ครอบครัวมีสุขในทศวรรษต่อไป

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ครอบครัวมีสุขในทศวรรษต่อไป thaihealth


แฟ้มภาพ


ครอบครัวไทยยุคใหม่ ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว ขณะที่กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังมีแนวโน้มสูงขึ้น สสส. จึงสนับสนุนความอบอุ่นในครอบครัว ทั้งในสถานที่ทำงาน และในชุมชน รวมถึงในสถาบันการศึกษา


"ครอบครัวมีสุข คนทำงานมั่นคง องค์กรมั่นคง" เป้าหมายสำคัญของการทำโครงการการสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่น และมีสุขเพื่อคนทำงานองค์กร ที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า แผนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. สนับสนุนการทำงานผ่านโครงการการสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นและมีสุขเพื่อคนทำงานองค์กร ปี 2561-2564 โดยมีภารกิจหลักในการสนับสนุนองค์กรภาคี 122 องค์กรทั่วประเทศให้สามารถสร้างเสริมครอบครัวมีสุขคนทำงานองค์กรอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด "ครอบครัวมีสุข" โดย 4 องค์ประกอบนำไปสู่ "ครอบครัวมีสุข" ได้แก่ 1.ความอบอุ่น มีความผูกพันเข้าใจ ความพร้อมในการปรับตัว 2.ความสงบสุข หมายถึงไร้ความรุนแรง 3.ความเข้มแข็งมีภูมิคุ้มกัน พึ่งพาตนเองได้ และ 4.ความพอเพียง พอประมาณ มีความรับผิดชอบต่อสังคม


ในแต่ละปีได้จัดงาน "องค์กรต้นแบบครอบครัวมีสุข"  หรือ Happy Family Award 2020 ในปี 2563 ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ครอบครัวมีสุขในทศวรรษต่อไป"


ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สถานการณ์แนวโน้มครอบครัวไทยยุคใหม่มีหลายเรื่องที่น่ากังวล ด้วยลักษณะของครอบครัวหลักของสังคมไทย ส่วนใหญ่เป็น "ครอบครัวเดี่ยว" มีสมาชิกในครอบครัว 2-3 คน ซึ่งครอบครัวที่มีสมาชิก 1-2 คน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นสูงมาก ขณะเดียวกันครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และส่วนใหญ่เป็น "ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว" มากกว่า 1 ใน 3 ของครอบครัวที่มีเด็กเจเนอเรชั่นซี-อัลฟ่า (Generation Z-Alpha) ซึ่งมีอายุระหว่าง 3-14 ปี มีแนวโน้มที่ไม่ได้อยู่พร้อมหน้าพ่อแม่ลูก และเกิดครอบครัวแหว่งกลางเพิ่มขึ้น หรือครอบครัวที่มีรุ่นปู่ย่าตายายอาศัยอยู่กับรุ่นหลานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเท่าตัว


ที่น่าห่วงที่สุดคือ ในปี 2560 มีผู้สูงอายุ ร้อยละ 41.5 จากประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด 11.3 ล้านคน อาศัยอยู่ในครอบครัวเปราะบาง ที่ผู้สูงอายุต้องพึ่งพาตนเองหรือดูแลคนในครอบครัว ในจำนวนนี้ ร้อยละ 50.2 ผู้สูงอายุอาศัยอยู่กับคู่สมรสตามลำพัง และร้อยละ 26.1 ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังคนเดียว อยู่ตามลำพังมีแนวโน้มสูงขึ้น


"วิกฤติทางสังคมที่ครอบครัวไทยต้องเผชิญเพราะผลกระทบจาก โควิด-19 พบว่า ด้านเศรษฐกิจและการเงินมีครอบครัวไทยเพียงร้อยละ 23.4 เท่านั้น ที่ไม่มีปัญหาด้านการเงิน แต่อีกร้อยละ 76.6 ต้องเผชิญกับปัญหาด้านการเงินและเศรษฐกิจในระดับที่แตกต่างกันไป ด้านสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว พบว่า มีครอบครัวไทยร้อยละ 5.8 ที่เมื่อมีความหงุดหงิดและโมโหแทบไม่สามารถควบคุมการใช้อารมณ์กับคนในครอบครัวได้เลย ทำให้ร้อยละ 0.9 มีการใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บ" ดร.สุปรีดา กล่าวและว่า


นอกจากนี้ยังมีปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว ทั้งความขัดแย้งทางความคิด มุมมองทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน ช่องว่างระหว่างวัย ซึ่ง สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทำงานภายใต้โครงการ "คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน" เพื่อส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดี ลดความขัดแย้งในครอบครัว นอกจากนี้ สสส. สนับสนุนการสร้างเสริมความอบอุ่นและเข้มแข็งในครอบครัว ทั้งในสถานที่ทำงาน (Workplace) และในชุมชน (Community) รวมถึงในสถาบันการศึกษา


ด้าน รศ.ดร.ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต หัวหน้าโครงการสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นและมีสุขเพื่อคนทำงานองค์กร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลการสำรวจครอบครัวมีสุขของคนทำงานองค์กรในปี 2562 ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2562 จำนวนทั้งสิ้น 12,565 คน พบว่า ดัชนีครอบครัวมีสุขของคนทำงานองค์กรคือ 68.7 โดยแบ่งเป็น ความอบอุ่นมีค่า 72.2 ความสงบสุขมีค่า 76.7 ความเข้มแข็งมีค่า 60.0 และความพอเพียงมีค่า 64.9


ทั้งนี้ มีการมอบโล่รางวัลให้กับ 25 องค์กรต้นแบบครอบครัวมีสุข และประกาศผล "องค์กรต้นแบบครอบครัวมีสุข" ประจำปี 2563 แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ "ดี" "ดีมาก" "ดีเด่น" ในระดับ "ดี" ได้แก่ บริษัทสมชายการยางเซอร์วิส จำกัด 1977 ในระดับ "ดีมาก" ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ลิ่มเชียงเส็ง


ในระดับ "ดีเด่น" ได้แก่ บริษัทคิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้มีการมอบรางวัล Popular Youtube Vote และมอบรางวัล Popular Conference Vote ด้วย หาจุดอ่อนว่าพนักงานต้องการอะไรในปี 2563 จึงได้กิจกรรม Fun and Fit with Family คือการวิ่งเก็บระยะทาง พนักงานนำครอบครัวมาวิ่งสะสมไมล์ โดยบริษัทได้สมทบเงินให้ตามระยะทางที่เพิ่มขึ้นแล้วแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปบริจาคซื้อเครื่องมือแพทย์ ผลที่ได้รับครอบครัวมีกิจกรรมร่วมกัน  และพบว่าอัตราลาป่วยลดลงอย่างเห็นชัดเจน ค่ารักษาพยาบาลลดลงค่อนข้างมาก" น.ส.สุรีพร มิตรธรรมณะ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนองค์กร บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่  บอกเล่าถึงกิจกรรม ครอบครัวเป็นรากฐานให้สมาชิกบุคลากรมีความสุขทุกวัน โดยเฉพาะคนในวัยทำงาน

Shares:
QR Code :
QR Code