คปภ.เตรียมรับมือ ‘สังคมผู้สูงวัย’

          เชื่อกันหรือไม่ว่า ในปัจจุบันโครงสร้างประชากรกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ “สังคมคนแก่” เป็นประเด็นที่ได้ยินบ่อยมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

/data/content/19724/cms/hijkrvxz1247.jpg          หลายคนมองเป็นเรื่อง “ไกลตัว” แต่ความจริงเป็นเรื่อง “ใกล้ตัว” อย่างคาดไม่ถึง และเป็น “โจทย์” ที่ทุกคน ทุกภาคส่วน ต้องรับมือตั้งแต่วันนี้ เพราะประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) ตั้งแต่ปี 2547 และจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ในปี 2574

          จากรายงาน “การศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบเชิงนโยบายต่อการพัฒนาประเทศจากผลการคาดประมาณประชากรของไทย พ.ศ. 2553-2583” ระบุว่า ในปี 2553 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป คิดเป็น 9% ของประชากรทั้งหมด และจะเพิ่มขึ้นเป็น 14% ในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 20% ในปี 2574 ขณะที่ สหประชาชาติ คาดการณ์ว่า สัดส่วนผู้สูงอายุของไทยมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน และไทยก้าวเข้าสู่สังคมคนแก่เร็วกว่าประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนประมาณ 20 ปี

          จากผลวิเคราะห์ดังกล่าว ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงได้ร่วมมือกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานสัมมนาเรื่อง “วางแผนก่อนแก่ ดูแลชีวิตก่อนตาย” ขึ้น

/data/content/19724/cms/jmnqtwx35678.jpg          น.ส.วราวรรณ เวชชสัสถ์ รองเลขาธิการ คปภ.ได้กล่าวว่า ในภาวะที่โครงสร้างของประชากรส่วนใหญ่กำลังเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ทุกภาคส่วนควรเตรียมรับมือกับปัญหาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งภาครัฐได้มีการกำหนด “ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมสังคมไทยสู่สังคมผู้สูงอายุ” เพื่อเป็นการรองรับและเตรียมความพร้อมให้กับผู้สูงวัย

“ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากอัตราการเกิดที่ลดลง รวมถึงความเจริญก้าวหน้าด้านสาธารณสุข ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีอายุยืนยาวขึ้น และจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า อายุเฉลี่ยในผู้หญิงเท่ากับ 74.5 ปี และผู้ชายเท่ากับ 69.9 ปี นอกจากนี้จำนวนผู้สูงอายุยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 6.8% ในปี 2537 เป็น 12.2% ในปี 2554 และคาดการณ์ว่าในปี 2573 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 25% หรือเท่ากับประชากร 1 ใน 4 ของประเทศ” น.ส.วราวรรณ กล่าว

          นอกจากประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว มีอีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน คือ อัตราการเพิ่มของประชากรลดลง ซึ่งเมื่อ 50 ปีก่อนอัตราการเพิ่มประชากรเคยสูงมากเกิน 3% ต่อปี แต่ปัจจุบันลดลงเหลือ 0.5% ต่อปี และแนวโน้มจะลดต่ำลง และมีอัตราเข้าใกล้ศูนย์

          อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์จำนวนประชากรเริ่มคงที่ เด็กเกิดน้อยลง คนแก่เพิ่มขึ้นเร็ว ย่อมส่งผลกระทบเชิงนโยบายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในด้านต่างๆ เพราะฉะนั้นปัญหาโครงสร้างประชากรกำลังเป็น “โจทย์” ท้าทายประเทศไทย และเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกๆ คน ที่ต้องเตรียมตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

 

          ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code