คนรุ่นใหม่มี EF ความสุข เข้มแข็ง เท่าทัน จัดการได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
คนรุ่นใหม่มี EF ความสุข เข้มแข็ง เท่าทัน จัดการได้เด็กปฐมวัยไม่เร่งอ่านออกเขียนได้กดทับความคิดสร้างสรรค์
คุณภาพคนคือปัจจัยสำคัญที่สุดของการพัฒนาประเทศ สสส.ทำหน้าที่แม่เหล็กร่วมสร้างสุขภาวะเด็ก เยาวชน ครอบครัว พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ประชุมวิชาการ EF Symposium 2016 ที่อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี 19-20 พ.ย. จัดเวทีเรียนรู้สำหรับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเด็กทุกด้านจำนวน 1,400 คน สุภาวดี หาญเมธี ตัวแทนภาคีเครือข่ายกว่า 20 องค์กร เปิดปมคนรุ่นใหม่ต้องผ่านการฝึกฝนให้มีคุณภาพสูง เข้มแข็ง เท่าทัน จัดการได้ และมีความสุขได้ EF มีอัตราการพัฒนาเติบโตดีที่สุดในช่วงวัย 3-6 ปี นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ให้ข้อคิดพ่อแม่เด็กปฐมวัยไม่ควรเร่งเรื่องอ่านเขียน ส่งผลกดทับทักษะความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ และแก้ไขปัญหา ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ระบุ คนเก่งหรือสมองดีได้จากการฝึกฝนที่ถูกต้องและเอาจริงเอาจังมากกว่าได้จากพันธุกรรม
พญ.อังศ์วรา ธีระตันติกานนท์ หรือ หมอเอิง ทำหน้าที่ พิธีกรการประชุมเวทีวิชาการ EF Symposium 2016:ปลูกฝังทักษะสมอง บ่มเพาะเด็กไทยยุค 4.0 ที่ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี เปิดประเด็นในงานจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังพายุที่ทุกคนไม่อาจลืมเลือนได้ แต่หลังฟ้าคะนองครั้งนั้นผ่านไปได้ปรากฏภาพประวัติศาสตร์ที่หัวใจชาวไทยกว่า 70 ล้านดวงได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเพื่อร่วมกันส่งเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสู่สวรรคาลัยเปลี่ยนจากคราบน้ำตาเป็นพลังให้ประเทศไทยได้เข้มแข็ง ให้คนไทยได้เป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน ขอเชิญแขกผู้มีเกียรติร่วมยืนสงบนิ่งแสดงความอาลัยเป็นเวลา 89 วินาที กราบแทบฝ่าพระบาท พระผู้สถิตอยู่ในใจตราบนิรันดร์ ขอน้อมส่งเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดชสู่สวรรคาลัย น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
ทุกคนในห้องประชุมพร้อมใจกันฟัง พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช "เด็กเป็นผู้ที่จะได้รับช่วงทุกสิ่งทุกอย่างต่อจากผู้ใหญ่ รวมทั้งภาระรับผิดชอบในการธำรงรักษาอิสรภาพและความสงบสุขของบ้านเมือง ดังนั้นเด็กทุกคนจึงสมควรและจำเป็นที่จะต้องได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างถูกต้องเหมาะสม ให้มีความสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ต่างๆ พร้อมทั้งการฝึกหัดขัดเกลาความคิดจิตใจให้ประณีต ให้มีศรัทธามั่นคงในคุณความดี มีความประพฤติเรียบร้อยสุจริต และมีปัญญาฉลาดแจ่มใสในเหตุในผล หน้าที่นี้เป็นของทุกคน ที่จะต้องร่วมมือกันกระทำโดยพร้อมเพรียงสม่ำเสมอ ผู้ที่เกิดก่อน ผ่านชีวิตมาก่อน จะต้องสงเคราะห์ อนุเคราะห์ผู้เกิดตามมาภายหลัง ด้วยการถ่ายทอดความรู้ ความดีและประสบการณ์อันมีค่าทั้งปวงให้ด้วยความเมตตาเอ็นดู และด้วยความบริสุทธิ์ใจ ให้เด็กได้ทราบ ได้เข้าใจ และที่สำคัญที่สุด ให้รู้จักคิดด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง จนสามารถเห็นจริงด้วยตนเองได้ ในความเจริญและความเสื่อมทั้งปวง" พระราชทานลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็กประจำปี 2522
พญ.อังศ์วรา กล่าวว่า งานนี้เกิดขึ้นจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งทำงานโดยมุ่งสนับสนุนให้ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยมีสุขภาวะที่ดีทั้งทางด้านกาย จิต สังคม และปัญญา ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพของคนตั้งแต่ปฐมวัย เด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายสำคัญคือเด็กและเยาวชน ที่ต้องพัฒนาให้มีศักยภาพเพื่อเป็นพลเมืองคุณภาพของประเทศต่อไป
ในช่วงนี้ สุภาวดี หาญเมธี ตัวแทนภาคีเครือข่าย Thailand EF Partnership กล่าวรายงานการจัดประชุม เนื่องจากโลกที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ยุค 4.0 มีความซับซ้อน รวดเร็ว รุนแรงและคาดการณ์ได้ยาก มนุษย์ในทุกสังคมจึงต้องพยายามปรับตัวเข้ากับสภาพการณ์ใหม่ให้ได้ ต้องพัฒนาคุณสมบัติต่างๆ เพื่อเผชิญกับสภาวะเหล่านี้ได้อย่างเข้มแข็ง เท่าทัน จัดการได้ และมีความสุขได้ คนรุ่นใหม่ที่จะรับมือกับสภาวะเช่นนี้ได้ต้องได้รับการฝึกฝนให้มีคุณภาพสูงกว่าคนรุ่นก่อนๆ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์จิตใจ สังคม ความสามารถในการคิด
ทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ หรือ EF (Executive Functions) เป็นการทำงานของสมองส่วนหน้าที่ทำให้คิดเป็น ทำงานเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่ร่วมกับผู้อื่นเป็น และหาความสุขเป็น การพัฒนาสมองส่วนหน้าเกี่ยวข้องกับคุณลักษณะที่สังคมไทยกำลังต้องการให้เกิดขึ้นกับเด็กเป็นอย่างมาก การยับยั้งชั่งใจ การควบคุมอารมณ์ การคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ การมีทักษะสังคมร่วมมือกับคนอื่น EF เป็นศักยภาพที่มนุษย์ทั้งหลายรวมทั้งเด็กไทยทุกคนมีมาแต่กำเนิด แต่ศักยภาพเหล่านี้ต้องได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงวัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นประมาณ 25-30 ปี เพื่อให้เส้นใยประสาทก่อรูปขยายตัวจนฝังเป็นชิป กลายเป็นบุคลิกภาพที่ติดตัวไปตลอดชีวิต EF มีอัตราการพัฒนาเติบโตดีที่สุดในช่วงวัย 3-6 ปี ช่วงปฐมวัยจึงเป็นช่วงเวลาดีที่สุด จะสร้างคุณลักษณะและบุคลิกภาพให้เด็กเติบโตเป็นพลเมืองคุณภาพที่จะนำพาสังคมไทยในโลกศตวรรษที่ 21 ได้
ภาคีเครือข่ายกว่า 20 องค์กรด้วยความสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านทักษะสมอง EF มาตั้งแต่ปี 2557 จัดการความรู้เรื่อง EF อย่างละเอียดครอบคลุมการพัฒนาเด็กทุกวัยให้สอดคล้องตามฐานทุนความรู้ ภูมิปัญญา และบริบทของสังคมไทย ขยายเครือข่ายความร่วมมือไปอย่างกว้างขวางกับทุกภาคส่วน
นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า รัฐบาลกำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศมุ่งสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และมุ่งสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน พัฒนาพลเมืองให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน คนรุ่นใหม่ของไทยยุค 4.0 ต้องมีทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการ ซึ่งเป็นทักษะในปี 2020 จากการสำรวจของเวทีเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum ทักษะการอ่านออกเขียนได้ การคิดคำนวณ การแก้ไขปัญหา ทักษะเหล่านี้จะล้าสมัยในอีก 5 ปีข้างหน้า ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะปรับตัวโดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และกลุ่มวัยแรงงานต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงในยุคไอที ดังนั้นการดูแล ปลูกฝัง บ่มเพาะและพัฒนารอบด้านแบบองค์รวมจึงมีส่วนในการวางรากฐานทุนมนุษย์ที่สำคัญ เพื่อให้มีทักษะเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก การพัฒนาทุนมนุษย์เริ่มต้นตั้งแต่เด็กในช่วงปฐมวัย เป็นการวางรากฐานที่เข้มแข็ง
"การพัฒนาทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จหรือการปลูกฝังและสร้างให้เด็กไทยเกิด EF เน้นการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ จะช่วยให้เด็กมีโอกาสฝึกคิดด้วยตนเอง ฝึกสังเกต คิดวางแผน แก้ไขปัญหาจากการได้ลงมือปฏิบัติ เรียนรู้จากประสบการณ์ที่หลากหลาย คำนึงถึงการสร้างการเรียนรู้แก่เด็กตามความเหมาะสมของช่วงวัย โดยเฉพาะระดับปฐมวัยที่ไม่ควรเร่งเรื่องอ่านเขียนซึ่งเป็นการกดทับทักษะด้านอื่นๆ โดยเฉพาะทักษะความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ และแก้ไขปัญหา" นพ.วีระพันธ์ กล่าว พร้อมระบุว่า การพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัยนี้จำเป็นต้องร่วมมือและทำงานแบบบูรณาการจากหลายภาคส่วน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งครอบครัวและชุมชนจะช่วยให้เด็กปฐมวัยมีความพร้อม ก้าวเข้าสู่สังคมได้เข้มแข็งและมีคุณภาพ
พญ.อังศ์วรา กล่าวแนะนำ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ปาฐกถาพิเศษเพื่อนำเข้าสู่การเสวนาหัวข้อ "EF คือรากฐานอันแข็งแกร่งของการพัฒนาทุนมนุษย์" ท่านเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการอยู่ถึง 2 สมัย เป็นผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) และดำรงตำแหน่งกรรมการในมหาวิทยาลัย สมาคม มูลนิธิต่างๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขมากมาย ท่านยังเขียนหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาไว้กว่า 30 เล่ม
ศ.นพ.วิจารณ์ เปิดประเด็นความรู้ว่า "EF (Executive Functions & Self-Regulation), Growth Mind set Grit ความก้าวหน้าในความรู้ความเข้าใจทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นพื้นฐานพัฒนาสมองมนุษย์เข้าสู่การพัฒนาเต็มศักยภาพ ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ EF เป็นเพียงคนที่สนใจชอบเรียนรู้ เมื่อ 6 ปีก่อน อ่านหนังสือเห็นชัดว่าเรื่องนี้ใหญ่มาก เราต้องช่วยกันผลักดันให้บ้านเมืองเราประยุกต์ใช้ทั่วเมืองไทย เพื่อสร้างคนคุณภาพ พัฒนาเต็มศักยภาพ ถ้าเราดำเนินการตั้งแต่เด็กอยู่ในท้อง การเลี้ยงดูเด็ก การสื่อสารเรื่องราวส่งผลให้พัฒนา EF เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตจริง งานนี้เอาคนไม่รู้เรื่อง แก่หน่อย ย้ำถึงความสำคัญของ EF เพราะผมพูดแล้วคนเชื่อ แต่ผมพยายามจะบอกว่าอย่าเชื่อผม ให้เข้าไปสัมผัสของจริงที่มีอยู่"
ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เกิดกระแสตื่นตัวขึ้นในโลกว่า สภาพสังคมหรือความเป็นอยู่ของมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย การเปลี่ยนแปลงยิ่งรวดเร็วและพลิกผันมากขึ้นเรื่อยๆ จำเป็นต้องคิดใหม่ การเตรียมพัฒนามนุษย์เพื่อให้มีความสามารถดำรงชีวิตที่ดีและมีส่วนสร้างสรรค์สังคมและโลกจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไร จึงเกิดแนวทางใหม่ของการศึกษาหรือการเรียนรู้ เป้าหมายสำคัญคือทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และวิธีการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ต้องเปลี่ยนไปจากแนวทางเดิมอย่างสิ้นเชิง คือ เปลี่ยนจากการเรียนแบบท่องจำ สิ่งที่ครูสอนแบบถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูปมา เป็นเรียนแบบลงมือปฏิบัติเป็นทีมแล้วทบทวนไตร่ตรองการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในตน ดังนั้นการเรียนรู้ที่แท้จริงเป็นการสร้างความรู้ขึ้นภายในตน ผ่านการปฏิบัติหรือประสบการณ์
ด้วยความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์สมองและจิตวิทยาการเรียนรู้ ก่อคลื่นความตื่นตัวด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ในหลากหลายด้าน ที่ล้มล้างความเข้าใจหรือความเชื่อเดิมๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกของการเรียนรู้และเป้าหมายที่แท้จริงของการเรียนรู้ที่ต้องเป็นการเรียนรู้หลายมิติไปในเวลาเดียวกัน หรือเป็นการเรียนรู้ที่ซับซ้อน รวมทั้งต้องมุ่งให้เกิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 บอกเราว่าเราสามารถสร้างพลเมืองไทยที่มีคุณภาพสูงกว่าปัจจุบันได้อย่างมากมาย หากจะพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศสู่ Thailand 4.0 ต้องเอาใจใส่ 5 เรื่องซึ่งเป็นพื้นฐานใหม่ กระบวนทัศน์ใหม่ของการศึกษาที่ประเทศไทยยังไม่ได้นำมาใช้
เด็กคนใด EF แข็งแรง การพัฒนาที่เหลืออีก 4 ด้านก็ง่าย แต่หากเด็กคนใด EF อ่อนแอก็ยากที่จะบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้และสมรรถนะในระดับสูงเพื่อเติบโตเป็นคนดี การวางรากฐาน EF ของทารกในครรภ์ ทารก เด็กก่อนวัยเรียน วัยรุ่นขึ้นไปจนถึงอายุ 25 ปี EF มีบทบาทสำคัญในการทำงานของสมอง สะท้อนออกมาเป็นพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ 3 ด้านใหญ่ คือ การควบคุมกำกับตนเอง ความจำ ใช้งาน นำเอาข้อมูลจากเหตุการณ์หรือการทำงานมาสังเคราะห์ร่วมกับความรู้ในความจำระยะยาวสำหรับใช้ในการตัดสินใจ ความยืดหยุ่นของสมองช่วยทำให้มีสมาธิจดจ่อกับเรื่องหนึ่ง แล้วเปลี่ยนไปจดจ่อเรื่องใหม่ในทันควันได้ คือ สามารถทำงานสองอย่างหรือหลายอย่างในเวลาเดียวกันได้
EF เป็นพื้นฐานของคนเก่งหรือคนสมองดี คือ คนที่คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็นแก้ปัญหาเป็น อยู่กับคนอื่นเป็น และมีความสุขเป็น คนเก่งหรือสมองดีได้จากการฝึกฝนที่ถูกต้องและเอาจริงเอาจังของผู้นั้นมากกว่าได้จากพันธุกรรม การฝึกฝนที่ถูกต้องเอาจริงเอาจังเพื่อพัฒนา EF ต้องทำซ้ำๆ ในหลากหลายสถานการณ์จนติดเป็นนิสัยหรือสันดาน จำเป็นต้องขจัดปัจจัยลบหรือตัวขัดขวางการพัฒนา EF ออกไป ความเครียดของแม่ตอนตั้งครรภ์ ความเครียดเรื้อรังในเด็ก พ่อแม่ที่ EF อ่อนแอ การเลี้ยงดูและการศึกษาที่ผิด การพัฒนา EF ต้องไม่ดำเนินการเฉพาะที่ตัวเด็กเท่านั้น หากต้องใช้ระบบต่างๆ ของสังคมให้เป็นปัจจัยบวก ลดหรือขจัดส่วนที่เป็นปัจจัยลบลงไป วัยทำงาน วัยพลเมืองสร้างสรรค์ Thailand 4.0 ให้เป็นคนที่เรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติร่วมกับผู้อื่นเป็น คนเหล่านี้จะเป็นพลังของ Thailand 4.0 แต่หากเราดำเนินการผิดพลาดหรือผิดทางจะมีคนที่เป็นตัวถ่วงของ Thailand 4.0 จำนวนมาก