คผยจ.ยะลา เดินหน้าขับเคลื่อน จังหวัดปลอดบุหรี่
ที่มาและภาพประกอบจาก : คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดยะลา (คผยจ.)
คผยจ.ยะลา ชูเจตนารมณ์ขับเคลื่อนเป็นจังหวัดปลอดบุหรี่ ตั้งเป้าลดจำนวนผู้สูบบุหรี่เหลือต่ำกว่า 50,000 คน ภายใน 5 ปี จากผลการสำรวจข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2564 พบว่า จังหวัดยะลา พบการบริโภคยาสูบ จัดอยู่ในอันดับที่ 32 ของประเทศ หรือคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 18.4 โดยตั้งแต่ พ.ศ.2534 – 2564 ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ ลดลง จาก 12.2 ล้านคน เป็น 9.9 ล้านคน ส่วนคนไม่สูบบุหรี่ เพิ่มขึ้น จาก 26.1 เป็น 47.1 ล้านคน
นายอำนาจ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ในฐานะรองประธานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ จังหวัดยะลา กล่าวว่า จังหวัดยะลาได้ประกาศเจตนารมณ์ การขับเคลื่อนเป็นจังหวัดปลอดบุหรี่ มาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อสร้างความเข้าใจให้ประชาชนในจังหวัด เกิดความตระหนัก รู้เท่าทันถึงโทษ และพิษภัยของบุหรี่ โดยในการขับเคลื่อนการดำเนินงานได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิ ในการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการอย่างต่อเนื่อง
ส่วนปัจจัยที่ทำให้การขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบของจังหวัดเป็นไปด้วยดี และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มาจากนโยบายสูงสุดของผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับอำเภอ เพื่อขับเคลื่อนการทำงานสู่ในระดับตำบลและหมู่บ้าน เพื่อให้การทำงานประสบความสำเร็จ และสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานควบคุมยาสูบ ช่วยส่งเสริมให้ทางจังหวัดได้มีแนวทางการทำงานใหม่ ๆ นำมาปรับใช้ได้เป็นอย่างดี
รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวด้วยว่า การแต่งตั้งคณะทำงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ยาสูบระดับจังหวัด และคณะกรรมการอนุกรรมการและคณะทำงานการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ยาสูบ ที่มีความตั้งใจในการทำงาน อีกทั้งข้อมูลที่ทางส่วนกลางได้ลงพื้นที่มาให้ความรู้ จะทำให้การทำงานในระบบต่าง ๆ มีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ สิ่งที่ยังต้องการสนับสนุนจากส่วนกลาง คือ สื่อต่าง ๆ ที่มีความสมบูรณ์ และการร่วมมือกันของพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตป้องกันควบคุมโรคติดต่อที่ 12 หากทางเขตได้ร่วมกันพูดคุย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่าง ๆ จะช่วยให้การทำงานประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
ด้าน นายแพทย์วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัด กล่าวว่า บทบาทของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัด ได้ประสานงานร่วมกับส่วนราชการอื่น ๆ เพื่อขับเคลื่อนงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัด ในการขับเคลื่อนเป็น “จังหวัดปลอดบุหรี่” โดยใช้กลยุทธ์ในการดำเนินงานตาม 5 มาตรการ ประกอบด้วย
1. การขับเคลื่อนกลไกการดำเนินงานควบคุมยาสูบ
2. การบังคับใช้กฎหมาย และสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่
3. การป้องกันนักสูบหน้าใหม่
4. การบำบัดรักษา / การช่วยเลิกสูบ
5. การสร้างมาตรการชุมชนปลอดบุหรี่
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวด้วยว่า จุดแข็งของการทำงานควบคุมยาสูบจังหวัดยะลา คือ การที่ทีมงานผู้บริหารของจังหวัด และหัวหน้าส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่สูบบุหรี่เลย ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งการมีคณะทำงานการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ยาสูบระดับจังหวัด คณะกรรมการอนุกรรมการและคณะทำงานการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ยาสูบ ที่มีความเข้มแข็ง และมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน จะช่วยส่งเสริมให้การทำงานประสบความสำเร็จ
“จังหวัดยะลา มีต้นทุนที่ดีในหลาย ๆ เรื่อง ดังนั้นการจะทำให้นักสูบหน้าใหม่ลดลง สามารถทำได้อย่างแน่นอน ซึ่งการควบคุมให้อัตราการสูบบุหรี่ของประชาชนอยู่ในระดับที่ลดลง จึงเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างมาก โดยตั้งเป้าผู้ที่สูบบุหรี่ในจังหวัดยะลาให้มีจำนวนต่ำกว่า 50,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี” นายแพทย์วิเศษ กล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) กล่าวว่า คผยช. มีบทบาทในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ควบคุมยาสูบของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ในจำนวนนี้มีเพียง 2 ยุทธศาสตร์เท่านั้น ที่ดำเนินการโดยส่วนกลาง คือ ยุทธศาสตร์เรื่องภาษี และการควบคุมส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ ส่วนอีก 4 ยุทธศาสตร์ เช่น การสร้างความเข้มแข็งของการควบคุมยาสูบในระดับจังหวัด การป้องกันนักสูบหน้าใหม่ การช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ และการป้องกันและคุ้มครองผู้ที่ไม่สูบบุหรี่จากการได้รับควันบุหรี่มือ 2 ซึ่งทั้งหมดนี้ทางจังหวัดจะต้องดำเนินการ เพื่อช่วยลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงให้ได้
ทั้งนี้ กลไก คผยจ. ถูกออกแบบให้มีการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเลิกสูบบุหรี่ และภาคประชาชน เพื่อช่วยให้การทำงานขับเคลื่อนครอบคลุมทุกมิติ โดยทาง คผยช. ได้พยายามออกแบบเพื่อทำให้กลไกต่าง ๆ สามารถขับเคลื่อนตามเจตนารมย์ที่กำหนด อีกทั้งองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธาน คผยจ. และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เนื่องจากจะช่วยให้การขับเคลื่อนการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิ ที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ประชาชนเกิดจิตสำนึกที่ดีในการเลิกสูบบุหรี่อย่างจริงจัง
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ คผยช. กล่าวถึงการลงพื้นที่ติดตามการทำงานควบคุมยาสูบในพื้นที่จังหวัดยะลา ร่วมกับกองงานคณะกรรมการควบคุมยาสูบ กรมควบคุมโรค ว่า จังหวัดยะลา เป็นหนึ่งในหลาย ๆ จังหวัด ที่ คผยจ. มีความเข้มแข็งในการสร้างความรู้ ความเข้าใจกับประชาชน รวมทั้งการรณรงค์ งด ละ เลิก สูบบุหรี่ โดยอัตราการสูบบุหรี่ใน 12 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดยะลาอยู่ในระดับต่ำที่สุด คือ ร้อยละ 18.4 ขณะที่อัตราการสูบบุหรี่ในจังหวัดภาคใต้อยู่ที่ ร้อยละ 22.9 ดังนั้นการลงพื้นที่ครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างต้นแบบกลไกคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดให้พื้นที่อื่น ๆ ด้วย
ส่วนนางปัจฉิมา บัวยอม รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ขับเคลื่อนการทำงาน ทั้งให้คำแนะนำรูปแบบการดำเนินงาน และสนับสนุนการทำงานของจังหวัด อีกทั้งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในพื้นที่ ให้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมายต่าง ๆ ตลอดจนการติดตามประเมินผลอัตราการบริโภคยาสูบในจังหวัดอีกด้วย
ทั้งนี้ การควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จะต้องใช้มาตรการเชิงสังคมและกฎหมายควบคู่กัน ซึ่งตั้งเป้าดำเนินงานใน 30 อำเภอ พร้อมจัดเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชิดชูผู้ที่ทำความดี เพื่อให้มีการถอดบทเรียน และเกิดแรงกระตุ้นในการดำเนินงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบในประเทศ
ด้าน ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ต้องการเป็นต้นแบบของสถานศึกษาปลอดยาเสพติด โดยเฉพาะบุหรี่ ตามนโยบายของมหาวิทยาลัยในการสนับสนุน รณรงค์ ป้องกัน และไม่ส่งเสริมให้นักศึกษา ข้าราชการ บุคลกรการศึกษา และผู้ที่เข้ามาใช้พื้นที่สูบบุหรี่ทั้งในและนอกพื้นที่ของมหาวิทยาลัย โดยเบื้องต้นได้มอบหมายให้ผู้บริหารที่รับผิดชอบติดป้ายไวนิล และจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์อิเล็กทรอนิกส์ ภายในอาคารและนอกอาคาร ตลอดจนให้ความรู้ผ่านชมรม TO BE NUMBER ONE ของมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ ความเข้าใจในการต่อต้านยาเสพติดและบุหรี่
นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมให้ชมรมของนักศึกษาต่าง ๆ โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการต่อต้านบุหรี่ และมีนโยบายให้บุคลากรในมหาวิทยาลัย ลด ละ เลิกสูบบุหรี่ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยจัดตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูง อาจารย์ นักศึกษาจากทุกคณะในมหาวิทยาลัย รวมถึงภาคประชาชน เพื่อขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นต้นแบบมหาวิทยาลัยที่ไม่มีการสูบบุหรี่ในสถานศึกษา
ด้าน นางบุศยมาส อิศดุลย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน คผยจ.ยะลา กล่าวว่า ผู้ทรงคุณวุฒิใน คผยจ. มีทั้งหมด 6 ด้าน ได้แก่ ด้านกฎหมาย การแพทย์ สาธารณสุขทั่วไป สิทธิเด็กและเยาวชน สิทธิสตรี นิเทศศาสตร์สื่อสารมวลชน และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งถือเป็นการทำงานที่ครอบคลุมทุกมิติอย่างชัดเจน ส่งผลให้การทำงานมีความเข้มแข็งอย่างมาก ขณะเดียวกันด้วยบริบทของจังหวัดยะลา
“จากการทำงานที่ผ่านมาความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ ประชาชนมีความตื่นตัวในโทษของยาสูบ และเห็นว่าอัตราส่วนการครองเตียงของโรงพยาบาลทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เกิดจากโรคที่มาจากพิษภัยของบุหรี่ร้อยละ 75 ตลอดจนเด็กและเยาวชนเข้าถึงยาเสพติด โดยมีบุหรี่เป็นต้นทาง ดังนั้นการป้องกันให้ประชาชน ลด ละ เลิกบุหรี่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ใช่งานของส่วนใดส่วนหนึ่ง”
นางบุศยมาส กล่าวด้วยว่า ผู้ทรงคุณวุฒิในจังหวัดยะลาทั้ง 6 ด้าน จะสามารถกำกับการทำงานของทุกภาคส่วนได้ เพราะเป็นการทำงานเป็นรูปแบบการเชื่อมเครือข่ายกับสำนักงานจังหวัดแต่ละส่วน ซึ่งจะสามารถทำให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้