ครูผู้อุทิศตนเพื่อการศึกษาในผืนป่ามรดกโลก

ที่มา : แนวหน้า


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ครูผู้อุทิศตนเพื่อการศึกษาในผืนป่ามรดกโลก thaihealth


ครูผู้อุทิศตนเพื่อการศึกษาในผืนป่ามรดกโลก ‘นฤมล แก้วสัมฤทธิ์’ มุ่งวิชา ‘ชีวิต’ สร้าง ‘คนดี’ นำความรู้กลับมาพัฒนาชุมชน


ทุกๆ 2 ปี ในวันที่ 11 ตุลาคม จะมีการประกาศ “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” ให้กับครูผู้สร้างการศึกษาแก่เด็กๆ อันเป็นอนาคตของชาติ โดยมีเป้าหมาย เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และติมอร์เลสเต รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยการขับเคลื่อนและดำเนินงานของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี, สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ซึ่งในปีนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ที่จะพระราชทานรางวัลในวันที่ 11 ตุลาคม 2560


รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นับเป็นรางวัลระดับนานาชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาด้านการศึกษา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตตั้งนาม “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี”


ครูผู้อุทิศตนเพื่อการศึกษาในผืนป่ามรดกโลก thaihealth


สำหรับครูไทย ผู้ได้รับรางวัลนี้ ในปีนี้ ได้แก่ นางนฤมล แก้วสัมฤทธิ์ ผู้ที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้ได้รับรางวัล “คุณากร” ประจำปี 2560 จาก มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี โดยเป็นครูเพียงคนเดียวของ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านกรูโบ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ที่ยืนหยัดและมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือพัฒนาชุมชน ควบคู่ไปกับสอนหนังสือให้กับเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 เพียงลำพังมาตลอดระยะเวลา 19 ปี ในชุมชนกระเหรี่ยงหมู่บ้านสุดท้ายที่อยู่ลึกสุดในเขตผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร


มองถึงคำว่า “ครู” เป็นอย่างไร?


ครูเป็นอาชีพที่ต้องฝึกคน ไม่ใช่แค่สอนความรู้ ครูจึงต้องฝึกทั้งนิสัยใจคอให้เด็กๆ เป็นคนดี ไม่ใช่แค่สอนให้รู้แล้วก็จบ ถ้ารู้แล้วไปโกงเขา รู้แล้วเห็นแก่ตัว มันไม่มีประโยชน์ อย่างนั้นไม่ต้องรู้เลยดีกว่า


ทำหน้าที่อะไรบ้างในโรงเรียน? (ที่มีครูเพียงคนเดียว?)


“การจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็ก 60 คน ซึ่งมีตั้งชั้นอนุบาลไปจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ต้องใช้วิธีพี่ดูแลน้อง แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ ที่ชั้น ป.6 ช่วยดูแลน้องอนุบาลในเรื่องต่างๆ อย่างการจับมือหัดเขียนหัดอ่าน ในบางวิชาจะใช้วิธีเรียนรวม เช่น วิทยาศาสตร์ โดยให้พี่พาน้องออกไปค้นหาคำตอบนอกห้องเรียน นอกจากจะได้ความสนุกแล้วยังช่วยสร้างความรักสามัคคีด้วย”


ครูผู้อุทิศตนเพื่อการศึกษาในผืนป่ามรดกโลก thaihealth


เด็กๆ ที่เรียนจบไปแล้วจะเก่งสู้โรงเรียนในพื้นราบได้หรือ?


“เด็กๆ ที่นี่เราไม่เน้นเรื่องความเก่ง แต่เราเน้นเรื่องของการเป็นคนดี เพราะวันนี้ในการจัดการเรียนการสอนหรือหลักสูตร เรามักจะไม่เน้นคนดี ทุกคนมุ่งที่จะเน้นแต่คนเก่ง แม้ว่าความเก่งจะใช้ประโยชน์ได้จริง แต่ถ้าเก่งแล้วไม่ดีหรือเก่งแล้วโกงจะมีประโยชน์อะไร แต่สิ่งที่สำคัญคือเขาต้องรู้ตัวเองว่าเขาเป็นคนไทยไม่ใช่กะเหรี่ยง กะเหรี่ยงมันเป็นแค่เชื้อชาติเฉยๆ แต่ทุกคนเป็นคนไทย และความรู้ที่เขาได้รับถ้าเกิดเขาไม่เรียนต่อเขาก็จะอยู่ในสังคมได้ โดยไม่ถูกใครมาหลอกลวง เพราะคนที่มีความรู้เขาจะไม่ถูกหลอก”


นอกจากครูจะมองถึงตัวเด็กๆ แล้ว ยังมองถึงด้านอื่นๆ อีกไหม?


“การทำหน้าที่ของครูไม่ได้หยุดอยู่แค่การสอนหนังสือและการสร้างงานอาชีพให้กับชุมชนเพียงเท่านั้น แต่มองไกลถึงการทำอย่างไรให้ชุมชนกลางป่าลึกแห่งนี้สามารถพึ่งพาและยืดหยัดอยู่บนลำแข้งของตนเองได้อย่างมั่นคง เราจึงให้ความสำคัญกับการผลักดันและส่งเสริมเด็กที่มีศักยภาพให้ออกไปเรียนต่อในสาขาต่างๆ ในระดับที่สูงที่สุดที่จะทำได้ เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นได้กลับมาร่วมกันพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง”


19 ปี กับการปลูกฝังเด็กๆ ที่นี่ มีผลเป็นอย่างไร?


“ทุกวันนี้จะปลูกฝังให้เด็กรักครอบครัว รักชุมชน รู้จักความรับผิดชอบ เมื่อเขาเรียนจบ เขาจะรักบ้านเกิดไม่ทิ้งถิ่นของตนเอง ซึ่งตอนนี้ก็มีลูกศิษย์ที่เรียนจบแล้วกลับมาทำงานในพื้นที่หลายคนเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เป็นครูตชด. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบางคนที่ออกไปเรียนข้างนอกในระดับมัธยมศึกษา แต่เมื่อถึงวันหยุดหรือช่วงปิดเทอมก็จะกลับบ้านมาช่วยครูสอนหนังสือ ช่วยดูแลน้องๆ สมดังที่ตั้งใจไว้”


ทั้งหมดนี้คือ การเปิดใจของ ครูนฤมล แก้วสัมฤทธิ์ ครูที่เป็นครู ทั้งกาย ใจ และวิญญาณ “แนวหน้าการศึกษา” ขอปรบมือให้

Shares:
QR Code :
QR Code