ครม. ไฟเขียวเดินหน้ากองทุนสื่อสร้างสรรค์
ชี้คุ้ม!! 1 ปี กระบวนการน่าจะแล้วเสร็จ
กองทุนสื่อสร้างสรรค์ เดินหน้าหลังครม.อนุมัติ นักวิชาการเผย เร่งศึกษาแนวทางบริหารกองทุน การหารายได้เข้ากองทุนจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม หวั่น พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ไม่ผ่านวุฒิสภา กระทบเงินเข้ากองทุนสื่อสร้างสรรค์ฯ ปีละ 500 ล้านบาท ชี้ ใช้เงินลงทุนแค่ 21 บาทต่อเด็ก 1 คน คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม สร้างพลเมืองคุณภาพได้
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผอ.สำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงกรณีที่ครม.ผ่านร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. … ว่า ขั้นตอนต่อจากนี้คือนำร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อฯ เข้าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตีความและนำเข้าสู่ขั้นตอนนิติบัญญัติต่อไป คาดว่ากระบวนการเหล่านี้จะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี โดยระหว่างนี้จะมีการศึกษาประเด็นที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เช่น การบริหารกองทุน ความยั่งยืนในการดำเนินงานของกองทุนเพื่อให้เป็นไปตามภารกิจที่กำหนดไว้ในกฎหมาย รวมถึงการศึกษาแหล่งที่มาของรายได้เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะจัดสรรเงินผ่านกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ที่ประมาณไว้จำนวน 400-500 ล้านบาท เช่น การบริจาค การรับการอุดหนุนจากรัฐวิสาหกิจ หรือภาษีจากการผลิตภาพยนตร์ เป็นต้น
รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวต่อว่า การลงทุนด้านเด็กและเยาวชนถือว่าคุ้มค่าอย่างมาก มีเงินในการบริหารจัดการกองทุน 500 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเด็กและเยาวชนไทย 23 ล้านคน จะเท่ากับใช้เงินลงทุนต่อเด็ก 1 คนอยู่ที่ 21 บาทต่อปี การมีสื่อสร้างสรรค์สังคมและทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันด้านสื่อที่ดี จะช่วยให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทุกด้าน ทั้งสติปัญญา คุณธรรม จริยธรรม เป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ในต่างประเทศ อาทิ อังกฤษ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ มีการสนับสนุนกองทุนสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็กมากถึง 40% ของสื่อทั้งหมด ขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนการลงทุนสื่อสำหรับเด็กเพียง 10% เท่านั้น
“กฎหมายฉบับดังกล่าวใช้เวลาทำงานและผลักดันมาเป็นเวลา 7 ปี มีเครือข่ายที่เป็นนักวิชาการ คนทำงานด้านเด็กและครอบครัว และสื่อมวลชนเข้าร่วมด้วยจำนวนมาก ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนรู้สึกดีใจที่ความพยายามจากทุกฝ่ายได้รับการตอบรับจากรัฐบาล ซึ่งเชื่อมั่นว่าในกระบวนการจากนี้ไปจะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพราะการทำให้เกิดสื่อสร้างสรรค์นั้น จะส่งผลถึงทุกคนในสังคม โดยเฉพาะในภาวะที่มีสื่อเป็นพิษอยู่รอบตัวเด็ก” รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐกิจมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า งบประมาณที่ใช้เพื่อการพัฒนากองทุนพัฒนาสื่อฯ อยู่ในมาตรา 46 ของร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. …. ถือเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่การพัฒนาสื่อจากงานหลายๆ ด้าน แม้ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ยังต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาด้วย หากร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ไม่ผ่านความเห็นชอบ เชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อกองทุนพัฒนาสื่อฯ แต่ก็เชื่อว่ากองทุนพัฒนาสื่อจะสามารถดำเนินงานได้เพราะยังมีงบประมาณสนับสนุนจากส่วนอื่นๆ มาเสริม ทั้งนี้ เชื่อว่ารัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสื่อและดูแลเด็กและเยาวชน จะทำให้เกิดการผลักดันอย่างต่อเนื่องได้
ที่มา : สำนักข่าว สสส.
Update 29-03-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : วีระ วานิชเจริญธรรม