ครอบครัวดีช่วยเสริมศักยภาพคนทำงาน
สร้างพื้นฐานครอบครัวที่ดี ช่วยส่งเสริมศักภาพของคนวัยทำงาน
"ครอบครัวถึงแม้จะเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม แต่เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของการอยู่ร่วมกันในสังคม เพราะหากครอบครัวมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน รู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง พ่อแม่สามารถแบ่งเวลาดูแลลูกให้เหมาะสม แน่นอนย่อมส่งผลให้ครอบครัวมีความสุข ซึ่งยังสะท้อนถึงหน้าที่การงานอีกด้วย หากอยากพัฒนาตนเอง พัฒนาการทำงาน พื้นฐานครอบครัวจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องพัฒนาเสียก่อน" ศ.เกียรติคุณ พญ.ชนิกา ตู้จินดา ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในพิธีเปิดงาน "Happy work place Forum 2015 ครั้งที่ 6 Happy Family : เติมรัก ปันสุข สร้างพลัง(ใจ)ครอบครัวอบอุ่นให้คนทำงาน" ที่จัดขึ้นโดย สสส. ร่วมกับสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ที่ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. เมื่อเร็วๆ นี้
ด้านนางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. บอกว่า หากองค์กรอยากได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ ต้องขึ้นอยู่กับว่าคนทำงานมีชีวิตที่ดีหรือไม่ ซึ่งการมีชีวิตที่ดีนั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของพนักงานเอง หากคนทำงานมีครอบครัวที่ดี เขาก็จะมีความสุขในการทำงาน โดยองค์ประกอบหลักของครอบครัวที่สำคัญ ได้แก่ 1.การมีสัมพันธ ภาพที่ดีระหว่างกัน 2.ความมั่นคงของชีวิตและ ทรัพย์สิน และ 3.ตระหนักรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของ กันและกันในการดูแลครอบครัว สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานได้ดีขึ้น
ด้าน นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าไปมาก และสิ่งที่ตามมาคือปัญหาของครอบครัวที่อาศัยอยู่ในสังคมเมือง เริ่มมีความเหินห่างกันมากขึ้น ต่างคนต่างทำงาน ไม่มีเวลาดูแลลูก และพบว่าเด็กขาดความอบอุ่นเพิ่มขึ้น โดยทั้งหมดล้วนแต่เป็นปัญหาเรื่องคน ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าปัญหาครอบครัวไม่เกี่ยวกับองค์กร เพราะเมื่อคนมีปัญหาครอบครัวย่อมสะท้อนกลับมาที่องค์กร ทำให้ความพร้อมในการทำงานลดลง นั่นหมายความว่า ปัญหาครอบครัวไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาร่วมกันของคนในสังคม และพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงคนทำงานได้ดีคือพื้นที่ขององค์กรที่จะให้ความรู้ว่าควรทำอย่างไรจึงจะดูแลครอบครัวให้ดีได้
"เราต้องการให้องค์กรเป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างความสุขให้แก่คนในองค์กรได้ แต่ความสุขที่สุดของคนทำงานต้องทำให้ครอบครัวเขามีความสุขด้วย ซึ่งองค์กรจะต้องส่งเสริมทักษะความรู้หรือกิจกรรมในการดูแลครอบครัว เช่น ส่งเสริมครอบครัวให้อยู่ร่วมกัน จัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวพนักงาน ให้ความรู้การจัดการเงินและส่งเสริมให้มีความรับผิดชอบต่อครอบครัวผ่านกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะต่างๆ เป็นต้น เชื่อว่าสุดท้ายแล้วทักษะดังกล่าวจะทำให้พนักงานสามารถดูแลครอบครัวได้ดีและนำไปพัฒนาศักย ภาพในการทำงานของตนเอง พัฒนาเศรษฐกิจครอบครัว จนสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ เพราะคนที่พร้อมที่สุดในการทำงานต้องเป็นคนที่ครอบครัวพร้อมด้วย" ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร อธิบายถึงเป้าหมายในการสร้างองค์กรแห่งความสุข
ขณะเดียวกัน นางสุภาวดี หาญเมธี ประ ธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ให้ข้อมูลว่าจากการสำรวจใน "โครงการศึกษาครอบ ครัวไทยในเขตเมือง ปี 2557" จากกลุ่มตัวอย่างครอบครัวในเขตเมือง 2,040 ครอบครัว ภายใต้การสนับสนุนจาก สสส. ชี้ให้เห็นว่า กว่า 50% ของแรงงานอยู่ในสังคมเมืองด้วยการประกอบอาชีพด้านอุตสาหกรรม บริการ และอื่นๆ พบว่าครอบครัวที่อาศัยอยู่ในเมืองมีสภาวะเสี่ยงใน 6 ด้าน ได้แก่ 1.การไม่รู้บทบาทหน้าที่ของตนเองในครอบครัว สูงถึง 20% 2.ด้านสัมพันธภาพ มีการทำร้ายจิตใจ ไม่ใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา โดยต้องการให้มีศูนย์ให้คำปรึกษาด้านจิตใจและครอบครัว 3.ด้านการเงิน โดยพบว่า กว่า 65% มีหนี้สินและไม่มีความรู้ด้านการจัดการเงิน 4.ด้านสุขภาวะ มีการเสี่ยงโชคในรูปแบบต่างๆ กว่า 80% และยังพบปัญหาความเครียด บุหรี่ แอลกอฮอล์ และยาเสพติด 5.ด้านเวลา 60% ของครอบครัวเมืองไม่มีเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน และ 6.ด้านการดูแลผู้สูงอายุที่ไม่เหมาะสม สูงถึง 73%
จากโครงการศึกษาดังกล่าวมีข้อเสนอแนะว่า ควรเผยแพร่องค์ความรู้ด้านครอบครัว การวางแผนการเงิน รวมถึงจัดทำศูนย์ให้คำปรึกษาการดูแลผู้สูงอายุ ประธานสถาบันอาร์แอลจีเสนอแนะ เพิ่มเติมว่า หากองค์กรตระหนักว่าถ้าคนทำงานมีความสุข เขาก็ทำงานได้ดี องค์กรเองจะได้คุณภาพงานที่ดีจากคนทำงานด้วยเช่นกัน องค์กรมีทรัพยากรพอสมควร หากเอาใจใส่ดูแลพนักงาน สร้างโอกาสและแหล่งเรียนรู้ในสถานประกอบการ นอกจากเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพนักงานกับองค์กรแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้พนักงานใส่ใจและดูแลครอบครัวอีกด้วย
ในงานนี้ นายชาลี รัตนวชิรินทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เป่า ยิง ฉุบ จำกัด บอกเล่าถึงการส่งเสริมกิจกรรมและการดูแลพนักงานภายในองค์กรว่า บริษัทได้จัดตั้งศูนย์ดูแลเด็กไว้ในสถานประกอบการ และขยายมายังชุมชนบริเวณใกล้เคียงที่พนักงานอาศัยอยู่ เพื่อให้พวกเขาสามารถนำลูกมาทำงานได้ด้วย ทำมานานกว่า 8 ปี และได้รับเสียงสะท้อนที่ดีจากพนักงาน หลักๆ คือ การคลายความกังวลในการดูแลลูก ทุกเช้าพนักงานจะนำลูกมาฝากไว้ที่ศูนย์ดูแล และผมจะไปยืนรอรับพร้อมกับบอกว่า 'ทำงานอย่างมีความสุขนะครับ' เพราะหากเขามีความสุขในการทำงาน ย่อมส่งผลดีต่อคุณภาพของงานด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากอินเทร์เน็ต