คนเลี้ยงหมูอาการโคม่า

เมื่อตกบ่วงเกษตรพันธสัญญา

คนเลี้ยงหมูอาการโคม่า 

          ราคาเนื้อหมูถีบตัวสูงขึ้นจาก 50 บาท เป็น 120 บาท ในระยะเวลาไม่กี่เดือน ราคาต้นทุนหน้าเขียงของกลางเดือนกุมภาพันธ์ ตกอยู่ราว 59 บาท เป็นผลพวงจากราคาวัตถุดิบที่เป็นอาหาร ทั้งกากถั่วเหลือง รำข้าว สูงขึ้นกว่า 40% ผู้บริโภคส่วนใหญ่คิดว่า “ใครเลี้ยงหมูรวย” ในทางกลับกัน เกษตรกรเลี้ยงหมูในระบบเกษตรพันธสัญญาต้องแบกภาระหนี้สินจากต้นทุนในโรงที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับดอกเบี้ยเงินกู้ที่งอกรายวันราวดอกเห็ด รายได้ที่รับยังคงที่ เพราะราคารับซื้อหมูยังไม่มีวี่แววปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ภาคอีสานเจ็บหนักเมื่อราคารับซื้อหมูของบริษัทยักษ์ใหญ่ในท้องถิ่นยังตรึงราคาอยู่ที่ 1.20-1.50 บาทต่อกิโลกรัมมาเกือบสิบปี ซ้ำเติมด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมระหว่างบริษัทเอกชนและคนรับจ้างเลี้ยง คนเลี้ยงหมูทั่วประเทศกระอักเมื่อตกอยู่ในฐานะหมูในอวย

 

          เกษตรพันธสัญญา หรือ contract farming ที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลไทยที่ต้องการแก้ไขปัญหาความยากจน ให้เกษตรกรมีตลาดและรายได้ที่แน่นอน รัฐบาลจึงเปิดประตูให้ทั้งบริษัทข้ามชาติ และบริษัทเอกชนเข้ามาขยายฐานด้านการผลิตภายในประเทศ บริษัทจะเป็นผู้สนับสนุนและควบคุมปัจจัยการผลิต เช่น อาหาร เทคโนโลยี วัตถุดิบ เกษตรกรจะเป็นผู้ลงทุนที่ดินและแรงงาน แต่ต้องปฏิบัติตามวิธีการ เงื่อนไขและการควบคุมของบริษัทเพื่อแลกกับการประกันด้านการตลาด เกษตรกรรายย่อยที่ขาดเงินทุน มีความคาดหวังในผลตอบแทนอย่างมาก จะเข้าสู่ระบบ

 

เพราะมองว่า บริษัทเป็นนายทุนในการหาแหล่งเงินกู้ และดูแลตลาด จากคาดการตัวเลขการลงทุนปี 2548 เฉลี่ยต่อฟาร์มเลี้ยงหมู ประมาณ 1.3-1.8 ล้านบาท มีเกษตรกรรับจ้างเลี้ยงหมูที่เข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 10,000 ทั่วประเทศ ถ้าคิดตัวเลขเพียง 1.3 ล้านบาทต่อราย เป็นเงินลงทุนถึงประมาณ 13,000 ล้านบาท ยังไม่รวมสินค้าเกษตรพืชผัก และเนื้อสัตว์ อาทิ ข้าวโพดหวาน กระเจี๊ยบเขียว หน่อไม้ฝรั่ง อ้อย เป็ด ไก่ ปลา ฯลฯ เม็ดเงินการลงทุนและจำนวนเกษตรกรที่หมุนเวียนในระบบพันธสัญญามีมหาศาล และเมื่อมีการตกลงระหว่างบริษัทกับเกษตรกร ตามหลักความเป็นจริง คู่สัญญาจะต้องถือเอกสารคนละฉบับ แต่จากงานวิจัยของแผนงานสร้างเสริมสุขภาพแรงงานนอกระบบในภาคการเกษตร ของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี 2549 พบว่า เกษตรกรจำนวนมาก ไม่เคยได้รับคู่สัญญาเก็บไว้เป็นหลักฐาน บางครั้งเป็นสัญญาทางวาจาและเกษตรร้อยละ 90 ไม่เคยรู้รายละเอียดในสัญญามาก่อน

 

          เปิดข้อสัญญา ไม่เป็นธรรม

 

          ยกตัวอย่างข้อสัญญากลุ่มผู้รับจ้างเลี้ยงสุกรมีประเด็นที่ต้องตั้งคำถามว่า การระบุเงื่อนไขในสัญญายุติธรรมสำหรับผู้รับจ้างเลี้ยงหมูหรือไม่ เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานการเลี้ยงสุกร บริษัทสามารถกำหนดเพิ่มเติม ภายหลังจากการทำสัญญาโดยฝ่ายเดียวและถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระเบียบต่างๆ ที่บริษัทกำหนดขึ้นภายหลังจะแจ้งให้ผู้เลี้ยงทราบและให้ถือข้อกำหนดดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ตามหลักการการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ใหม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย หรือในกรณีการบอกเลิกสัญญาไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผู้เลี้ยงยังให้สิทธิแก่บริษัทในอันที่จะใช้สิทธิเข้าไปดำเนินการเลี้ยงเองโดยใช้โรงเรือนและอุปกรณ์ต่างๆ ของผู้เลี้ยงได้ตามความประสงค์ของบริษัทจนกว่าจะจับสุกรรุ่นได้ ค่าใช้โรงเรือนและอุปกรณ์ผู้เลี้ยง บริษัทจะคำนวณจ่ายให้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บริษัทกำหนด โดยผู้เลี้ยงจะทำการโต้แย้งใดๆ มิได้ทั้งสิ้น เมื่อมีการบอกเลิก เกษตรกรควรมีสิทธิ์จะอนุญาตในการดำเนินการต่อและร่วมตกลงค่าใช้จ่ายกับบริษัท หากบริษัทสร้างเงื่อนไขตัดสินแต่ฝ่ายเดียว ในสองข้อสัญญาเป็นเพียงบางส่วนของสัญญา

 

          ผศ.กฤษณา วงษาสันต์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ สะท้อนปัญหาของ กลุ่มผู้รับจ้างเลี้ยงหมูว่า “ผู้เลี้ยงหมูที่ตัดสินใจเข้าสู่เกษตรพันธสัญญา จะประสพภาวะหนี้สินอย่างหนักผู้เลี้ยงแต่ละคนมีภาระหนี้ถึง 1.5-10 ล้านบาทขึ้นไป เกษตรกรเกิดความเครียด จากการกู้ยืมเพื่อก่อสร้างโรงเรือนที่เลี้ยง มีตั้งแต่ 2-10 โรงขึ้นไป บวกกับหนี้สินจากการซื้ออุปกรณ์ใหม่และเทคโนโลยีที่บริษัทบังคับให้เปลี่ยนแปลง ที่คิดอัตราดอกเบี้ย 2.5% นอกเหนือจากจ่ายค่าไฟฟ้าคิดอัตราก้าวหน้าต่อโรงเรือนเดือนละ 12,000-13,000 บาท ขณะที่ราคารับหมูของบริษัทยักษ์ใหญ่ในท้องถิ่นเท่ากับ 1.2-1.5 บาทต่อกิโลกรัม เป็นอัตราที่ต่ำมากกว่าภาคเกษตรกรรับจ้างต้องเลี้ยงให้กับบริษัทที่คุมโซนเท่านั้น ในด้านสัญญา ไม่อะไรที่ดูแลเกษตรกรเลย” สิ่งที่เกษตรกรกลัวมากที่สุด คือการที่บริษัทไม่ให้เลี้ยงอีกต่อไป จนมีบางคนพูดว่า “โรงเรือนสร้างแล้ว ถ้าเขาไม่ให้เลี้ยงต่อไป ก็ไม่รู้จะไปทำอะไรได้ ถึงรู้ว่าเสียเปรียบก็ต้องทำ เพราะมีภาระหนี้สินอยู่มาก”

 

          ผนึกกำลังเครือข่าย วันนี้ยังมีหวัง

 

          “ภาคกลางพยายามรวมกลุ่มฟาร์มที่รับจ้างเลี้ยงหมู ตอนนี้มีสมาชิกประมาณ 10 ฟาร์ม เกษตรกรอยากที่จะรวมตัวและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เช่น การลดต้นทุนของการเลี้ยง การรวมซื้ออุปกรณ์” ดำรงค์ สังข์วงศ์ ประธานเครือข่ายเกษตรพันธสัญญากล่าว เขายังเข้าไปมีส่วนร่วมกับเครือข่ายผู้เลี้ยงหมูในภาคต่างๆ และได้แนะนำข้อมูลใช้ก๊าซชีวภาพจากขี้หมูเพื่อลดต้นทุนการใช้ไฟฟ้า และแปรสภาพขี้หมูเป็นปุ๋ย สร้างรายได้ให้กับผู้รับเลี้ยงอีกทางหนึ่ง “ผู้เลี้ยงหมูในภาคกลางมีราคารับซื้อที่ 3.90 บาทต่อกิโลรัม ที่พออยู่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับเกษตรกรในภาคอื่นที่ย่ำแย่มาก ถ้าเกษตรกรมีการรวมกลุ่มจะแก้ปัญหาและมีอำนาจการต่อรองมากขึ้น” ถึงแม้การรวมตัวของกลุ่มผู้เลี้ยงหมูยังไม่เข้มแข็งเหมือนผลผลิตเกษตรอื่นๆ ทุกคนต้องการผลักดันกองทุนสวัสดิการดูแลเกษตรกรโดยมีรัฐ บริษัท และเกษตรกร ร่วมด้วยช่วยจ่าย เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตและสร้างหลักประกันให้เท่าเทียมกับแรงงานในระบบ ในฐานะที่เป็นแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศ

 

          อรพิน วิมลภูษิต ผู้จัดการแผนงานพัฒนาแรงงานนอกระบบ เล่าถึงแนวทางแก้ไขปัญหาว่า ข้อแรกต้องระดมนักกฎหมาย นักวิชาการ ศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเกษตรพันธสัญญาทั้งหมด และวิเคราะห์ว่ามีประเด็นไหนที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจจะแก้ไขปรับปรุงในมาตราเชิงบริหาร หมายถึง อาศัยอำนาจรัฐมนตรี คณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง และย้ำว่าเป็นผลดีที่จะช่วยแก้ปัญหา “เกษตรกรรวมตัวกัน ง่ายต่อการจัดการ เช่น ในภาครัฐสามารถให้ปศุสัตว์ให้ความรู้กับกลุ่มเกษตรกร และเป็นตัวกลางให้เกษตรกรในการตรวจสอบผลผลิตที่มีคุณภาพ และที่สำคัญการเกิดอำนาจการต่อรอง เช่น กลุ่มปลูกหน่อไม้ฝรั่งที่จังหวัดนครปฐม ทุกคนจะส่งผลผลิตขายที่กลุ่ม 1 แสนกิโลกรัม ให้บริษัทรับซื้อที่กลุ่ม โดยบริษัทต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกกิโลกรัมละ 1 บาท แทนการตระเวนรับซื้อจากเกษตรกร เงินส่วนเกินนำเข้ากองทุน เพื่อนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ของสมาชิกร่วมกัน เช่น การซื้อปุ๋ยในราคาพิเศษ เป็นต้น” การรวมกลุ่มของเกษตรกรพันธสัญญาเป็นเพียงการเริ่มต้นสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรให้มากขึ้น เพื่อก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะ มีกฎหมายและสวัสดิการที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรไทยผู้ผลิตอาหารเลี้ยงคนทั่วประเทศ

 

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.


ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

 

 

Update:29-07-51

Shares:
QR Code :
QR Code