‘คนตัวเล็ก’ อนาคต ‘คนสร้างชาติ’
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจาก สสส.
โค้งสุดท้ายก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้ง วันที่ประเทศไทยจะได้คนกลุ่มใหม่เข้ามาบริหารประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างสง่างาม
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดเวที 'แสดงนโยบายด้านเด็ก และเยาวชนแลกเปลี่ยนประสบการณ์คนรุ่นใหม่ มุมมอง New Gen พรรคการเมือง กับเรื่องปิดเทอมสร้างสรรค์' ขึ้น โดยมีผู้แทนคนรุ่นใหม่ของพรรคการเมืองร่วมแสดงวิสัยทัศน์หลายท่าน
ในงานนี้ทำให้เราได้เห็นวิสัยทัศน์ของกลุ่มการเมืองที่มีต่อค่านิยมทางการศึกษาของเด็กไทยที่เด่นชัดไม่น้อยทีเดียว
น.ส.เยาวภา บุรพลชัย หรือ "วิว" โฆษกพรรคชาติพัฒนา ระบุว่า ในเรื่องของเด็กและเยาวชนมี 2 นโยบาย คือ การศึกษา และกีฬา นโยบายด้านการศึกษามีทั้งหมด 4 ข้อ คือ 1.เน้นเรื่องเด็กไทยให้มีทักษะด้านภาษาเพื่อประกอบอาชีพ 2.มอบทุนครูเทคโนโลยี อำเภอละ 1 ล้านบาท เพื่อให้ทุนแก่ครูที่มีศักยภาพออกไปพัฒนาท้องถิ่นตัวเอง 3.เน้นให้เป็นนักอ่าน นักคิด นักปฏิบัติ และนักนำเสนอที่เก่ง และ 4.สร้างอุทยานการเรียนรู้ไม่ว่าใครก็ตามจะจนหรือรวยเข้ามาเรียนรู้ที่นี่ได้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาโดยไม่ต้องใช้เงินเข้ามาเรียนคอร์สออนไลน์ ส่วนนโยบายด้านการกีฬาจะจัดให้ มีมินิสปอร์ตคอมเพล็กซ์และลานกีฬาในทุกอำเภอ เพราะเรามองว่ากีฬาสร้างคน คนสร้างชาติ สร้างความสามัคคี ดังนั้นกระจายโอกาสให้คนมาเล่นกีฬา ให้เข้าถึงกีฬาทุกคนจะมีสุขภาพที่แข็งแรง ลดต้นทุนในการเจ็บป่วย
คุณพริษฐ วัชรสินธุ "ไอติม" ผู้สมัคร สส.จากพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ยั่งยืนสุดคือการปฏิรูปการศึกษา คนไทยทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันในทุกช่วงวัย อาทิ เด็กปฐมวัย จะมีโครงการเบี้ยเด็กเข้มแข็ง 1,000 บาทต่อเดือน และจะมีการเพิ่มศูนย์เด็กเล็ก ในเด็กอายุ 0-8 เพื่อเพิ่มคุณภาพให้ทั่วประเทศ โดยในสัดส่วนของงบประมาณทั้งหมดจะนำมาใช้กับการศึกษา เด็กประถมและมัธยมจะมีการปรับหลักสูตรเรียนรู้ ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ ฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม และในระดับอุดมศึกษาเน้นให้เด็กมีงานทำเพราะปัจจุบันเด็กที่เรียนสายสามัญกับสายอาชีพไม่มีความสมดุลกัน โดยเพิ่มแรงจูงใจด้านสายอาชีพในการขยายเรียนฟรี 15 ปี จนถึงปวส. พร้อมกันนี้ต้องยกระดับคุณภาพของสถาบันอาชีวศึกษาด้วย
ดร.ไกรเสริม โตทับเที่ยง ผู้สมัครสส. จากพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า การพัฒนาเด็กและเยาวชนต้องมองไปให้ไกลกว่าห้องเรียน จึงเสนอแนวทางหนึ่งคือการสร้างธนาคารเพื่อการศึกษา ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นพื้นฐานเพื่อเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา โดยแนวทางจะไม่เหมือนกับการกู้ยืมเงิน เพราะการศึกษาจะเริ่มต้นตั้งเป้าให้ทุนจากผลของการศึกษาซึ่งวัดผลได้ ระบบแบบนี้ภาระหนี้ยังคงมีแต่การหมุนเวียนของเงินจะดีขึ้น เงินลงทุนที่จะผลักดันให้เกิดธนาคารการศึกษาจะดึงเอาภาคส่วนเอกชน สังคม เข้ามานำเงินมานำฝากจะมีเงินหมุนเวียนในระบบ เชื่อว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านศึกษาลงได้
คุณตรีรัตน์ ศิริจันทรโรภาส ผู้สมัคร สส.จากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เราพบว่าเด็กไทยมีความฝันแต่ไม่รู้ว่าจะเดินทางไปถึงความฝันนั้นได้อย่างไร ดังนั้นเราจะเน้นพัฒนาทักษะตั้งแต่เด็กเจนแซดถึงเจนซี เน้นทำให้ห้องเรียนมีความสุข เรียนสนุก ลดขนาดห้องเรียน ต้องให้ครูช่วยค้นหาตัวตน และกระจายอำนาจการศึกษา ทุก รร. จะยึดในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาฯ ไม่ได้ เพราะเด็กมีศักยภาพต่างกัน เช่น เด็กที่บ้านทำการเกษตรมีความเชี่ยวชาญด้านนี้ ควรส่งเสริมไม่ได้เน้นแต่วิชาการเท่านั้น
น.ส.กุลธิดา หรือ ครูจุ๊ย ผู้สมัคร สส.จากพรรคอนาคตใหม่ มองว่า การศึกษาไทยเหมือนเจนก้าหรือเกมต่อไม้ที่เรียกว่าตึกถล่ม แต่ไม่ใช่เจนก้าที่แข็งแรง สิ่งที่พรรคจะทำคือจะสร้างรากฐานทางการศึกษาใหม่ทั้งหมด โดยเริ่มเรื่องที่ใกล้ตัวเด็กที่สุด งบประมาณ 5 แสนล้านบาทขอแค่ 3 หมื่นล้านบาท เป็นระยะ 3 ปี เพื่อพัฒนายกระดับ สิ่งแวดล้อมกับการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทั้งอุปกรณ์และบุคลากร เพราะเด็กที่อยู่พร้อมหน้าพ่อแม่มีแค่ครึ่งเดียวของประเทศ ต้องทำอย่างเร่งด่วน ศูนย์เด็กเล็กจะพัฒนาศักยภาพของเด็ก นอกจากนี้จะมอบเงิน 1,200 บาทต่อเดือน ให้เด็กในวัยอนุบาล เพราะมีงานวิจัยออกมาแล้วว่าเงินที่ได้รับต่อเนื่องอย่างเป็นระบบทำให้คนวางแผนชีวิตที่ดีขึ้น
สรุปรวมได้ว่า แต่ละพรรคการเมือง ที่นำเสนอนโยบายการสร้างสังคมคุณภาพด้วยการปฏิรูปการศึกษา จะเน้นการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเป็นวิชาการมากกว่า "ทักษะการใช้ชีวิต" ในช่วงที่ว่างเว้นจากช่วงการเรียนโดยเฉพาะช่วงปิดเทอมซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เด็กจะได้ค้นหาความชอบ และความถนัดที่ต้องการ ซึ่งในความเป็นจริงหากนโยบายของแต่ละพรรคที่มีต่อด้านนี้น่าจะเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกผู้แทนฯ ในวันที่ 24 มีนาคมที่จะถึงนี้ได้ไม่มากก็น้อยเหมือนกัน