คปส.ปรับดัชนีชี้วัดการพัฒนาประเทศ

ดึงเศรษฐกิจ สังคม ประชาธิปไตย และความสุขร่วมวัด

 

คปส.ปรับดัชนีชี้วัดการพัฒนาประเทศ

คปส.เสนอปรับดัชนีชี้วัดการพัฒนาประเทศ ให้นำมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม ประชาธิปไตย และความสุขร่วมด้วย แทนการใช้จีดีพีเพียงอย่างเดียว คณะกรรมการ 14 ชุดคึกคัก! รายงานความคืบหน้ารับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ คาด พ.ย.ได้ข้อสรุปเชิงนโยบายเบื้องต้นเสนอสาธารณะ ยันปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องประเด็นของสังคมไม่ใช่ของภาครัฐ  

 

            เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 29 กันยายน ที่เรือนธารกำนัล บ้านพิษณุโลก นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายวิชาการเพื่อการปฏิรูป ในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) เปิดเผยภายหลังการประชุม คสป. ครั้งที่ 6/2553 ที่มี ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้หารือถึงวิธีคิดเรื่องการปฏิรูปโดยเฉพาะเรื่องการประเมินความเจริญของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเราประเมินจากจีดีพี ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความเติบโตด้านเศรษฐกิจ โดยที่ประชุมเห็นตรงกันว่า จะได้มีการจัดสมัชชาเฉพาะประเด็นเรื่องการจัดทำ ดัชนีวัดการพัฒนาที่แท้จริง” โดยทบทวนเรื่องการนำทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และประชาธิปไตย รวมไปถึง การใช้ดัชนีชี้วัดความสุขมาร่วมด้วย ทั้งนี้ โดยให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานสถิติแห่งชาติ และเครือข่ายต่างๆ ร่วมจัดทำ

 

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับรายงานความคืบหน้าและข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการ 14 ชุด โดยเครือข่ายผู้เสียโอกาส คนจนเมือง คนไร้สัญชาติ คนไทยพลัดถิ่น และกลุ่มชาติพันธุ์ ต้องการให้มีกฎหมายมารองรับสถานภาพของกลุ่มเหล่านี้ ซึ่งยังไม่มีการดำเนินงานเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ได้มีการหารือว่าอยากให้มีการรับรู้และเข้าใจถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ขณะที่เครือข่ายสตรีอยากเห็นการปรับแก้กติกาเพื่อให้สตรีมีบทบาททางด้านการเมืองมากขึ้น ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ รวมไปถึงการแก้ปัญหาสตรีกับความรุนแรง ซึ่งที่ประชุมได้พูดคุยกันว่า น่าจะมีการรวมตัวจัดตั้งเป็นสภาผู้หญิงหรือสภาสตรีเพื่อประชาธิปไตย โดยอาจจะไปเชื่อมโยงกับกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง ที่สถาบันพระปกเกล้ากำกับดูแลอยู่ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง

 

ขณะที่ภาคท้องถิ่นได้เสนอถึงแผนต่างๆ ที่ได้ดำเนินการ โดยสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล และสมาคมสันนิบาตเทศบาล ได้ตกลงกันเบื้องต้นว่าจะรวมตัวกันตั้งสถาบันเพื่อพัฒนาศักยภาพท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการกระจายอำนาจที่แท้จริง โดยเน้นการทำงานร่วมกับชาวบ้านและชุมชนได้ดีขึ้น รวมถึงที่ประชุมได้พูดถึงเครือข่ายผู้ใช้แรงงานที่เห็นว่าควรมีธนาคารแรงงาน ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้แรงงานเข้าถึงแหล่งเงินทุน และแก้ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบได้

 

การรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา เราต้องการเห็นการขับเคลื่อนของสังคมวงกว้าง เครือข่ายต่างๆ จึงได้ออกไปจัดประชุม เพื่อให้ได้แนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และนำเอาวิธีการเหล่านั้นมาเชื่อมโยงกัน นอกจากนี้ จะมีการรวบรวมข้อสรุปต่างๆ เพื่อพูดคุยและสื่อสารกับสังคมเป็นหลัก โดยจะไม่ฝากความหวังกับรัฐบาล เพราะสังคมต้องเป็นเจ้าของและดูแลประเด็นเรื่องการปฏิรูปประเทศ อย่างไรก็ตาม คปส. ได้วางแผนว่าภายในเดือนพฤศจิกายนจะได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะมีเรื่องอะไรบ้างที่เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการ เช่น การเสนอให้ออกกฎหมาย เป็นต้น เชื่อว่าอีกไม่นานจะเห็นประเด็นที่ชัดเจนว่ามีเรื่องใดบ้างที่ต้องปฏิรูป นพ.สมศักดิ์กล่าว

  

            ทั้งนี้ ระหว่างการประชุมได้มีการเสนอความคิดเห็นอย่างหลากหลาย โดย นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับเครือข่ายวิชาการ เครือข่ายสังคม เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (อพช.) รวมทั้ง สำนักงานสถิติแห่งชาติ กำลังจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนประเทศผ่านดัชนีวัดความก้าวหน้า (National progress Index) ให้เป็นเป้าหมายของประเทศ และกำลังจะพัฒนาดัชนีชี้วัดระดับท้องถิ่นร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเสนอว่าควรมีการนำดัชนีชี้วัดนี้ มากำหนดเป็นเป้าหมายของการปฏิรูปประเทศด้วย

 

            นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา เสนอแนวคิดว่า ดัชนีความสุขกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ควรเน้นการส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของประชากร ควบคู่ไปกับการตระหนักถึงความจำกัดของทรัพยากรที่เราต้องพึ่งพาอาศัย ซึ่งเป็นความพยายามของนานาประเทศทั่วโลก เพื่อจะได้นำดัชนีไปใช้

 

            ด้าน นายต่อพงษ์ เสลานนท์ เครือข่ายคนพิการเพื่อการปฏิรูป กล่าวว่า เครือข่ายคนพิการเพื่อการปฏิรูปได้มีการหารือกันว่าจะทำอย่างไรให้การขับเคลื่อนของเครือข่ายคนพิการฯ เป็นเนื้อเดียวกับเครือข่ายประชาชนทั้งหมด โดยมีการเสนอประเด็นเรื่องการปฏิวัติการเรียนรู้เพราะหากเพียงแค่ปฏิรูปอย่างเดียวไม่พอ เนื่องจากความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้ของคนในสังคมยังมีมากอยู่ โดยเฉพาะการเลือกปฏิบัติกับคนพิการ จึงอยากให้วันที่ 3 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคนพิการสากลเป็นวันเริ่มต้นในการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อคนพิการ และเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกับ คสป.คณะใหญ่  

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา: สำนักข่าว สสส.

 

 

 

Update: 30-09-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน

 

Shares:
QR Code :
QR Code