ครูยุคใหม่ พัฒนาก้าวทันโลกดิจิทัล
ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึก
แฟ้มภาพ
16 มกราคมของทุกปี กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีการจัดงานวันครู โดยปีนี้กำหนดขึ้นในหัวข้อ “โลกก้าวไกล ครูไทยก้าวทัน สร้างสรรค์คุณภาพเด็กไทย” ซึ่งมีการเสวนาทางวิชาการ ปาฐกถา เรื่อง “ความฉลาดรู้ และจิตวิญญาณความเป็นครู” เพื่อปฏิรูปครูให้ทันโลกยุคดิจิทัล
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการศึกษาในทุกด้านเพื่อพัฒนาประเทศให้มีศักยภาพและให้ความสำคัญกับครู เป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่าของชาติและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชน เป็นคนเก่ง คนดีและมีคุณภาพ เติบโตเป็นพลเมืองที่ดีมีคุณภาพ และมีศักยภาพเหมาะสมกับการดำเนินชีวิตในโลก ศตวรรษที่ 21
การจัดการศึกษาเป็นของทุกคน ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต้องร่วมมือกันให้เกิดโรงเรียนคุณภาพ เกิดนักเรียนแห่งอนาคต ให้การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติที่จะสร้างคนคุณภาพให้ประเทศ และครูคือกลไกลำคัญที่จะช่วยกันยกระดับการศึกษาไทย ศธ.ได้ดำเนินโครงการที่สำคัญในการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะการปฏิรูปครูให้ทันโลกยุคดิจิทัล
“อลงกรณ์ นิลดำ” ครูโรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ครูยุคปัจจุบันจะแตกต่างจากครูอดีต เพราะครูอดีตสอนจากตำราเรียนโดยใช้เทคนิคการสอนแบบเรียบง่าย สอนบนกระดานดำเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอ แต่ตอนนี้ครูจะสอนแบบเดิมไม่ได้ เนื่องจากเด็กสมัยใหม่พวกเขาสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้มากมายและเทคโนโลยีทำให้เรียนรู้อะไรก็ได้ อีกทั้งชอบการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ชอบสื่อแบบภาพเคลื่อนไหวมากกว่าให้อ่านแล้วเห็นภาพประกอบเพียงอย่างเดียว ดังนั้นการเรียนการสอนในตอนนี้เนื้อหาไม่ได้แตกต่างจากอดีตแต่สิ่งที่ต้องแตกต่างคือหน้าที่ของครู และรูปแบบการเรียนการสอนของครู
“ครูสอนวิชาดนตรีมา 12 ปี เมื่อก่อนจะสอนโดยการบอกปากและให้ปฏิบัติตาม แต่ตอนนี้สอนแบบนั้นไม่ได้แล้ว ไม่ดึงดูดเด็ก เด็กไม่อยากเรียน ครูได้ปรับการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยี สื่อโซเซียลมีเดีย ยูทูบ เฟซบุ๊กมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสอน ทำให้เด็กเห็นภาพเคลื่อนไหว แสง สี เสียง ก่อนจะได้เห็นและลงมือปฏิบัติจริง และนำมาใช้ในการเรียนทฤษฎีช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจ อยากเรียนรู้มากขึ้น เพราะถ้าบอกให้เขาอ่านและมาแลกเปลี่ยนกันเด็กรุ่นใหม่เขาไม่สนใจ ต้องทำให้เขาเกิดความสนใจ กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ และหน้าที่ของครูไม่ใช่เพียงสอนตามหนังสือเรียนเท่านั้น แต่ต้องสอนวิชาชีวิต ครูต้องทำให้เด็กเชื่อใจ ไว้ใจ เป็นเสมือนคนในครอบครัวของเขา” อลงกรณ์ กล่าว
เด็กยุคใหม่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง พวกเขาพร้อมรับฟัง เรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ ใช้เทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่พวกเขาขาดคือการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง ดังนั้นบทบาทของครูรุ่นใหม่ต้องสร้างเด็กที่เข้าใจและเท่าทันเทคโนโลยี รู้จักหน้าที่ของตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ครูต้องช่วยเด็กผ่านการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูกับเด็ก
มีคนเคยเปรียบโรงเรียนเหมือนทุ่งนาแปลงหนึ่งที่ทุกคนอยากจะมาปลูกต้นกล้า มาเติมปุ๋ย ทำให้ตอนนี้หลายๆ โรงเรียนกลายเป็นแหล่งรวมโครงการต่างๆ นายอลงกรณ์ กล่าวต่อว่า วันครูปีนี้สิ่งที่ครูต้องการมากที่สุดคือการได้อยู่กับเด็ก เพราะด้วยภาระหน้าที่ของครูต้องยอมรับว่ามีโครงการตัวชี้วัดครูเต็มไปหมดจนทำให้บางครั้งครูไม่ได้อยู่กับเด็ก ดังนั้นหากของขวัญวันครูที่อยากได้จากกระทรวงศึกษาธิการ คงเป็นเวลาที่จะได้สอนเด็ก ได้อยู่ในห้องเรียน ส่วนเรื่องความเป็นอยู่ของครู ทุกคนอยากสบาย ทั้งนี้ต้องขึ้นกับครูแต่ละคนที่ต้องรู้จักความพอเพียง ใช้ชีวิตอย่างพอดี อย่าอยากได้อยากมีจนทำให้ตัวเองเป็นหนี้สิน ต่อให้ ศธ.ช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้แต่เป็นการแก้ที่ปลายเหตุเท่านั้น
วันครูปีนี้ ศธ.ได้จัดงานโดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานงานวันครู และคารวะครูสมัยเรียนโรงเรียนวัดนวลนรดิศ ได้แก่ ครูวีระ เดชพันธ์ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบคำขวัญวันครูครั้งที่ 64 พ.ศ.2563 ว่า ครูไทย รักศิษย์ คิดพัฒนา และมอบสารวันครู เพื่อส่งความระลึกถึงและความปรารถนาดีไปยังครูและผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาทั่วประเทศที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของชาติ
พิธีบูชาพระคุณบูรพาจารย์มีการอ่านโองการอัญเชิญบูรพาจารย์ ครูอาวุโส นอกประจำการ กล่าวนำสวดฉันท์ระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์และครูอาวุโสในประจำการ ผู้ร่วมชุมนุมกล่าวคำปฏิญาณตนของครูและบุคลากรทางการศึกษา นอกจากนี้มีการปาฐกถาและการเสวนาทางวิชาการที่น่าสนใจ โดยมีการปาฐกถาเรื่อง “ความฉลาดรู้ และจิตวิญญาณความเป็นครู” โดยศาสตราจารย์กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ และการเสวนาเรื่อง “โลกก้าวไกล ครูไทยก้าวทัน สร้างสรรค์คุณภาพเด็กไทย” พร้อมพิธีคารวะครูอาวุโสของรมว.ศึกษาธิการ สมัยเรียนโรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน ได้แก่ น.ส.ชมภร กมลสุทธิ นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการงานวันครู ครั้งที่ 64 พ.ศ. 2563 ณ บริเวณโดยรอบหอประชุมคุรุสภา
กิจกรรมงานวันครูจัดขึ้นทั้งส่วนกลาง ณ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และส่วนภูมิภาค ณ สถานที่ที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดกำหนด โดยส่วนกลางจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 มกราคม โดยสามารถรับชมการถ่ายทอดสดพิธีการงานวันครูผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ผ่านทาง http://sdib.dusit.ac.th ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และเฟซบุ๊ก แฟนเพจ “คุรุสภา” ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตามในโอกาสวันครูครั้งที่ 64 พ.ศ.2563 คุรุสภาขอเชิญชวนครูทุกคนร่วมระลึกถึงพระคุณครูเข้าร่วมกิจกรรมงานวันครู ร่วมชมนิทรรศการการแสดงผลงานทางวิชาการและวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา รวมถึงร่วมทำ ความดีเป็นจิตอาสาและร่วมแชร์ความรู้สึกดีๆ ต่อครูในเฟซบุ๊ก แฟนเพจ “คุรุสภา” (@Khurusaphaofficial) และติดแฮชแท็ก#คารวะครูผู้สร้างผู้นำทางชีวิต #วันครู 2563
นอกจากนั้นร่วมดาวน์โหลดสติกเกอร์ไลน์ “Thai Teacher 63” ซึ่งจัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสวันครูเพื่อนำรายได้สมทบทุนมูลนิธิช่วยครูอาวุโส ในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมถึงร่วมส่งบัตรอวยพรออนไลน์ โดยสามารถดูรายละเอียดการจัดงานวันครูผ่านทางเว็บไซต์ของคุรุสภา www.ksp.or.th
ผลสำรวจของศูนย์วิจัยปัญหาสุราปี 2560 พบว่าเด็กและเยาวชนอายุ 15-24 ปีที่เป็นกลุ่ม “นักดื่มหน้าใหม่” มีจำนวนกว่า 2.28 ล้านคน หรือ 1 ใน 4 ของเยาวชนทั้งหมด ซึ่งอนาคตอาจกลายเป็นนักดื่มประจำและนักดื่มหนักเพิ่มมากขึ้นได้ สคล. และภาคีเครือข่าย สสส. ร่วมกับ สพฐ. มอบรางวัลรางวัลครูดีไม่มีอบายมุข และโรงเรียนดีไม่มีอบายมุขอย่างต่อเนื่อง ผู้รับรางวัลร่วม ประกาศเจตนารมณ์และยื่นข้อเสนอให้ ศธ. จัดการศึกษาเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาเหล้า บุหรี่ การพนัน และอบายมุข ในทุกระดับชั้นของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ
สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เครือข่ายโรงเรียนคำพ่อสอน เครือข่ายครูดีไม่มีอบายมุข ได้คัดเลือกครูและบุคลากรด้านการศึกษาที่ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ชีวิตห่างไกลอบายมุข เช่น ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด บุหรี่ การพนัน ฯลฯ พร้อมทั้งทำหน้าที่สอนและช่วยเหลือนักเรียน รวมถึงครอบครัวและชุมชนให้มีสุขภาวะที่ดีในสภาพแวดล้อมที่ปลอดอบายมุข เข้ารับโล่รางวัล “ครูดีไม่มีอบายมุข (รุ่นที่ 9)” และ “โรงเรียนดีไม่มีอบายมุข (รุ่นที่ 4)” ประจำปี 2562
โดยภายในงานมีประธานเครือข่ายครูดีไม่มีอบายมุขทั้ง 4 ภาค ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์และยื่นข้อเสนอต่อผู้บริหารระดับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขับเคลื่อนให้มีโรงเรียนดีไม่มีอบายมุขเพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการจัดการศึกษาเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาเหล้า บุหรี่ การพนัน และอบายมุขต่างๆ ในทุกระดับชั้น มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อการลด ละ เลิก อบายมุขทุกรูปแบบ พร้อมสร้างขวัญและกำลังใจให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจเป็นต้นแบบการดำเนินชีวิตปลอดอบายมุขให้ได้รับการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการเลื่อนวิทยฐานะที่เหมาะสม
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่า “ผลสำรวจของศูนย์วิจัยปัญหาสุราในปี 2560 พบว่าเด็กและเยาวชนอายุ 15-24 ปี เป็นกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่ จำนวน 2,282,523 คน หรือร้อยละ 23.91 หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของเยาวชนทั้งหมด ที่ระบุว่าดื่มสุราในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา แม้สถิตินักดื่มประจำและนักดื่มหนักมีสัดส่วนลดลง แต่ยังนิ่งนอนใจไม่ได้เพราะมีความเสี่ยงของนักดื่มหน้าใหม่ที่จะผันตัวมาเป็นผู้ดื่มประจำได้ ดังนั้นครูผู้เปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สอง ของนักเรียน ล้วนมีบทบาทสำคัญในการดูแล ป้องกัน และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่นักเรียน
เพื่อป้องกันไม่ให้มีเยาวชนเป็นนักดื่มประจำและนักดื่มหนักเพิ่มขึ้นอีกในวันข้างหน้า สสส.เชื่อมันว่าการพัฒนาและส่งเสริม ‘ครูดีไม่มีอบายมุข’ และ ‘โรงเรียนดีไม่มีอบายมุข’ จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างเสริมพฤติกรรมนักเรียนที่มีคุณภาพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาของประเทศที่ดีขึ้นตามไปด้วย” ทั้งนี้ผลสำรวจจำนวนมากระบุว่าการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักนำไปสู่การสูบุหรี่หรือบริโภคยาสูบ รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ เช่นการพนันร่วมด้วย
อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า การค้นหาครูดีและโรงเรียนดีที่ไม่มีอบายมุขเพื่อมาเป็นผู้นำพาคนอื่นๆ ให้ร่วมกันพัฒนาสู่การเป็นต้นแบบในการปลอดอบายมุขด้วยเช่นกัน โดย สพฐ. หวังให้เครือข่ายครูดีไม่มีอบายมุขทั้ง 4 ภาคในปี 2562 นี้ ไปขยายเครือข่ายครูดีไม่มีอบายมุขเพิ่มมากขึ้น อยากเห็นโรงเรียนกว่า 30,000 แห่งในสังกัด สพฐ. เป็นโรงเรียนดีไม่มีอบายมุขในทุกโรงเรียน ผมในฐานะผู้บริหาร สพฐ. พร้อมนำนโยบายและข้อเสนอของเครือข่ายครูเพื่อขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมต่อไป”
สำหรับผู้เข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณครั้งนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 453 คน เป็นโล่ประกาศเกียรติคุณประเภท “ครูดีไม่มีอบายมุข (รุ่นที่ 9)” จำนวน 426 คน ได้แก่ 1.ระดับบุคลากรเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 18 คน 2.ระดับผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 83 คน 3.ระดับครูผู้สอน จำนวน 325 คน และโล่ประกาศเกียรติคุณ “โรงเรียนดีไม่มีอบายมุข (รุ่นที่ 4)” จำนวน 27 โรงเรียน