ครอบครัวไทยยุคดิจิทัล "พ่อแม่" ต้องมีอยู่จริง
ที่มา : คมชัดลึก
ภาพโดย สสส.
ครอบครัวทุกวันนี้ พ่อ แม่ ลูกต่างมีบทบาทและหน้าที่ของตนเอง ช่วงเวลาของครอบครัวก็น้อยลง ข้อเสนอของ 2 หมอ 1 นักจิตวิทยา ที่เป็น 3 เจ้าของเพจเกี่ยวกับเด็กในเวทีเสวนาสาธารณะ (Public Forum) "เปิดโลกจิตวิทยาเด็ก ไขปัญหาและแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่" สะท้อนความจริงของครอบครัวไทยในยุคสมัยและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปไว้อย่างน่าคิดว่า "ช่วงวัย 0-3 ปี" พ่อแม่ต้องทำให้ลูก เห็นว่าพวกเขา "มีอยู่จริง" เพราะเป็นช่วงวัยที่มีผลต่อพัฒนาการของเด็ก
เมื่อเร็ว ๆ นี้ โครงการขับเคลื่อนความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและครอบครัว และการพัฒนาศักยภาพเยาวชน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับสำนักพิมพ์ bookscape และดีแทค จัดเวทีเสวนาสาธารณะ โดยเชิญหมอและนักจิตวิทยาเด็กเจ้าของเพจชื่อดัง ร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก มาเปิดมุมมองใหม่ ๆ และไขทุกคำตอบเกี่ยวกับจิตวิทยาเด็กและการเลี้ยงดูสำหรับพ่อแม่ยุคใหม่
เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาด้านเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจตามใจนักจิตวิทยา กล่าวว่า ช่วงวัย 0-2 ปี ลูกต้องการความเชื่อใจจากพ่อแม่ จึงต้องทำให้เขามั่นใจว่า พ่อแม่อยู่ตรงนั้นกับเขา หรือช่วงวัย 3 ปี เป็นวัยที่ลูกต้องการทดสอบร่างกายของเขา พ่อแม่ต้องทราบพัฒนาการและจัดพื้นที่ให้ ใช้คำว่า "หยุด" หรือ "ห้าม" ให้น้อยที่สุด ช่วงวัยนี้พ่อแม่ต้องเข้าใจพัฒนาการของลูกเพื่อรักษาสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกให้มากที่สุด ซึ่งส่งผลในระยะยาว
"เด็กที่เกิดมาท่ามกลาง 'พ่อแม่ที่มีอยู่จริง' ทำให้ลูกกล้าที่จะเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะลูกต้องการพ่อแม่ไม่ว่าจะอยู่ในช่วยวัยใดก็ตาม และเมื่อมีปัญหาแล้วเขาหันหลังกลับมาเขาจะเห็นพ่อแม่เสมอ แต่ทุกวันนี้พ่อแม่มีเวลาให้ลูกจริง ๆ หรือไม่ พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่สำหรับลูก แต่ต้องเป็นอะไรก็ได้ที่ลูกให้เป็น" เจ้าของเพจตามใจนักจิตวิทยา กล่าว
นักจิตวิทยาด้านเด็กและครอบครัว อ้างงานวิจัยของบีบีซีว่า เด็กเลือกสมาร์ทโฟนถึงแม้จะมีของเล่นหรือขนมที่น่ากินวางอยู่บนโต๊ะ เพราะสมาร์ทโฟนตอบสนองได้ทันที กดข้ามได้และรู้สึกเป็นผู้ควบคุมสมาร์ทโฟนได้ ดังนั้นการเลี้ยงดูและความสัมพันธ์ของพ่อแม่กับลูกในวัยเด็กจึงมีความสำคัญที่ต้องให้ลูกรู้ว่า พ่อแม่นั้นมีอยู่จริง จะส่งผลต่อเด็กในระยะยาว เช่น ถ้าลูกร้องไห้แล้วพ่อแม่ยื่นสมาร์ทโฟนให้แล้วเขาเงียบ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นยื่นนิทานหรือสิ่งของอื่น ๆ ก็จะไม่เป็นผล ดังนั้นการกระทำใด ๆ ของพ่อแม่ จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ของลูกด้วยเช่นกัน
ส่วน พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล เจ้าของเพจ "เลี้ยงลูกนอกบ้าน" กล่าวว่า พ่อแม่ต้องเป็นคนสำคัญในชีวิตลูกในช่วงตั้งต้นของชีวิตลูกให้ได้ เพราะการเลี้ยงลูกไม่ได้อาศัยแค่ความรู้ แต่ต้องมีสติในการจัดการตนเองได้ พ่อแม่ทุกวันนี้เลี้ยงลูกโดยมองที่ผลลัพธ์ จึงมองหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะทำให้ลูกหยุดร้อง ทำอย่างไรให้ลูกหยุดดิ้น แต่แท้จริงแล้วการเลี้ยงลูกควรมองกระบวนการเพียงต้องการจะแก้ปัญหา
"เวลาเลี้ยงลูกอย่ามุ่งพัฒนาตัวลูก แต่ให้พัฒนาตัวเอง การเลี้ยงลูกคือการพัฒนาตัวเองขั้นสูง ทั้งด้านสติ การพัฒนาความรู้ พัฒนาการเป็นคนที่ดีขึ้น เพราะสุดท้ายเด็กไม่ได้เป็นอย่างที่เราสอน แต่เขาจะเป็นในสิ่งที่เราเป็น" พญ.จิราภรณ์กล่าว
ด้าน นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก โรงพยาบาลเวชธานี เจ้าของเพจ "เลี้ยงลูกตามใจหมอ" กล่าวเสริมว่า การสร้างเวลาที่มีคุณภาพกับลูกก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่พ่อแม่ควรนึกถึง เพราะเป็นเวลาที่จะช่วยเสริมพัฒนาการและความสามารถของลูก สมองส่วนรับอารมณ์ความรู้สึกไว้ จะทำให้เกิดพลังแห่งตัวตน (Power of Self) ที่จะทำให้ลูกสามารถอยู่รอดได้ในอนาคต ครอบครัวก็เหมือนการปลูกต้นไม้ หากดินดีแล้วต้นไม้ก็จะสวยงาม
อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ต้องทำทุกนาทีของลูกให้มีคุณค่าและช่วยเสริมทักษะและความสนใจของลูกได้ เมื่อเขารับรู้ว่า "พ่อแม่ของเขามีอยู่จริง" เด็กจะสามารถก้าวเดินไปข้างหน้า กล้าที่จะเผชิญปัญหา และอยู่รอดได้ในสังคม