คนไทยกินน้ำตาลสูงเสี่ยงเบาหวาน

แพทย์แนะ“อ่อนหวาน”ต้องลดน้ำตาล

 

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) และสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ(International Diabetes Federation – IDF) ได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) และเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2549 ในที่ประชุมใหญ่สมัชชาองค์การสหประชาชาติได้มีมติรับโรคเบาหวานเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของโลก ได้เชิญชวนให้ประเทศสมาชิกร่วมกันดำเนินการควบคุมและรับมือกับโรคเบาหวาน โดยถือวันเบาหวานโลก เป็นวันรณรงค์ขององค์การสหประชาชาติด้วย

 คนไทยกินน้ำตาลสูงเสี่ยงเบาหวาน

สำหรับปีนี้วันเบาหวานโลกตรงกับวันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์เรื่องการลดหวาน ต้านเบาหวานเหมือนเช่นทุกปี แต่สิ่งสำคัญคือหลายคนเมื่อภัยยังมาไม่ถึงก็มักจะละเลยกับการดูแลตนเองเพื่อห่างไกลโรค และใช่ว่าเบาหวานจะเป็นแค่ผู้ใหญ่เท่านั้น ยังมีการสำรวจออกมาด้วยว่า เด็กก็เป็นเบาหวานได้ โดย .เกียรติคุณ พญ.ชนิกา ตู้จินดา กรรมการบริหารแผนสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส. กล่าวถึง สาเหตุเบาหวานในเด็กว่า มักเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ แต่ปัจจุบันกลับขึ้นอยู่กับการบริโกค การดูแลสุขภาพ โดยข้อมูลโรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า มีผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เพียง 4 รายที่ได้รับการวินิจฉัยในช่วง 10 ปีแรก (พ.ศ. 2533-2542) แต่ในช่วง 10 ปีหลัง (พ.ศ. 2543-2552) พบผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มขึ้นอีกเกือบ 40 ราย หรือประมาณ 10 เท่า ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่เด็กที่เริ่มอ้วน และเด็กที่มีพ่อแม่เป็นโรคเบาหวานควรจะได้รับการตรวจเช็คระดับน้ำตาลในเลือด

 

พญ.ชนิกา ยังบอกอีกว่า อาการเบาหวานในเด็กนั้นพบว่า กระหายน้ำจึงปัสสาวะบ่อยและมาก กินจุแต่ผอม มีอาการอ่อนเพลีย ซึ่งควรมีการตรวจน้ำตาลในปัสสาวะบ่อยๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดขนาดยาฉีดอินซูลิน ถ้าเด็กมึนงง หรือหมดสติ ควรรีบให้กินน้ำตาล ถ้าเจ็บป่วยหรือเป็นแผล ควรรีบไปหาแพทย์เสียแต่เนิ่นๆ ที่สำคัญคือผู้ป่วยและญาติควรมีความเข้าใจเรื่องโรคนี้อย่างดี เพื่อการควบคุมระดับน้ำตาล และอาการของโรคไม่ให้เกิดปัญหาแทรกซ้อน ซึ่งจะทำให้ได้ใช้ชีวิตประจำวันอย่างปกติสุขเช่นเด็กทั่วๆ ไปได้

 

ฟังดูแล้วเบาหวานในเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ดูจะไม่ต่างกันมากนัก แต่ถึงอาการจะไม่แตกต่าง แต่ก็น่ากลัวเหมือนกัน

 

ด้าน ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ อุปนายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยและเครือข่ายคนไทยไร้พุง สสส. เล่าถึงสถานการณ์โรคเบาหวานของไทยว่า จำนวนผู้ป่วยคนไทยเป็นเบาหวานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยคนไทย 3.5 ล้านคนเป็นโรคเบาหวาน จากการสำรวจพบอายุ 15 ปีขึ้นไป ร้อยละ 69 เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งสอดคล้องกับภาวะคนไทยอ้วนลงพุงสูง จากการบริโภคอาหารที่ติดรสหวาน นอกจากนี้ยังพบว่า ยังมีอีกกลุ่มที่เป็นภาวะก่อนเบาหวาน คือมีน้ำตาลสูงแต่ยังไม่เป็นเบาหวาน ประมาณร้อยละ 11 ดังนั้นจะมีผู้เสี่ยงเป็นเบาหวานประมาณ 6-7 ล้านคน ซึ่งหากเราดูแลไม่ดีผู้ที่จะเป็นเบาหวานก็จะมีเพิ่มมากขึ้น สำหรับกลุ่มเสี่ยง คือ กลุ่มที่เป็นกรรมพันธุ์ คนอ้วน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย และคนที่โรคความดันโลหิตสูง (ปกติไม่ควรเกิน 120/80)

 

“ข้อมูลของการพบคนไทยทานน้ำตาลมีมากกว่า 20 ช้อนชาต่อวัน จากปกติควรทานไม่เกิน 6-8 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งเป็นเพราะคนไทยติดรสหวาน ซึ่งรสหวานถือเป็นอาหารที่ทำให้เราเกิดความอยากรับประทาน การลดน้ำหนักก็ต้องลดทั้งหวานและมัน ดังนั้น การรณรงค์ลดน้ำตาล ต้านเบาหวาน (No Sugar Day) เพียงเริ่มต้นลดการรับประทานน้ำตาล อย่างน้อยลดสักครึ่งหนึ่งก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้ว แม้จะงดรับประทานไม่ได้ก็ตาม”

  คนไทยกินน้ำตาลสูงเสี่ยงเบาหวาน

สำหรับปีนี้กิจกรรมเบาหวานโลก ใช้สโลแกนว่า “ปกป้องคนไทย พ้นภัยเบาหวาน” โดยพยายามให้ความรู้แก่คนไทยทุกคนไม่เสี่ยงเป็นโรค และหากเป็นแล้วจะทำอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านั้น และผู้ที่เป็นโรคไปแล้วจะลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนอย่างไร ทั้งนี้ หวังว่าหากผู้ที่รับข้อมูลไปแล้วและสามารถปฏิบัติตัวได้ตามที่วางไว้จะช่วยลดการป่วยเป็นโรคเบาหวานได้ถึงครึ่ง อย่างในต่างประเทศ อย่างจีน ญี่ปุ่น อินเดียสามารถลดอัตราการเกิดโรคเบาหวานได้ถึงครึ่งเพราะด้วยความเอาจริงเอาจังกับการปฏิบัติตามแผน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถือว่าการป้องกันเป็นวิธีการที่มีประสิทธิผลที่ดีที่สุด

 

ศ.พญ.วรรณี ยังได้ฝากไปถึงผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักอีกด้วยว่า สิ่งสำคัญคือความตั้งใจ โดยต้องทราบถึงคุณและโทษของโรคเบาหวาน และค่อยๆ ลดอย่างช้าๆ อย่างการดื่มน้ำอัดลม หากต้องการดื่มน้ำอัดลมในทุกมื้อที่รับประทานอาหารก็เท่ากับจะรับประทานน้ำตาลวันละ 36 ช้อนชา แต่ถ้าเราตั้งใจลดการดื่มน้ำอัดลมลงสักมื้อหนึ่งก็จะช่วยลดได้ 12 ช้อนชา หรือประมาณ 50-60 กรัม และไม่เพียงแต่น้ำอัดลมเท่านั้น ยังรวมไปถึงเครื่องดื่มทุกชนิดที่มีน้ำตาลหรือน้ำผลไม้สุขภาพที่ต้มขายทั่วไป หรือน้ำผลไม้บางยี่ห้อก็พบน้ำตาลถึง 10-20% ก็มี ดังนั้นจึงทำให้คนไทยติดรสหวาน จึงอยากเชิญชวนให้ลองลดดูว่าการขาดน้ำตาลเป็นเพียงความรู้สึกทางจิตใจที่เคยรับประทานแล้วอร่อย และหากทำบ่อยๆ ต่อมหวานของเราจะดีขึ้น

 

เบาหวานไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะเมื่อป่วยเป็นเบาหวานแล้วจะเกิดโรคแทรกซ้อนตามมามากมาย เช่น ตาบอดกรณีที่พบเบาหวานขึ้นตา , ไตวาย , หลอดเลือดหัวใจตีบ , กล้ามเนื้อหัวใจวาย , อัมพฤกษ์ อัมพาต และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อตนเองแล้วยังรวมไปถึงบุคคลรอบข้างที่ต้องคอยพาไปโรงพยาบาล และค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงอีกด้วย

 

สิ่งที่ดีที่สุดคงไม่ใช่การแก้ไขที่ปลายทาง แต่คือการป้องกันไว้ตั้งแต่ต้นทาง ที่ต้องดูแลรักษาร่างกายของตนเองให้ดี ไม่อ้วนเกินไป ทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายอย่างเพียงพอ

 

ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำ แต่จะเป็นเรื่องยากที่จะเริ่มทำ หากเราไม่เริ่มต้น

 

 

 

 

 

ที่มา : สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th

 

 

 

 

Update : 12-11-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ