‘ครอบครัว’ คือ ‘หัวใจแห่งการเยียวยา’

“คนที่เลี้ยงลูกเก่ง ไม่ได้หมายความว่า ลูกจะต้องชนะคนอื่นเสมอไป แต่การเลี้ยงลูกให้รู้จักเอาชนะใจตนเอง และอยู่กับโลกของความเป็นจริงต่างหาก จึงจะเรียกว่า ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกอย่างแท้จริง”

ถ้อยคำเตือนใจจาก แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ในงานสุขสนทนา “ครอบครัวคือ หัวใจแห่งการเยียวยา” ที่สะท้อนให้เห็นว่า “บ้าน” เป็นห้องเรียนห้องแรกที่จะทำให้เกิดสุจริตชนขึ้นในสังคม และ “พ่อแม่” คือ พระอรหันต์ในบ้าน ดังนั้นทุกคนในครอบครัวย่อมอยากจะเห็นบ้านเป็นอาณาจักรของความปลอดภัย

แม่ชีศันสนีย์ มองว่า “ครอบครัว” คือ “หัวใจแห่งการเยียวยา” โดยยึดหลัก ข้อที่ 1 “บ้านจะปลอดภัย ถ้าหัวใจไม่ขุ่นมัว” ถ้าเรามองคนในบ้านอย่างเปิดใจกว้างและไร้อคติ เขาก็จะเป็นในแบบที่เขาเป็น ใจของเราเองก็จะเป็นสุข คนในบ้านก็ปลอดภัย แต่ถ้าเรามองคนในบ้านอย่างที่เราอยากให้เป็น และบังคับให้เขาทำตามใจเรา วันหนึ่งสมาชิกในบ้านก็จะเป็นเสมือนระเบิดที่พร้อมจะทำลายซึ่งกันและกัน ฉะนั้น เมื่อต้องเจอกับอารมณ์ขุ่นมัว ก็ขอให้ระบายออกมา โดยท่องไว้สั้น ๆ ว่า “จ๊ะเอ๋…บ๊ายบาย” เท่านั้นเอง

“ทุกข์ ปัญหา เป็นความสำเร็จ” หากมองไม่เห็นว่าคนที่เรารักเริ่มปกปิดอะไรบางอย่าง เราจะไม่สามารถเข้าไปเป็นเพื่อนร่วมทุกข์กับลูกหลานของเราได้เลย เพราะฉะนั้นการเฝ้าสังเกตจึงเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อพบว่าเขากำลังมีเรื่องอยากเล่าก็ขอให้เปิดใจรับฟัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้นหรือเรื่องยาวนั้นไม่สำคัญ ขอเพียงแต่เป็นผู้ฟังที่ดี และไม่ว่าเขาจะทำถูกหรือผิด เราก็พร้อมจะเข้าใจ ทำให้บ้านเป็นที่เปิดเผยความสุข ความทุกข์ได้อย่างไม่ต้องกังวลใจ

แม่ชีศันสนีย์ ยังแนะนำกฎ  3 ข้อในการเยียวยาที่สามารถปฏิบัติอย่างง่ายๆ ได้แก่ 1. คนข้างหน้า คือ คนสำคัญสำหรับเรา อย่าทำให้คนข้างหน้าเจ็บปวดเพราะเรา 2. มีสัจจะ คือ ความซื่อสัตย์ที่ไม่ทำให้คนอื่นเจ็บปวด และยังต้องแบ่งปันความสุขให้กับคนรอบข้างด้วย 3. อย่าให้ความสุขโดยการยัดเยียด เรื่องของความรักถ้ายัดเยียดเมื่อไหร่จะทุกข์ทันที แม้สิ่งนั้นจะเรียกว่า “ความรัก” ดังนั้นให้ดูว่าคนๆ นั้นพร้อมที่จะรับความรักจากเราหรือไม่ และจะมอบความรักให้เขาอย่างไรโดยไม่รู้สึกอึดอัด เพราะถ้าเขาอึดอัดเมื่อไหร่ เขาจะหนีเราไป ทั้ง ๆ ที่เรารักเขา

“ความสุข ความทุกข์ ขึ้นอยู่ว่าใจของเราคิดอย่างไร จงสร้างความสุขเล็ก ๆ ให้เกิดขึ้นในใจเรา แล้วแบ่งปันไปยังคนข้างหน้า ไม่ว่าจะนึกถึงกี่ครั้งเราก็จะรู้สึกอิ่มใจเสมอ ที่สำคัญอย่าลืมขอบคุณคนข้างหน้าที่ทำให้เราเห็นคุณค่าในตัวเอง จงจำเอาไว้ว่า ไม่มีใครควรค่าต่อการถูกเกลียดชัง” แม่ชีศันสนีย์ย้ำ

แม่ชีศันสนีย์ ทิ้งท้ายว่า ชีวิตของคนเราก็เปรียบเสมือนหม้อดิน ซึ่งเป็นภาชนะที่เปราะบาง ถ้าไม่ระมัดระวัง ก็แตกได้ง่าย ๆ ดังนั้นจงใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท อย่าคิดเอาชนะใคร เพราะช่วงฤดูกาลของชีวิตสั้นเพียงหยดน้ำ ขึ้นอยู่ที่ตัวเราว่าจะทำกุศลหรืออกุศล เริ่มต้นจากการลองเปลี่ยนอารมณ์โกรธง่าย เป็นการให้อภัยคนอื่น

“การมีจิตที่บริสุทธิ์ไม่ใช่อยู่ในท่านั่งสมาธิ แต่มีจิตเป็นสมาธิในกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน”

บ้านของเราจะน่าอยู่ หากคนในสังคมได้รับการเยียวยาอย่างถูกวิธี เริ่มต้นจากคนในบ้าน อย่าลืมมอบความรักให้แก่กันและกัน เปิดใจให้กว้าง รับฟังและพูดคุย เพื่อให้ครอบครัวเป็นหัวใจแห่งการเยียวยาอย่างแท้จริง

สำหรับกิจกรรมสุขสนทนา “ครอบครัวคือ หัวใจแห่งการเยียวยา” หนึ่งในกิจกรรมของศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ติดตามรายละเอียดกิจกรรมในเดือนพฤษภาคม ได้ที่ http://www.thaihealthcenter.org

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code