คนไทยตรวจสุขภาพแบบ ‘เข้าใจผิด’ มานานมาก
ที่มา : เว็บไซต์ marketeeronline.co
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ marketeeronline.co
เพราะการป้องกัน ย่อมดีกว่าการแก้ไขเสมอ การตรวจสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่หลาย ๆ ฝ่ายออกมารณรงค์ให้ทุกคนทำก่อนที่จะพบโรคร้าย
ซึ่งแม้จะออกมารณรงค์กันมากแค่ไหน แต่พฤติกรรมการตรวจสุขภาพของคนไทยก็ยังถือว่าเป็นอะไรที่มีปัญหาอยู่ดี ไม่ใช่แค่กับคนที่ไม่ยอมไปตรวจ แต่รวมไปถึงคนที่ตรวจแล้วด้วยเช่นกัน
ที่บอกว่าเป็นปัญหาเพราะคนไทยบางกลุ่มมีความกลัวและกังวลที่จะเป็นโรคร้าย ซึ่งความกลัวตรงนี้ก็ส่งผลให้การตรวจสุขภาพในแต่ละครั้งเป็นการตรวจที่เกินความจำเป็น เสียเงินมากโดยใช่เหตุ และเสียเวลาคุณหมอที่สามารถเอาเวลาตรงนี้ไปรักษาคนไข้ที่รออยู่หลายร้อยคิวได้
แต่ Pain Point ตรงนี้กำลังได้รับการแก้ไข ด้วย healthcheckup.in.th เว็บไซต์ในการสกรีนตัวเองก่อนว่าคุณควรเสียเงินเสียเวลาไปพบหมอหรือไม่และไม่ต้องกังวลในเรื่องของความแม่นยำและความน่าเชื่อถือ เพราะนี้คือเว็บไซต์ที่สสส.สร้างสรรค์และพัฒนาร่วมกับกรมการแพทย์
ส่วนที่มาที่ไปของ healthcheckup.in.th จะเป็นอย่างไร แล้วมันจะมีส่วนที่ทำให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้นได้จริง ๆ ไหม วันนี้นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) คือผู้ที่จะมาคลายข้อสงสัยให้กับเรา
จุดเริ่มต้นของการให้ผู้คนหันมาตรวจสุขภาพบนออนไลน์
คุณหมอเริ่มต้นเล่าให้เราฟังว่าอันที่จริงแล้วเว็บไซต์ healthcheckup.in.th เป็นส่วนหนึ่งของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่คิดว่าการตรวจสุขภาพของคนในบ้านเราเริ่มเลยเถิดไปไกล เลยเถิดที่ว่านี้ก็คือการซื้อคอร์สตรวจสุขภาพราคาแพงเกินความจำเป็น เกินโรคที่ผู้ตรวจไม่ได้มีเกณฑ์อยู่ในความเสี่ยงเลยแม้แต่น้อย
ฉะนั้นจึงต้องหาวิธีที่ทำให้ผู้คนรู้จักกับการตรวจสุขภาพที่พอดีกับตัวเอง ด้วยการให้ข้อมูลการตรวจสุขภาพที่ถูกต้อง ผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นวิธีที่ทำให้ผู้คนเข้าถึงได้ง่ายมากที่สุด
เป็นการตรวจสุขภาพบนพื้นฐานของความรู้
ไม่ใช่ตรวจสุขภาพบนพื้นฐานของความกลัวอย่างที่เคยผ่านมา
ไม่ใช่แค่ลดความกังวลใจ แต่ยังช่วยลดภาระให้กับคุณหมอ
“คุณเชื่อไหมว่าก่อนที่เขาจะรู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคต่าง ๆ หรือไม่ ในขณะนั้นเขาได้ป่วยเป็นโรคกังวลใจไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะความกังวลคือสิ่งที่ผู้คนผูกติดมาพบหมอเพื่อตรวจสุขภาพ แต่เมื่อได้ลองเข้าไปทำแบบประเมิน เกี่ยวกับความเสี่ยงต่าง ๆ ของโรคร้าย นี่จึงกลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยลดความกังวลใจให้กับผู้คนในเบื้องต้น และถ้าไม่เข้าเกณฑ์ความเสี่ยง มันก็ยังจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในกระเป๋าสตางค์ได้ด้วยเช่นกัน
ในทางเดียวกัน healthcheckup.in.th ก็ยังช่วยลดภาระให้กับคุณหมอหลาย ๆ ท่านได้อีกมาก และมีเวลาไปรักษาคนที่ป่วยแล้วได้มากขึ้น”
กว่าจะเป็นเว็บไซต์ที่ออกมาสมบูรณ์แบบ ต้องผ่านการคิดมานานกว่าเกือบปี
หลายคนที่เคยได้ลองเข้าไปในเว็บไซต์ จะเห็นว่ามันถูกดีไซน์มาเพื่อให้ทุกคนใช้งานได้อย่างง่ายดายมาก ๆ แต่กว่าจะมาเป็นความง่ายที่ใช้เป็น Filter เพื่อตรวจสุขภาพเบื้องต้นอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ เบื้องหลังของมันกลับมาจากการค้นหาข้อมูล การทำงานอย่างหนักหน่วงร่วมกันของทั้งทาง สสส. และคุณหมอมานานกว่าร่วมปี
“มันไม่ใช่แค่เอาข้อมูลที่มีอยู่ใน Internet มาใส่ ๆ แล้วทำให้ผู้คนใช้งานได้ แต่เป็นการเริ่มตั้งแต่ทีมหมอ ทีมผู้เชี่ยวชาญมานั่ง Discuss กัน ถกเถียงกันด้วยพื้นฐานของหลักวิชาการ เลือกโรคที่คนส่วนใหญ่มีความเสี่ยงที่จะเป็น แล้วพอเสร็จก็มาถึงส่วนของการทำแคมเปญว่าต้องสื่อสารยังไงให้เข้าถึงผู้คนได้มากที่สุด
สุดท้ายคือตัวเว็บไซต์ที่ต้องใช้เวลาในการ Work นานมากกว่าจะได้รูปแบบที่เราคิดว่าจะง่ายต่อการใช้งานของผู้คน เพราะถึงเราจะทำ Research มาหนัก เว็บไซต์สามารถช่วยตรวจสุขภาพในเบื้องต้นได้จริง ๆ แต่ถ้าไม่มีใครใช้นั่นก็เท่ากับว่ามันเปล่าประโยชน์”
วิธีใช้งาน healthcheckup.in.th แบบง่าย ๆ
เล่ามาถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนก็คงอยากจะไปเช็คสุขภาพเบื้องต้นกันแล้วว่าตัวเองมีความเสียงที่จะเป็นโรคต่าง ๆ หรือไม่ ถ้าอย่างนั้น Marketeer ก็ขออธิบายวิธีการใช้งาน healthcheckup.in.th แบบง่าย ๆ ให้ทุกคนได้ดูกันจากที่ด้านล่างนี้
Step 1 : เข้าไปที่เว็บไซต์ healthcheckup.in.th ในหน้าแรกจะพบกับส่วนที่ให้กรอกข้อมูลส่วนตัวตรงเพศชาย/หญิง/อายุ หรือเลือกตรงแบบประเมิณสุขภาพด้วยตัวเอง (ในครั้งนี้แอดมินลองเลือกแบบประเมินสุขภาพด้วยตัวเอง)
Step 2 : เลือกโรคที่คุณคิดว่ามีความเสี่ยงหรือความกังวลใจที่จะเป็น (แอดมินเลือกโรคซึมเศร้า)
Step 3 : เลือกติ๊กในช่องที่คิดว่าเป็นคุณ
Step 4 : หากสิ่งที่คุณเลือกไม่เข้าเกณฑ์ความเสี่ยงที่จะเป็นโรค เว็บไซต์ก็จะแสดงข้อมูลให้เห็นแบบด้านล่างนี้
Step 5 : แต่หากสิ่งที่คุณเลือกเข้าข่ายความเสี่ยง เว็บไซต์ก็จะพาคุณไปทำแบบทดสอบเชิงลึกอีกต่อไป
Step 6 : จากนั้นเว็บไซต์ก็จะแสดงผลตัวเลข ว่าคุณมีความเสี่ยงระดับไหน และเป็นสิ่งที่ทำให้คุณตัดสินใจได้ว่าควรจะไปพบแพทย์ต่อหรือไม่
นอกจากคนที่เริ่มจะป่วย ยังมีคนกลุ่มอื่นที่หันมาใส่ใจตรวจสุขภาพด้วยเช่นกัน
แม้การตรวจสุขภาพจะหมายถึงการป้องกันก่อนเป็นโรคร้าย แต่ดูเหมือนว่าคนที่ให้ความใส่ใจในการตรวจสุขภาพจะมีแต่คนที่เริ่มมีอาการป่วย ไม่ว่าจะเป็นการไอบ่อย ๆ เจ็บตามร่างกาย หรืออ้วนแล้วเท่านั้น
เมื่อถามกลับไปว่าแล้วนอกจากคนกลุ่มข้างต้นจะมีใครที่หันมาใส่ใจในเรื่องของการตรวจสุขภาพอีกหรือไม่ สิ่งที่คุณหมอได้ตอบกลับเรามาก็คือ
“คนรอบข้าง ที่เป็นคนที่รัก เช่นลูกหลานอยากให้คุณพ่อคุณแม่ไปตรวจสุขภาพเพื่อความสบายใจ แต่มันก็มีอินไซต์ว่าคนที่เป็นพ่อ-แม่มักจะดื้อรันไม่ยอมไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล ฉะนั้นแล้วเว็บไซต์ healthcheckup.in.th ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ดีเช่นกัน ที่จะทำให้พวกเขาได้ตรวจร่างกายในเบื้องต้นได้ที่บ้าน โดยไม่ต้องกังวลและเป็นห่วงว่าลูกหลานจะต้องเสียเงินหลักพันหลักหมื่นหรือไม่”
ความคาดหวังในฐานะที่เป็นหมอต่อแคมเปญนี้
ในฐานะของคนเป็นหมอ ความคาดหวังต่อแคมเปญที่เขาตั้งใจทำมานานกว่าเกือบปี ไม่ใช่แค่ทำให้ผู้คนเข้ามาตรวจสุขภาพในจำนวนที่มาก ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการที่มันจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้คนไทยมีหลักยึดในการตรวจสุขภาพที่ดี ที่ถูกต้อง และเหมาะสมกับตัวเอง ไม่มากไปและก็ไม่น้อยไป
ไม่ใช่แค่การมีองค์ความรู้ใหม่ แต่ยังหมายถึงการเปลี่ยน Mindset ให้หลาย ๆ คนมี Awareness ในเรื่องนี้มากขึ้น
และการที่คน ๆ หนึ่งมีความรู้ แน่นอนว่ามันต้องส่งผลต่อไปยังคนรอบข้างด้วยเช่นกัน นำไปสู่การกระจายองค์ความรู้ไปยังคนหมู่กว้าง และนั่นก็ทำให้สังคมไทยมีความรู้ความเข้าใจในการตรวจสุขภาพที่ถูกต้องมากขึ้น
สุดท้ายนี้คุณหมอก็ยังทิ้งท้ายประโยคง่าย ๆ ที่เราได้ยินบ่อย ๆ ให้เราได้กลับมาขบคิดกันต่อว่า
“เวลาคนถามว่าเราสบายดีไหม? เราก็มักจะตอบว่าสบายดี
แต่ถ้าถามว่าสบายดีไหมในเชิงของสุขภาพ ก็ไม่รู้ว่าจะมีคนที่ตอบว่าดีสักกี่คน”
ถ้าคุณอยากจะเป็นคนที่ตอบว่าสบายดีได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ลองเข้าไปเช็คสุขภาพตัวเองเบื้องต้นได้ที่ healthcheckup.in.th