ครูสอนดีไม่ต้องเก่งวาจาดี-อย่าดุขี้โมโหไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

ดร.นพดล กรรณิกา ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการวิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นในหัวข้อ”ครูสอนดีอย่างไรได้ใจเด็ก” โดยความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) พบว่าเด็กที่รู้สึกว่าตนเองมีฐานะปานกลางจนถึงยากจน เป็นกลุ่มที่รู้สึกว่าได้พบคุณลักษณะของคุณครูที่พึงประสงค์ ด้อยกว่าในทุกตัวชี้วัด เมื่อเทียบกับกลุ่มเด็กนักเรียนที่รู้สึกว่าตนเองเป็นคนร่ำรวย

โดยเฉพาะคุณลักษณะของครูในเรื่องการพูดจาดี ไม่โมโหง่ายกลุ่มเด็กที่คิดว่าตนเองร่ำรวย ได้พบครูที่พูดจาดี ไม่โมโหง่าย มีค่าเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 7.98 ขณะที่กลุ่มเด็กฐานะปานกลางและยากจน พบค่าเฉลี่ยที่ต่ำกว่าคือร้อยละ 7.37

ครูสอนดี

ทั้งนี้ จากการสอบถามนักเรียนพบว่า ร้อยละ 91.00 อยากให้มีครูสอนดี ร้อยละ 6.1 อยากให้มีบ้าง ร้อยละ 1.8 อยากให้มีก็ได้ไม่มีก็ได้ ขณะเดียวกันเมื่อให้ตัวอย่างจัดอันดับผลที่เกิดมากที่สุดจากการที่มีครูสอนดี พบว่าอันดับแรก ช่วยให้เด็กมีวิชาความรู้ ร้อยละ 32.1 รองลงมา ช่วยให้เด็กมีความสุขในการเรียนร้อยละ 13.0 และช่วยให้เด็กได้คะแนนสอบสูงๆ เกรดดีๆ ร้อยละ 11.8 ตามลำดับ

“สิ่งที่น่าพิจารณาคือ เด็กบางส่วนก็มีประสบการณ์พบครูที่สอนไม่ดี โดยเฉพาะครูที่มีลักษณะดุ อารมณ์ฉุนเฉียวโมโหง่าย และไม่เป็นตัวอย่างที่ดี เช่นดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เล่นการพนันโดยเด็กให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็นนี้มากกว่าการที่ครูสอนไม่เก่ง อธิบายไม่รู้เรื่อง หรือเป็นคนไม่เก่ง ไม่มีความรู้เสียอีก”

ครูสอนดี

ดร.นพดล กล่าวและว่า นอกจากนี้อุปสรรคสำคัญของการเรียนรู้และความสามารถทางสติปัญญาของเด็กนักเรียนคือความกลัว ถ้าเด็กรู้สึกว่าครูดุ และชอบข่มขู่ทำให้หวาดกลัว จะยิ่งทำให้ไม่อยากเข้าเรียน รู้สึกเบื่อ และส่งผลกระทบต่อการเรียนของเด็ก ทางออก คือการปฏิรูปความสัมพันธ์กับเด็ก เปลี่ยนการสอนมาเป็นการแบ่งปันเรียนรู้ร่วมกัน ลดความเหลื่อมล้ำในชั้นเรียน เคารพอัตลักษณ์ของเด็ก และทำให้เด็กรู้สึกอยากเป็นเจ้าของสิ่งประดิษฐ์ทางปัญญาที่คิดขึ้นเองได้         

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

Shares:
QR Code :
QR Code