“ครัวกลาง” เทศบาลเมืองคอหงส์ ต้นแบบอาหารกลางวัน13 บาท/คน/วัน เราทำได้!
“จริงๆ แล้วงบเพียง 13 บาท สำหรับอาหารกลางวันเด็ก/วัน/คน ไม่เพียงพออยู่แล้ว เพราะค่าอาหารที่แท้จริงจะอยู่ที่ประมาณ 18-20 บาท” ฉลอง พัฒโน รองนายกนายกเทศมนตรีเมืองคอหงส์ จ.สงขลา สะท้อนภาพปัญหางบประมาณโครงการอาหารกลางวันของเด็กๆ ที่ไม่พอเพียง ซึ่งไม่เฉพาะใน จ.สงขลาซึ่งเป็นหนึ่งใน 9 จังหวัดนำร่องโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)เท่านั้น แต่อีกหลายจังหวัดก็ประสบปัญหาไม่ต่างกัน
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดแนวคิดการจัดตั้ง “ครัวกลาง” ขึ้น โดย รองนายกนายกเทศมนตรีเมืองคอหงส์ อธิบายว่า ครัวกลาง เป็นลักษณะการบริหารจัดการอาหารกลางวันที่เน้นการจัดการเบ็ดเสร็จจุดเดียวทั้งการกำหนดเมนูอาหาร การประกอบอาหาร การจัดซื้อวัตถุดิบ โดยใช้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กค่ายเสนาณรงค์ เทศบาลเมืองคอหงส์ เป็นครัวกลาง เมื่อประกอบอาหารแล้วเสร็จจะมีการจัดส่งอาหารกลางวันกระจายไปยังศูนย์เด็กเล็กจำนวน 3 ศูนย์ของเทศบาลเมืองคอหงส์ ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 2-3 กิโลเมตร ใช้เวลาในการจัดส่งไม่เกิน 1 ชั่วโมง อาหารกลางวันที่ปรุงสุกสดใหม่ก็พร้อมให้เด็กๆ ได้รับประทาน
ฉลอง บอกอีกว่า วิธีการบริการจัดการแบบครัวกลาง ช่วยให้อาหารกลางวันของเด็กในแต่ละวันได้มาตรฐานโภชนาการและสุขาภิบาลอาหาร ควบคุมคุณภาพอาหารได้ง่าย และสามารถลดต้นทุนเนื่องจากประหยัดงบประมาณที่ต้องจ้างผู้ประกอบอาหารในแต่ละศูนย์ฯ รวมถึงการจัดซื้อวัตถุดิบในปริมาณมาก ย่อมได้ราคาที่ถูกกว่า และสามารถต่อรองราคาได้ ถือว่าคุ้มค่ากับงบประมาณที่ได้รับ 13 บาท/คน/วัน อย่างยิ่ง
ครูสอนให้เด็กๆ รู้จักผัก ผลไม้
ทสมา มงคลรัตน์ นักวิชาการศึกษา 6 ว เทศบาลเมืองคอหงส์ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า การจัดอาหารกลางวันสำหรับเด็กของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กค่ายเสนาณรงค์ เทศบาลเมืองคอหงส์ จะใช้โปรแกรมระบบการจัดการสูตรอาหารกลางวันโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งจะกำหนดสัดส่วนและปริมาณอาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็กเล็ก ลักษณะเมนูจะมีการหมุนเวียนในแต่ละสัปดาห์ สำหรับวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหาร เช่น ปลา กุ้งฯลฯ ยกเว้นหมู เนื่องจากศูนย์เด็กเล็กจะมีเด็กๆ ที่มาจากครอบครัวที่นับถือศาสนาอิสลามอยู่ประมาณ 10% นอกนั้นจะเน้นพืชผักท้องถิ่นเป็นหลัก ซึ่งบางชนิดก็สามารถปลูกได้เองที่บริเวณแปลงปลูกของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เช่น ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว เป็นต้น
“ข้อมูลด้านสุขภาพของเด็กนั้น พบว่า ก่อนหน้าที่จะมีการดำเนินการโครงการฯ นี้ เด็กๆที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมักมีปัญหาอ้วน ผอม เตี้ยและช่องปาก เพิ่มขึ้นทุกปี แต่หลังจากที่มีการกำหนดสัดส่วนอาหารและดูแลด้านโภชนาการเด็ก รวมถึงให้ความรู้ไปยังผู้ปกครองและติดตามปัญหาโดยการเยี่ยมบ้านเด็กก็ทำให้สถานการณ์ปัญหาลดลง แต่ถ้าถามว่า พฤติกรรมการกินของเด็กเปลี่ยนไปหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า เด็กยังชอบกินเมนูไก่ทอดอยู่แต่เราก็เพิ่มในเรื่องของผัก ผลไม้ เข้าไป ซึ่งได้ผลน่าพอใจ เด็กๆ กินผัก ผลไม้ ได้มากขึ้น ขณะที่ผู้ปกครองก็ให้ความร่วมมือดี เป็นอย่างดี”
ทสมา มงคลรัตน์ พยงค์ อรัญดร และฉลอง พัฒโน ตามลำดับ
พยงค์ อรัญดร นายกเทศมนตรีเมืองคอหงส์ เพิ่มเติมว่า จากการดำเนินการที่ผ่านมา 2 ปี ปรากฏให้เห็นชัดเจนแล้วว่า โครงการฯ นี้มีประโยชน์ต่อเด็กอย่างแท้จริง สามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพอาหารกลางวันสำหรับเด็ก ในปีงบประมาณ 2556 มีแนวคิดที่จะเพิ่มงบประมาณในส่วนนี้ จาก 13 บาทเป็น 18 บาท ซึ่งจากเดิมคิดว่า เทศบาลไม่สามารถดำเนินการเพิ่มงบส่วนนี้ได้ แต่เมื่อศึกษาระเบียบข้อบังคับแล้ว กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยไม่มีข้อห้ามใดๆ จึงถือว่าไม่ผิดระเบียบ ซึ่งเงินในส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้จะนำไปเพิ่มในส่วนของผลไม้ในอาหารมื้อว่างช่วงบ่าย เพื่อสนับสนุนให้เด็กได้รับประทานผลไม้มากขึ้น
ที่มา : วรรณภา บูชา Team Content www.thaihealth.or.th