คนไทยติดเค็ม ‘โรคไต’ พุ่งปรี๊ด
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
ประธานเครือข่ายบริโภคเค็มแนะให้กินส้มตำเน้นเส้นมะละกอ เลี่ยงน้ำปรุงลดโซเดียม ห่วงคนไทยติดเค็มโรคไตเพิ่มขึ้นปีละ 15% เตรียมผลักดัน'ปฏิบัติการควบคุมการกินเกลือ' ลดเค็มในขนมกรุบกรอบ อาหารกระป๋อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายบริโภคเค็ม และอาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวรามาธิบดีกับการผลักดันวาระชาติ:เรื่องการลดบริโภคเกลือและโซเดียม ว่า จากการศึกษาของกรมอนามัย พบว่าคนไทยบริโภคเค็มมากกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดถึง 2 เท่า ส่งผลให้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังพบด้วยว่าในแต่ละปีมีอัตราผู้ป่วยโรคไตเพิ่มขึ้น 15% นอกจากนี้ในส่วนของโรงพยาบาลรามาฯก็ยังพบด้วยว่ามีผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันอายุน้อยลง ทั้งนี้ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ โดยต้องเริ่มตั้งแต่การลดการบริโภคเค็ม
"อยากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ชสำหรับเพศหญิงที่นิยมรับประทานส้มตำอยากให้ฝึกการสั่งให้ติดปาก ว่าเค็มน้อยไม่ใส่ผงชูรส และเวลารับประทานก็ไม่ควรรับประทานน้ำส้มตำ ควรรับประทานแต่เส้นเพื่อหลีกเลี่ยงการรับโซเดียมที่อยู่ในน้ำส้มตำ โดยในส่วนของโรงพยาบาลเองนั้นขณะนี้ก็มีการส่งเสริมให้ลดการบริโภคเค็ม ทั้งยังพร้อมที่จะเป็นโรงพยาบาลต้นแบบลดเค็มอีกด้วย" ผศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าว
ด้าน นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิน รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การบริโภคเกลือและโซเดียมถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งพบว่าในโรงพยาบาลสังกัด สธ.มีผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้นทุกปี จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในการดำเนินการและประสานงานการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการเพื่อควบคุมการบริโภคเกลือและโซเดียมในทุกระดับ นอกจากนี้ในส่วนของการควบคุมปริมาณเกลือและโซเดียมในภาคอุตสาหกรรมอาหารนั้น ขณะนี้ สธ.กำลังเร่งผลักดันกฎหมายที่จะมีการระบุถึงปริมาณเกลือและโซเดียมที่สามารถใส่ในอาหารสำเร็จรูปต่างๆ ได้ ทั้งขนมกรุบกรอบ อาหารกระป๋อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่จะต้องมีการควบคุมที่ชัดเจนว่าในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ จะสามารถใส่เกลือและโซเดียมได้ในปริมาณที่ต่ำกว่า 20% ทั้งนี้ คาดว่ากฎหมายนี้จะสามารถผลักดันได้ภายใน 2-3 ปี