คนนนท์ อาสายุติรุนแรงเด็กและสตรี

คนนนท์ อาสายุติรุนแรงเด็กและสตรี 

 

ตกเป็นข่าวอยู่เรื่อยๆ ว่ามีการล่วงละเมิดสิทธิเด็กและสตรี จนดูเหมือนสังคมเกิดความรู้สึกว่า เป็นเรื่องธรรมดา ทั้งๆ ที่การนิ่งเฉยไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ซ้ำยังถือเป็นการสนับสนุนให้เกิดการกระทำรุนแรงเพิ่มขึ้น ถึงเวลาปลดแอกความรุนแรง ซึ่งสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนนทบุรี จับมือเครือข่ายยุติความรุนแรง อาทิ มูลนิธิเพื่อนหญิง จัดงานมหกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2553″ ที่เซ็นทรัลพลาซา รัตนาธิเบศร์

 

            กิจกรรมเด่นภายในงานมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการยุติความรุนแรง การแสดงจากลูกหลานชาวนนทบุรี รวมถึงเสวนาวิชาการเพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในจังหวัดนนทบุรี หัวข้อ การยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ลดลงได้โดยใช้กลไก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550, พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551″ โดยมีผู้ร่วมวงเสาวนา ได้แก่ คุณสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง จากมูลนิธิเพื่อนหญิง คุณวาสนา เก้านพรัตน์ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก คุณทนงชัย บูรณพิสุทธ์ ผู้แทนเครือข่ายลดละเลิกเหล้า และ คุณนภา พวงรอด จากกระทรวงสาธารณสุข

 

            คุณสุเพ็ญศรี เปิดวงเสวนา ว่าเป็นเรื่องดีที่ อบจ.นนทบุรี จะเป็นต้นแบบในการพิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี เป็นการพยายามให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการบูรณาการ ซึ่งถือว่าเดินถูกทาง เพราะส่วนราชการเหล่านี้มีพื้นฐานข้อมูลประชาชน และรู้เคลื่อนเคลื่อนไหวต่างๆ ทำให้สามารถวางแผนนำ พ.ร.บ.ไปใช้ได้อย่างตรงจุด

 

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง กลไกสำคัญคือพนักงานรับแจ้งเหตุ และบำบัดเบื้องต้น แต่อุปสรรคที่พบคือเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ยังไม่เป็นที่รู้จักของคนในชุมชน จึงอยากเสนอแนะว่าต้องจัดตั้งชุมชนที่ทำงานได้ผล เป็นศูนย์รับแจ้งเหตุแล้วช่วยดำเนินคดี ตั้งเป้าลดความรุนแรง และศูนย์ต้องรายงานสถานการณ์ความรุนแรงในรอบ 1 ปี รับคดีเท่าไหร่ สำเร็จเท่าไหร่ ยิ่งรณรงค์มากเชื่อว่าจะมีผู้แจ้งเหตุมากขึ้น” หัวเรือใหญ่มูลนิธิเพื่อนหญิง เผย

ด้าน คุณวาสนา เห็นสอดคล้องว่า ประชาชนยังรับรู้กฎหมายฉบับนี้ในวงจำกัด การจัดงานเชิงรุกจึงเป็นเรื่องดี โดยเฉพาะกฎหมายคุ้มครองเด็ก เมื่อก่อนใครทำร้ายเด็กจะใช้กฎหมายอาญาบังคับเท่านั้น โดยไม่บอกว่าเด็กจะได้รับการคุ้มครองอย่างไร แต่ใน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กจะพูดถึงวิธีการช่วยเหลือเด็กทุกประเภท ทั้งด้อยโอกาส ค้ามนุษย์ เด็กทำผิด พลิกโฉมกฎหมายไทย แต่ติดปัญหาเรื่องบังคับใช้

 

คนนนท์ อาสายุติรุนแรงเด็กและสตรี

 

            กฎหมายใหม่จะลดการมองความรุนแรงว่าไม่ใช่ธุระ เห็นแล้วต้องแจ้งทันที หรือเข้าไปยับยั้ง ช่วยเหลือ ซึ่ง อบต.ต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรับแจ้งเหตุ ตอนนี้ตัวเลขผู้ถูกทำร้ายมีกว่า 2 หมื่นราย ในส่วนของ จ.นนทบุรี ก็พอสมควร สะท้อนว่าถึงกฎหมายดีแต่หากเข้าไม่ถึงประชาชนก็ไม่มีประโยชน์ น่ายินดีที่นนทบุรีนำร่องรับอาสาสมัครรับแจ้งเหตุ แต่ต้องติดอาวุธให้เจ้าหน้าที่อาสาเหล่านี้ด้วย ที่สำคัญ อบจ.ต้องกระจายงานให้ อบต.งานจึงจะเดิน” คุณวาสนา กล่าว

 

            ขณะที่คนวงในกระทรวงสาธารณสุขอย่าง คุณนภา เสริมว่า ในการขยายเครือข่ายช่วยเหลือใน จ.นนทบุรี มีการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องกฎหมายแก่อาสา รวมถึงลงพื้นที่จริง โดยกฎหมายฉบับนี้เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่นอกจากตำรวจ ได้มีส่วนร่วมในการยุติความรุนแรง เอามาเป็นธุระ แต่ไม่ใช่ลักษณะเข้าไปจับกุม เป็นลักษณะช่วยไกล่เกลี่ยให้ดีขึ้นมากกว่า 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก

 

 

update : 27-12-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ