คนแก่ป่วยเบาหวานพุ่งเหยียบแสน
นพ.ถาวร สกุลพานิชย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) เปิดเผยผลการศึกษาการจัดให้ผู้สูงอายุทุกคนได้รับสิทธิประโยชน์ในการตรวจคัดกรองโรคเป็นประจำทุกปี โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัย เรื่องผลสัมฤทธิ์การใช้บริการสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุ และผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายสุขภาพของภาครัฐในอนาคตในช่วงปี พ.ศ. 2554-2564 สนับสนุนโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ (มส.ผส.)
พบว่า ในปีงบประมาณ 2553 มีผู้สูงอายุได้รับการตรวจร่างกายประจำปีและคัดกรองโรคไปแล้วจำนวน 2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 26 ของผู้สูงอายุทั้งหมด โดยสามารถค้นหาโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น 1 แสนราย และโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่เพิ่มขึ้นได้ 4.5 แสนราย
จากการประมาณการพบว่า จำนวนผู้สูงอายุที่ยังไม่ทราบว่าตนเองเป็นเบาหวานมีประมาณ 3 แสนราย และมีผู้สูงอายุที่ไม่ทราบว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงอีกประมาณ 1.4 ล้านคน โดยจำนวนการค้นพบผู้ป่วยรายใหม่ใน 2 โรคดังกล่าว ภาพรวมมีจำนวนสูงกว่าสถิติการตรวจคัดกรองของ สปสช. ระดับหนึ่ง เนื่องจากมีผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งที่เข้าใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการและเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลของเอกชนในการตรวจร่างการประจำปี
นพ.ถาวรยังกล่าวว่า “ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเป็นโรคเรื้อรังและมีความรุนแรงของโรคมากกว่ากลุ่มวัยอื่น เป็นผลสืบเนื่องจากพฤติกรรมสุขภาพ และการดูแลควบคุมโรคเรื้อรังในอดีต แม้จะมีผู้สูงอายุกว่า 2 ล้านได้รับการตรวจคัดกรองไปแล้ว แต่ยังมีผู้สูงอายุอีกจำนวนหลายแสนคนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการการคัดกรองนี้ ที่สำคัญยังมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคเรื้อรังที่สำคัญ คือ โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงซึ่งนำไปสู่โรคแทรกซ้อนที่รุนแรง คือ โรคไตวาย ตาบอด โรคหัวใจ อัมพาตหรือเสียชีวิตจากเส้นเลือดสมองแตกหรืออุดตัน”
การตรวจคัดกรองมีความจำเป็นมาก เพราะจะช่วยให้การค้นพบโรคเร็วและรักษาได้ทันท่วงที ซึ่งจะช่วยให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเรื้อรังระยะยาวได้ ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องมุ่งเน้นการขยายการตรวจคัดกรองความเสี่ยง และมุ่งดูแลประชาชนตั้งแต่ยังไม่มีอาการแสดงของโรค จัดหากำลังคนและทรัพยากรด้านสาธารณสุขอื่นให้เหมาะสมเพียงพอ โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ต้องหาวิธีที่เหมาะสมในการเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองของผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 70 ปี ซึ่งมักจะมีภาวะพึ่งพิง ไม่สะดวกในเรื่องของการเดินทาง สนับสนุนการค้นหาปัจจัยเสี่ยงและโรคเรื้อรังในระบบปฐมภูมิ รวมไปถึงการสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวในอนาคต
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์