คพ.ชี้รถโดยสารทำพิษควันดำ

ฝุ่นกทม.พุ่งเกินมาตรฐาน พบสารก่อมะเร็ง 15 ชนิด

 คพ.ชี้รถโดยสารทำพิษควันดำ

          กรมควบคุมมลพิษ เผยพบฝุ่นละอองขนาดเล็ก 10 ไมครอน และโอโซนเกินมาตรฐาน ในเขตพื้นที่กทม.และตามเมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่น ชี้สาเหตุมาจากควันดำ โดยเฉพาะรถโดยสารของขนส่งมวลชน

 

          จากกรณีที่มีผลการวิจัยที่ระบุว่า ฝุ่นละอองในเขต กทม. อำเภอหาดใหญ่ และจังหวัดเชียงใหม่ มีสารก่อมะเร็งถึง 15 ชนิด โดยเฉพาะสารเบนโซเอไพรีน ที่เกิดจากการสันดาปไม่สมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นควันพิษจากเชื้อเพลิงรถยนต์ และจากควันไฟป่านั้น

 

          ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ภาพรวมจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศของ คพ. ซึ่งวัดสารมลพิษ 5 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ โอโซน และฝุ่นละอองขนาด 10 ไมครอน ระหว่างเดือนพ.ค.-ก.ค. ที่ผ่านมา ยังไม่พบว่ามีสารมลพิษประเภทไหนเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงหน้าฝน และจะคงสภาพจนถึงช่วงสิ้นปี

 

          แต่ทว่าปัญหาดังกล่าวมักจะเกิดในช่วงหน้าแล้ง ตั้งแต่เดือนก.พ.เป็นต้นไป ซึ่งเป็นวงจรที่เกิดขึ้นตามปกติ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้มลพิษอื่นๆ จะยังอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด แต่พื้นที่กทม.และเมืองใหญ่ที่มีการจราจร และมีการใช้รถยนต์หนาแน่นยังมีปัญหาฝุ่นละอองขนาด 10 ไมครอน และโอโซนเกินมาตรฐานเป็นบางวัน โดยสาเหตุมาจากรถยนต์ควันดำ

 

          ซึ่งข้อมูลการร้องเรียนผ่านไปยังกรมขนส่งทางบก พบว่า 15% ของผู้ร้องเรียนราว 30,000 กว่าราย เป็นเรื่องรถควันดำ โดยเฉพาะรถโดยสารของขนส่งมวลชน

 

          อธิบดี คพ.กล่าวอีกว่า เนื่องจากอำนาจตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมไม่ครอบคลุมรถบรรทุกรถโดยสารประจำทาง ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบของกรมการขนส่งทางบก แต่ คพ.เป็นเพียงหน่วยติดตามปัญหาเท่านั้น แต่ก็เชื่อว่าอนาคตปัญหาฝุ่นจากรถยนต์ควันดำน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น เพราะที่ผ่านมา มีการปรับลดกำมะถันในน้ำมันดีเซลจาก 350 พีพีเอ็ม มาเป็น 50 พีพีเอ็มแล้ว พบว่าส่งผลให้ฝุ่นจากท่อไอเสียลดลงไป 16-19% ด้วย

 

          อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าปัญหารถควันดำใน กทม.ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะขณะนี้ มีรถมากถึง 6 ล้านคัน จากตัวเลขเมื่อปี 2535 ที่มีรถวิ่งเพียง 2 ล้านคัน และถึงแม้จะมีการปรับปรุงแก้ไขกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยแก้ที่ต้นทางทั้งการสนับสนุนให้ตรวจสภาพ และปรับปรุงเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดการปล่อยมลพิษ อีกทั้งยังได้ตั้งจุดตรวจวัดควันดำ ร่วมกับทางตำรวจ แต่ก็เป็นการแก้ที่ปลายเหตุเท่านั้น

 

          “นอกจากนี้ ยังมีการออกมาตรการเกี่ยวกับน้ำมัน ที่จะต้องเป็นไปตามกฎหมายภายในปี 2555 โดยลดสารเบนซีนในน้ำมันจากเดิม 3.5% ให้เหลือเพียง 1% ตามมาตรฐานน้ำมันยูโร 4 และการใช้รถยูโร 4 ภายในปีเดียวกันด้วย แต่ขณะนี้ มีบริษัทน้ำมัน 2 รายได้เริ่มจำหน่ายสูตรน้ำมันบี 5 ดีเซลที่มีส่วนประกอบของไบโอดีเซล 5% มาใช้ก่อนกำหนด เนื่องจากรัฐมีแรงจูงใจลดภาษีน้ำมันให้ ซึ่งจะช่วยลดกำมะถัน และฝุ่น ขณะเดียวกัน จากมาตรการสนับสนุนรถใช้ก๊าซเอ็นจีวีเพิ่มขึ้น ก็น่าจะส่งผลดีต่อคุณภาพอากาศด้วย” ดร.สุพัฒน์กล่าว

 

          ดร.สุพัฒน์ ยังกล่าวถึง การนำเข้าน้ำมันรัสเซีย ซึ่งมีกำมะถันสูงกว่ากำมะถันที่กำหนดในน้ำมันของไทย ว่า ทางคพ.ไม่อยากให้นำน้ำมันดังกล่าวมาใช้กับระบบขนส่งในเมือง โดยเฉพาะกทม.และเมืองใหญ่ที่มีมลพิษและมีปัญหาฝุ่นละอองอยู่แล้ว ทั้งนี้ เห็นว่าถ้ารัฐบาลนำน้ำมันรัสเซียที่มีกำมะถันในน้ำมัน 0.05% ไปใช้กับภาคการเกษตร อาทิเช่น ประมง หรือรถไถนาได้จริง ก็ไม่น่าจะเกิดปัญหา

 

          “เรื่องนี้ยอมรับว่าคพ.ก็กังวลเหมือนกัน เพราะกว่าจะลดมลพิษแต่ละประเภท อาทิเช่น สารตะกั่วในน้ำมัน รวมทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศของกทม.ต้องใช้เวลาหลายปีมาก”

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

update: 24-07-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code