ครอบครัวอบอุ่นถึงเวลายกเป็นวาระแห่งชาติ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
"3.1.1. เพื่อวางรากฐานให้คนไทยเป็น คนที่สมบูรณ์ มีคุณธรรมจริยธรรม มีระเบียบวินัย ค่านิยมที่ดี มีจิตสาธารณะ และมีความสุข โดยมีสุขภาวะและสุขภาพที่ดี ครอบครัวอบอุ่น ตลอดจนเป็นคนเก่งที่มีทักษะความรู้ความสามารถและพัฒนาตนเองได้ต่อเนื่องตลอดชีวิต"
ความตอนหนึ่งจากเอกสาร สรุปสาระสำคัญ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 -2564) จัดทำโดย "สภาพัฒน์" สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งปรากฏคำว่า "ครอบครัว" อยู่ในแผนด้วย สะท้อนถึงความสำคัญของครอบครัวต่อของการเติบโตอย่างมีคุณภาพของมนุษย์
ที่เวทีเสวนาเรื่อง "ครอบครัวไทย ทิศทางไปทางไหน ใครมีส่วนช่วย" ซึ่งจัดโดย สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ รร.รามาการ์เด้นส์ ถ.วิภาวดีรังสิต ย่านหลักสี่ กรุงเทพฯ รศ.อภิญญา เวชยชัย นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ กล่าวถึงข้อค้นพบจากการศึกษา สภาพของครอบครัวไทยไว้ว่า แม้ครอบครัวไทยค่อนข้าง มีความสามารถพึ่งพาตนเองได้ดีและมีชุมชนเป็น แรงสนับสนุน แต่การขับเคลื่อนงานด้านครอบครัวนั้น พบว่ายังทำกันจำกัดในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เท่านั้น
รศ.อภิญญา ย้ำว่า "หากจะให้ได้ผลอย่างกว้างขวาง รัฐบาลส่วนกลางต้องให้ความสำคัญ" ทว่าที่ผ่านมา "รัฐบาลส่วนกลางมีนโยบาย แต่ขาด กลไกที่ทำให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง" นอกจากนี้ เรื่องของครอบครัวเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น จึงต้องทำให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน
"ฐานข้อมูลครอบครัวไทยยังไม่มีเจ้าภาพจัดเก็บอย่างเหมาะสม แต่สิ่งที่ได้พบคือสถิติเชิงแนวโน้มมากกว่า ว่าสถานการณ์แบบนี้ชี้ให้เห็นว่า ครอบครัวกำลังเผชิญภาวะไม่มั่นคงอย่างไรบ้าง ไม่ว่า จะเป็นการที่หัวหน้าครอบครัวไม่ค่อยอยู่เพราะต้องเดินทางออกไปทำงาน สิ่งที่ตามมาคือต้อง ทิ้งลูกเอาไว้กับปู่ย่าตายาย แล้วการให้ปู่ย่าตายายดูแลมันก็จะมีช่องว่างเยอะ จากฐานความเข้าใจ ความรู้ในวัยที่แตกต่างกัน ตามพฤติกรรมลูกหลาน ไม่เท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป" รศ.อภิญญา ระบุ
ในงานเสวนาครั้งนี้ มีการเปิดเผยความคืบหน้า "โครงการพัฒนานวัตกรรมการขับเคลื่อนงานครอบครัวอบอุ่นในระดับพื้นที่" ที่สมาคมครอบครัวศึกษาฯ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนใน 11 จังหวัด ประกอบด้วย พะเยา ลำปาง น่าน เลย อุบลราชธานี สุรินทร์ กาฬสินธุ์ สระบุรี ตรัง พัทลุง และสงขลา ปัจจุบันมีศูนย์พัฒนาครอบครัวทั้งหมด 110 ศูนย์ มีครอบครัวเข้าร่วม ทั้งสิ้น 3,000 ครัวเรือน โดยมีเป้าหมาย 3 ด้านคือ "สัมพันธภาพดี – บทบาทหน้าที่ดี – สามารถพึ่งพาตนเองได้" ซึ่งในภาพรวมได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สิริรส กิ้มเฉี้ยง ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางรัก จ.ตรัง ยกตัวอย่างเรื่องเล็กๆ แต่ใกล้ตัวที่สุดคือ "การสื่อสาร" ว่าหลายคนอาจจะแยกแยะไม่ออก ระหว่างถ้อยคำ "ดุด่า – ตักเตือน" หรือถ้อยคำ "โต้เถียง – อธิบาย" ซึ่งส่งผลต่อการใช้คำพูด น้ำเสียง ท่าทางที่แสดงออกไปของแต่ละคน แทนที่จะทำให้ "เข้าใจกัน" ปัญหายุติคลี่คลายลงด้วยดี กลับยิ่ง "ขยายรอยร้าว"สร้างความแตกแยกขัดแย้งรุนแรงขึ้นกว่าเดิม
"อย่างคุณคุยกับสามี คุณบอกว่าแค่คุย แต่จริงๆ คุณด่าสามีเต็มๆ คือพูดมาก็สวนกลับ มันเป็นความเคยชิน อย่างคุยกับแม่เราก็สวนกลับ แต่คนนอกฟังเขาก็คิดว่าเราเถียง พอได้เข้าร่วมกิจกรรมก็เลยได้รู้ว่านี่ไม่ใช่การอธิบายกับแม่ แต่เป็นการเถียงแม่ หรือสามีภรรยาอธิบายสวนกัน ไป-มา ผู้ร่วมประชุมเขาดูออกเลยว่าคำพูดลักษณะนี้มันคือการเถียง ถ้าตักเตือนหรือบอกให้เข้าใจ ต้องมี ลักษณะท่าทียังไง ลองให้เขาเปลี่ยนโจทย์เปลี่ยนท่าที ยกตัวอย่างคำพูดให้เขาปรับ แล้วเขาก็นำไปใช้" ผอ.กองสวัสดิการสังคม อบต. บางรัก กล่าว
ผลที่ได้จากการแก้ไขเรื่องที่ดูเล็กๆ แบบนี้ สิริรส ยกตัวอย่างครอบครัวหนึ่ง มีคุณยายอายุมากเป็น แม่ครัวในบ้าน เวลาทำอาหารก็มักจะ "ปรุงไปบ่นไป"จนวันหนึ่งผู้เป็นหลานที่เข้าร่วมโครงการ บอกกับคุณยาย ว่า "วันหลังยายไม่ต้องทำกับข้าวแล้ว เดี๋ยวหนูทำเอง เข้าใจนะว่าทำกับข้าวมันเหนื่อยมันร้อน" และคำพูด เพียงเท่านี้เอง ทำให้บรรยากาศในบ้านดีขึ้น หรือ กิจกรรม "มองผ่านภาพ" ที่ทำกับกลุ่มเยาวชน ให้เห็น ว่า "หน้าที่ของพ่อแม่นั้นมากมายเพียงใด" ผลที่ได้คือ หลายคนยอมรับว่า "ไม่เคยรู้มาก่อน" และบอกว่าต่อไป จะตั้งใจทำหน้าที่ลูกที่ดีอย่างเต็มที่
เช่นเดียวกับ พะเอิญ คุ้มวงษ์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านจรูกแขวะ ต.โคกยาง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ เล่าว่า ในพื้นที่มีการแบ่งความรับผิดชอบเป็น 3 ช่วงวัย โดย "วัยเด็ก" เป็นหน้าที่ของโรงเรียน "วัยผู้ใหญ่" มีผู้ใหญ่บ้านคอยดูแล และ "วัยสูงอายุ"จะเป็นบทบาทของพระสงฆ์ มีการสอดแทรกความรู้ด้านครอบครัวศึกษาในหลากหลายโอกาส เช่น วันสำคัญทางศาสนาซึ่งผู้คนไปทำบุญที่วัด พระอาจารย์ก็จะขึ้น เทศน์ประเด็นเกี่ยวกับครอบครัว เป็นต้น
"กลุ่มที่เป็นท้องวัยใส อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) จะเข้าไปดูว่าจะเลี้ยงลูกยังไง รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) ก็เข้ามาช่วย โดยหลักคือจะเป็นครอบครัวลักษณะใด ก็ตาม เราต้องมาดูข้อมูลสถานการณ์ แล้วหาวิธีการ ว่าจะพัฒนาอย่างไร" ผอ.พะเอิญ ยกตัวอย่าง
เหตุใดงานขับเคลื่อนครอบครัวเป็นสุขถึงมี ความสำคัญมาก? เรื่องนี้ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และนายกสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย ยกผล สำรวจกลุ่มตัวอย่างครอบครัวไทย จำนวน 3,638 ครัวเรือน ที่แม้จะพบครอบครัวที่ไม่อบอุ่นอยู่เพียงร้อยละ 1 แต่ ก็ไม่ควรมองข้าม เพราะหากนำจำนวนครอบครัวที่แท้จริง ในประเทศไทย ทั้งหมด 15 ล้านครัวเรือนมาเทียบ ย่อมหมายถึงในประเทศไทยมีครอบครัวกลุ่มเสี่ยงถึง 150,000 ครัวเรือน เป็นอย่างน้อย ซึ่งครอบครัวกลุ่มนี้ มีโอกาสจะส่งต่อปัญหาออกไปสู่สังคมโดยรอบได้
"1 เปอร์เซ็นต์ดูน้อย แต่ 15 ล้านครัวเรือนก็ 150,000 เขากำลังพยุงตัวไม่อยู่ เขากำลังส่งออกความไม่สันติสุขจากครอบครัวเขาสู่บริบทโดยรอบ ลูกเขาคนใดคนหนึ่งอาจจะกำลังตีลูกเราอยู่ เพราะเขาหาทางออกในชีวิตไม่เจอ บ้านเราอบอุ่นดี แต่ไม่รู้ ว่า 1 เปอร์เซ็นต์เขาอยู่ที่ไหน วันนี้เรากำลังใช้เครื่องมือ ให้ท้องถิ่นหาให้เจอว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของท่านอยู่ที่ไหน ท่านจะดูแลเขายังไง จะช่วยให้เขาอบอุ่นขึ้น ได้ยังไง" พญ.พรรณพิมล ฝากข้อคิด
สอดคล้องกับ สุวรรณี คำมั่น กรรมการกองทุนและประธานคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 4 สสส. กล่าวว่า ภารกิจของ สสส. คือการสร้างความรู้ความเข้าใจในการป้องกันปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ จึงต้องเข้าไปร่วมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัว โดยเฉพาะปัจจุบันที่บริบทสังคมเปลี่ยนไป เกิดครอบครัวแบบใหม่ๆ เช่น ครอบครัวที่ มีแต่คนชรากับเด็ก แม่วัยใส พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว และตัวชี้วัด ความอบอุ่นแบบเดิมๆ อาจจะไม่ตอบโจทย์อีกแล้ว
"ถ้าเรามองว่าครอบครัวแรกเป็นหน่วยที่ จะพัฒนาคน แต่ถ้าครอบครัวพร่องไป เราจะทำยังไง ถึงจะรู้ ถึงจะเข้าไปช่วยเขาได้ให้เป็นครอบครัว ต้นแบบ หรือเข้าไปหาองค์ความรู้ที่เป็นกลไกวิธีการ ที่จะช่วยพัฒนา" สุวรรณี กล่าว
รายงาน "สถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558 โฉมหน้าครอบครัวไทย ยุคเกิดน้อย อายุยืน" ซึ่งจัดทำโดย กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) แบ่งครัวเรือนเป็น 7 ประเภท คือ 1.ครอบครัวเดี่ยว (พ่อแม่ลูก) 2.ครอบครัวขยาย (พ่อแม่ลูก + ปู่ย่าตายาย) 3.ครอบครัวข้ามรุ่น (ปู่ย่าตายาย + หลาน) 4.ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว (ลูกอยู่กับพ่อหรือแม่เพียงคนเดียว) 5.คู่สมรสที่ ไม่มีบุตร 6.ครอบครัวที่ไม่ใช่ญาติ และ 7.คนโสด