คนไทยปรึกษาปัญหา ‘สุขภาพจิต’ เพิ่ม 3 เท่า
กรมสุขภาพจิตชี้ 'สังคมเปลี่ยนไว กระทบสุขภาพจิต' ระบุทั่วโลกมีผู้ป่วยกว่า 450 ล้านคน ขณะประเทศไทยมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น 3 เท่า แนะดูแลจิตใจตัวเองให้ดีก่อน กล้าเผชิญความจริง
เมื่อวันที่ 31 ก.ค.57 นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตนั้นเกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งทั่วโลกนั้นมีผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตมากกว่า 450 ล้านคน โดยต้นเหตุของการเกิดโรคนั้นมีหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นคือ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ตลอดจนการสื่อสารที่ไร้พรมแดน ทำให้นำไปสู่ปัญหาทางสังคมที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต เช่น การหย่าร้าง ปัญหาเด็กและผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ปัญหาแม่วัยใส ปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด ปัญหาก่อการร้าย ปัญหาการฆ่าตัวตายและฆ่าผู้อื่น ฯลฯ
ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้ป่วยทางจิตเพิ่มขึ้น โดยแต่ละปีพบว่า มีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษาไม่น้อยกว่า 1.4 ล้านราย ส่วนประเภทของโรคสุขภาพทางจิตนั้น พบมากที่สุดคือ โรคทางจิตเวช รองลงมา คือ โรควิตกกังวล ปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ เช่น โรคซึมเศร้า และติดสารเสพติด นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้มาขอรับบริการในคลินิกของหน่วยบริการสังกัดกรมสุขภาพจิตมีมากขึ้นทุกปี โดยปีงบประมาณ 255-2556 มีมากกว่าปี 2554 กว่า 3 เท่า คือ ปี 2557 มีผู้ป่วยรับบริการ 11,391 คน ปี 2555 จำนวน 39,591 คน และปี 2556 จำนวน 39,841 คน
นพ.เจษฎา ยังกล่าวอีกว่า การดูแลสุขภาพจิตของตัวเองนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเราจะต้องดูแลตัวเองให้ดีก่อน จึงแบ่งปันสู่คนอื่นได้ เพราะไม่มีใครจะดูแลสุขภาวะจิตใจได้ดีเท่าตัวเราเอง รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสม รวมถึงต้องสามารถเผชิญกับปัญหา และความจริงของชีวิตได้ดี มีภูมิคุ้มกัน เมื่อนั้นเราก็จะสุขภาพดี ทั้งนี้ ในการประชุมวิชาการวิกฤติสุขภาพจิตครั้งที่ 5 ในวันที่ 4-6 ส.ค.57 นี้ จะเน้นการชูประเด็น "สังคมเปลี่ยนไว ใส่ใจสุขภาพ" เป็นหลักอีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต