คนไทยกว่า 70 ล้านคนบริจาคเลือดแค่ 1%

 

คนไทยกว่า 70 ล้านคน บริจาคเลือดแค่ 1% ต่างจากประเทศพัฒนาบริจาค 5-10% ขณะที่ผลการศึกษาระบุ ส่วนใหญ่บริจาคเลือดเพราะเป็นกุศล มีความสุข

ดร.สิทธิพงศ์ วัฒนานนท์สกุล อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) นำเสนอผลการศึกษา เรื่อง “พฤติกรรมการบริจาคโลหิตของผู้ที่มาบริจาคโลหิต ณ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย” ในการประชุมวิชาการงานบริการโลหิตระดับชาติ ครั้งที่ 21 ประจำปี 2556 ว่า การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน พฤติกรรมการบริจาคโลหิต เหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจมาบริจาคโลหิต เจตคติต่อการบริจาคโลหิต และปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริจาคโลหิต ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โดยเก็บข้อมูลด้วยการสอบถามเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง จากการสอบถามผู้ที่เข้ามาบริจาคโลหิต ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2555 จำนวน 981 คน

ดร.สิทธิพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับผลการศึกษาพบว่า ผู้บริจาคโลหิตเฉลี่ยปีละ 2 ครั้ง อายุเฉลี่ย 33.84 ปี ร้อยละ 80.40 เป็นผู้บริจาคที่เคยมาบริจาคแล้ว ร้อยละ 61.26 ให้เหตุผลในการบริจาคครั้งแรกว่า มาด้วยกุศลจิต ขณะที่ผู้กลับมาบริจาคอีกครั้ง ร้อยละ 65.44 ให้เหตุผลว่ามาด้วยกุศลจิตเช่นกัน ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างมีเจตคติทางบวกต่อการบริจาคโลหิต โดยมีความเชื่อว่าการบริจาคได้กุศลและมีความสุขจากการบริจาค ร้อยละ 61.26 ระบุว่าไม่ต้องการสิ่งของตอบแทน ร้อยละ 22.94 ระบุว่า ต้องการผลการทดสอบเลือด

 “ผลการศึกษานี้สามารถนำไปกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายในการติดต่อสื่อสารกับผู้บริจาครายเก่าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเชิญชวนให้ผู้บริจาคกลับมาบริจาคให้ได้จำนวนครั้งมากกว่า 2 ครั้งต่อปี เช่นเดียวกับผู้บริจาครายใหม่ที่หากบริจาคอย่างต่อเนื่องในปีแรก ย่อมส่งผลให้คงพฤติกรรมการบริจาคต่อเนื่องยาวนานได้ นอกจากนี้ ผู้บริจาคเสนอแนะให้เน้นการประชาสัมพันธ์การบริจาคโลหิตในกลุ่มเยาวชนมากขึ้น” อาจารย์ มศว กล่าว

ดร.สิทธิพงศ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ต้องจัดหาโลหิตให้ได้วันละ ประมาณ 1,600-2,000 ยูนิต หรือ 46,500 ยูนิตต่อเดือน จึงเพียงพอที่จะจ่ายให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งพบว่าปริมาณโลหิตยังขาดแคลนอยู่มาก โดยข้อมูลจากการศึกษาก่อนหน้า พบว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว มีผู้บริจาคโลหิตคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 5-10 ของประชากร ขณะที่ประเทศไทยมีผู้บริจาคโลหิตสัดส่วนยังไม่ถึงร้อยละ 1 ของประชากร การศึกษาจึงมุ่งศึกษาพฤติกรรมการบริจาคโลหิตและเหตุจูงใจในการบริจาคโลหิต เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาการขาดแคลนโลหิต

 

 

ที่มา : เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์

Shares:
QR Code :
QR Code