‘ครูต้นแบบ’ ปลูกฝังจิตอาสา สร้างเด็กไทย ‘ศรัทธาในความดี’

ดูเหมือนสังคมไทยและการศึกษาไทยในยุคนี้ กำลังโหยหา “ครู” ที่ดีและเก่ง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมการศึกษา และเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

วันครูปีนี้ จึงมีตัวอย่างครูผู้อุทิศตนเองในการปลูกฝังเด็กนักเรียนในโรงเรียนให้เรียน รู้คำว่า ‘จิตอาสา’  คุณครูสถาพร มุ่งเพียรมั่น ครูที่ปรึกษาชมรมอาสายุวกาชาดโรงเรียนวิเชียรมาตุ เจ้าของรางวัล”ยอดคนดีศรีตรัง เมืองแห่งความสุข” ปี ๒๕๕๖

คุณครูสถาพร กล่าวว่า การศึกษาอย่างแท้จริงจะไม่มุ่งเน้นเฉพาะการแข่งขันด้านวิชาการ แต่ต้องปลูกฝังค่านิยมให้นักเรียนได้มีภูมิคุ้มกันในการอยู่ในสังคมแห่งการ แข่งขันอย่างเป็นพันธมิตรและมีจิตรับผิดชอบต่อส่วนรวม โรงเรียนจึงควรจัดกิจกรรมส่งเสริม“จิตอาสา” ที่นอกจากจะเป็นการพัฒนา คุณลักษณะอันพึงประสงค์แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการประยุกต์ใช้ความรู้สู่ชีวิตจริง

กิจกรรมอาสายุวกาชาด เป็นหนึ่งกิจกรรมที่นำมาเป็นหนทางเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ใช้กระบวนการคิด วิเคราะห์เหตุผลสำหรับเด็ก สามารถแยกแยะเรื่อง การคิดถูกต้อง คิดดี ตามหลักวิชาการด้วยการน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมา เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติตน ได้ขยายพื้นที่ของความดี และยกระดับ ศรัทธาในคุณงามความดี

ประเทศไทยของเรามีเครือข่ายคนดีมากมาย แต่อยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ครูมืออาชีพทุกคนจึงควรทำหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู ด้วยการเสริมสร้าง ระเบียบ วินัย โดยใช้ศีลธรรมเป็นฐานในการดึงจิตวิญญาณของเด็กและเยาวชนกลับมาในสังคมครอบ ครัว ส่งเสริมพลังครอบครัว ใช้ 3 ประสานได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน เพื่ออนาคตที่ดีของเด็ก และเยาวชนไทย

“รางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดใน ชีวิตของครู คือ การเปิด หรือ การขยายพื้นที่ การทำกิจกรรมด้านจิตอาสา นอกเหนือจากการเรียนรู้วิชาในห้องเรียน เพราะเป็นการขยายพื้นที่ของความดี พร้อมกับยกระดับ ศรัทธาในคุณงามความดี และส่งเสริม คนดี” ให้แก่เด็ก และ เยาวชน เน้นให้เด็ก และเยาวชน เห็นคุณค่าของตนเอง และผู้อื่น” คุณครูสถาพร มุ่งเพียรมั่น กล่าว

ด้าน แบงค์ ทิณพงศ์ สีผม หนึ่งในลูกศิษย์ที่ร่วมทำกิจกรรมกับครูสถาพร มาตลอดระยะเวลาที่ศึกษาที่โรงเรียนวิเชียรมาตุ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง นายกองค์การบริหาร องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน บอกเล่าความรู้สึกว่า สิ่งที่ผมจำได้อยู่เสมอ คือ คำพูดที่ครูมักจะอยู่บ่อยๆ เวลาออกไปช่วยเหลือ หรือบำเพ็ญประโยชน์ให้กับสังคม ก็คือคำพูดที่ว่า “ทำดีให้เด็กดู” ก็คือการทำดีให้เด็กๆ ได้เห็น และนำไปแบบอย่างในการดำเนินชีวิตของเขาต่อไป

นอกจากนี้ การที่จะทำงานให้เก่ง เราจะต้องทำงานอย่างผู้รู้จริง ต้องมีความอดทน มุ่งมั่น ความตั้งใจจริง ความเพียรพยายามให้มาก เพราะการทำงานเพื่อส่วนรวมนั้น ย่อมจะมีแบบที่ราบรื่น และแบบที่มีอุปสรรค์ต่างๆ มาให้แก้ไขปัญหาด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นการทำงานร่วมกับผู้อื่น รับฟังความคิดเห็น และเคารพความคิดที่แตกต่างโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน จะต้องคอยช่วยเหลือส่งเสริมคนดี และคนเก่งให้ได้มีโอกาสแสดงศักยภาพในการทำงาน สนุกไปกับการทำงาน เพียงเท่านี้ก็จะทำให้มีความสุขกับการได้ช่วยเหลือสังคม

การทำงานจิตอาสา ก็คือการทำงานเพื่อคนอื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่ในการทำงานทุกอย่างย่อมมีค่าตอบแทนเสมอการทำงานเพื่อส่วนรวมก็เช่นกัน สิ่งที่ได้รับกลับมาก็คือ ความสุขใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยั่งยืนจะอยู่กับตัวเราเสมอ ทำงานจิตอาสานั่นนอกจากเราจะได้ความสุขใจแล้ว เราก็ยังจะได้มิตรภาพที่ดีได้เจอเพื่อนหลากหลายกลุ่ม ได้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ซึ่งจะเป็นการเปิดโลกทัศน์ที่กว้างไกลมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญคือจะทำให้พ่อแม่ของเราเกิดความภาคภูมิใจในตัวเรา และสิ่งที่เราทำเพื่อคนอื่น เพื่อสังคมโดยรวม

“สำหรับผม ครูสถาพร มุ่งเพียรมั่น เป็นทั้งครู เป็นทั้งพ่อคนที่2 ที่คอยดูแลเอาใจใส่เราอยู่เสมอไม่ว่าจะสุข หรือทุกข์ ท่านจะค่อยช่วยเหลือ ให้คำแนะนำซึ่งกันและกันเสมอมาจนถึงทุกวันนี้ ครูยังคงเป็นต้นแบบ แรงผลักดันให้ผมเดินหน้าทำความดีเพื่อสังคมต่อไป” ทิณพงศ์ สีผม กล่าวทิ้งท้าย

กล่าวได้ว่า ผู้ที่จะเป็น ‘ครู’ ได้นั้น ต้องเป็นผู้มีความเสียสละอย่างมาก เพราะการที่จะอบรมสั่งสอนศิษย์ให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในสังคมได้ ไม่เพียงแต่ครูจะต้องถ่ายทอดวิชาความรู้ให้เท่านั้น แต่ต้องสอนสั่งให้ศิษย์เป็นคนดี เป็นคนมีคุณภาพของสังคมอีกด้วย

 

 

เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th

Shares:
QR Code :
QR Code