอกว่าภารกิจดังกล่าวไม่ใช่บทบาทของท้องถิ่น
"เมื่อฝ่ายท้องถิ่นมีการดำเนินการ ก็ได้รับการชี้แจงจากทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่าไม่ใช่เรื่องของท้องถิ่นที่จะทำ แต่ชาวบ้านมองว่าเขาเองเป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดผู้สูงอายุมากที่สุด และ มีฐานข้อมูลจึงอยากสื่อผ่านไปยังส่วนกลาง ว่าปล่อยให้ท้องถิ่นทำงานเองบ้าง โดยสิ่งที่ยั่งยืนที่สุดคือ แก้ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ"
เทศบาลตำบลคลองพนพัฒนา ประกอบด้วย 4 หมู่บ้าน โดยร้อยละ 8.25 หรือมี 1,411 คน ของประชากรประมาณ 17,000 กว่าคน เป็นผู้สูงอายุ ในฐานะนักวิจัยเล่าถึงสถานการณ์ของผู้สูงอายุในพื้นที่ ว่ายังคงมีปัญหาผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลเช่นเดียวกับพื้นที่อื่น ทั้งผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ญาติไม่มีเวลาดูแล ทางเทศบาลพยายามดำเนินการจัดการ แต่ก็ทำได้แค่ระดับหนึ่ง
"เรื่องจริงในพื้นที่คือทุกปัญหาเข้ามาที่เทศบาลทั้งหมด แต่ข้อจำกัดด้านกฏหมายทำให้เทศบาล ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ดังนั้น แนวทางที่เรานำเสนอให้เทศบาล คือสิ่งที่เขาสามารถทำได้เอง ไม่ต้องรอส่วนกลาง ให้นโยบายหรืองบประมาณ คือ การจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ ซึ่งแม้วันนี้จะเกิดขึ้นแล้วในคลองพนพัฒนา แต่ก็ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่
อีกสิ่งที่เราพบว่าน่าจะเป็นปัญหาระยะยาวคือ คนหนุ่มสาวในพื้นที่ไม่เคยมองตัวเองว่า ในอนาคตเราจะเป็นผู้สูงอายุหรือไม่ และไม่เห็นความสำคัญเรื่องการเตรียมความพร้อม"
ทีมงานวิจัยยังให้ข้อมูลเสริมว่า ที่จริงแล้ว ในส่วนโรงเรียนผู้สูงอายุ ทุก อปท. ต่างมีแนวทางจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ หรือชมรมผู้สูงอายุกันเอง แต่สิ่งที่ระดับพื้นที่อย่างคลองพนพัฒนามีความต้องการ คืออยากให้มีหน่วยงานทางวิชาการอย่างมหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดหลักสูตรหลักเพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกันและยังง่ายต่อการสร้างบรรทัดฐานในการตรวจสอบการทำงาน
อีกหนึ่งเสียงที่ร่วมแสดงความคิดเห็นในเวที วรรณา กุมารจันทร์ ผู้ช่วยคณบดีศูนย์สร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุจากคณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี ที่เอ่ยชื่นชมว่า คลองพนพัฒนามีต้นทุนสูง เพราะมีแนวปฏิบัติในการดูแลเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ตนเองมีความเห็นว่า โรงเรียนผู้สูงอายุไม่ควรจัดการในรูปแบบการตัดเสื้อโหลที่มีหลักสูตรเดียวกันทุกแห่ง แต่ควรต้องออกแบบให้เหมาะสมกับท้องถิ่นนั้นๆ พร้อมกล่าวว่า ราชภัฏสุราษฏร์ธานีเองมีการจัดตั้งหลักสูตรผู้สูงอายุอยู่แล้ว แต่เนื้อหลักสูตรจะเน้นขึ้นอยู่กับบริบทแต่ละพื้นที่ชุมชนนั้นๆ
"ที่สำคัญภาคท้องถิ่นต้องแยกให้ออกระหว่างสวัสดิการชุมชนและสวัสดิการสังคม ซึ่งต้องทำให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงกัน และต้องมีภาคี ทั้งภาคีที่เป็นหน่วยงานรัฐอื่น หรือภาคีในพื้นที่ อาทิ ชมรมผู้สูงอายุ กศน. อย่าทำคนเดียว"
ด้าน รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เอ่ยว่า วันนี้ประเทศไทยกำลังเริ่มมีมรสุมปัญหาผู้สูงอายุเข้ามากระแทกอย่างแรงและส่งผลกระทบมาก เนื่องจากประเทศเกิดสังคมผู้สูงอายุเร็วและยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดเยอะนั่นคือมีปัญหาความยากจนและไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งในระดับชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทการทำงานเรื่องผู้สูงอายุไม่เหมือนกัน แต่หากกล่าวในด้านสวัสดิการแล้ว ภาครัฐเองก็มีสวัสดิการให้ความช่วยเหลือผ่านกองทุนต่างๆ ที่ชุมชนสามารถนำไปจัดสรรและใช้เป็นแนวทางการจัดทำแผนสวัสดิการคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้สอดคล้องและเหมาะสมได้
"ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีกองทุนลงไประดับพื้นที่สองกองทุน คือกองทุนสุขภาพตำบล และสวัสดิการชุมชนในระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ซึ่งไม่ได้เน้นเฉพาะผู้สูงอายุ แต่เน้นประชาชนที่ต้องการได้รับการดูแลในพื้นที่แต่ที่น่าสนใจคือมีกองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง เพราะในกลุ่มผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง ส่วนระดับจังหวัดยังมีกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ซึ่งต้องวางกิจกรรมไม่ทับซ้อนระดับท้องถิ่น
ส่วนทางกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เน้นในเรื่องผู้สูงอายุและผู้พิการ มีกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ ซึ่งในชุมชนร้อยละ 80-90 ของพิการนั้นเป็นผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีกองทุนระบบแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งร้อยละ 90 ของการเจ็บป่วยฉุกเฉินคือ ผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่
"ถ้าเราดูแบบนี้จะพบว่ามีสวัสดิการส่วนหนึ่งของรัฐที่จัดให้ ซึ่งบางเรื่องชุมชนอาจทำเองไม่ได้ เช่น ในด้านการดูแลระยะยาว และกรณีฉุกเฉิน ดังนั้นท้องถิ่นควรมีการวางแผนและต้องนำเรื่องเหล่านี้มาเทียบเคียงกับแผนการทำงานตัวเอง"
ส่วนที่ว่าทำอย่างไรจะสร้างการเรียนรู้บทบาทของท้องถิ่นให้เต็มประเทศได้ ทั้งในระดับพื้นที่และการเรียนรู้ต่างพื้นที่ รศ.ดร.ขนิษฐา เอ่ยว่า
"ต้องเข้าใจว่าท้องถิ่นเกิดมาแค่ 20 ปี บทบาทและภารกิจจึงเพิ่งได้รับการเรียนรู้และเพิ่มเติมต่อเนื่อง"
แต่อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน สสส.มีเครือข่ายชุมชนร่วมสร้างท้องถิ่นน่าอยู่ที่จะทำให้แต่ละชุมชน มีโอกาสเรียนรู้จากที่อื่น
"สิ่งนี้จะทำให้องค์กรที่ตั้งมายี่สิบปี สามารถเรียนรู้ได้ถึงแนวทางเพื่อหลุดจากข้อจำกัด และทำอย่างไรให้ข้อจำกัดเป็นบทเรียนพัฒนาการงานอื่น" รศ.ดร.ขนิษฐาเสริมทิ้งท้าย