คนดังนั่งคุย เล่าประสบการณ์ ‘วิ่งเปลี่ยนชีวิต’

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน 


ภาพประกอบจากครูดิน และ indy run


คนดังนั่งคุย เล่าประสบการณ์ 'วิ่งเปลี่ยนชีวิต' thaihealth


โครงการ "ก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ" ของ "พี่ตูน บอดี้สแลม" อาทิวราห์ คงมาลัย ได้สร้างปรากฏการณ์มากมาย นับตั้งแต่การที่ประชาชนชาวไทยรวมพลังทำความดีด้วยใจ รู้จักให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน มองตัวเองมีค่าและเห็นคุณค่าของผู้อื่น การสร้างกำลังใจ และเป็นการสร้างความหวังที่เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงและเป็นพลังให้คนเรา รวมไปถึงเป็นการกระตุ้นให้ผู้คนในสังคม "ออกกำลังกาย" เห็นความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น


อย่างไรก็ตาม สำหรับ "นักวิ่งมือใหม่" เตือนก่อนว่า อย่าเพิ่งลุกมาวิ่งตามแบบพี่ตูนกันเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นอาจจะเจ็บตัวได้ เพราะการวิ่ง ไม่ใช่แค่มี "รองเท้า" กับ "ใจ" ก็วิ่งได้ แต่ทุกอย่างต้องมีการ เตรียมตัว วางแผน ดูแลร่างกายให้พร้อมก่อนจะลงวิ่ง ไม่ว่าจะต้องการวิ่งเพื่อออกกำลังกาย วิ่งเป็นกิจวัตร หรือเพื่อก้าวสู่การเป็นนักวิ่งเต็มตัว ทุกอย่างต้องมีการเตรียมตัว


ความที่ปัจจุบันหนังสือแนะนำการวิ่งหรือการสอนการวิ่งมีน้อยเหลือเกิน "สำนักพิมพ์มติชน" จึงจัดทำหนังสือเอาใจเหล่านักวิ่งและผู้สนใจวิ่งว่าต้องเตรียมตัวกันอย่างไร โดยเชิญ "ครูดิน"สถาวร จันทร์ผ่องศรี เจ้าของเหรียญทองแดงประวัติศาสตร์วิ่งมาราธอนกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 13 เป็นนักวิ่งที่ได้รับรางวัลและเป็นที่ยอมรับนับถือกันในแวดวงการวิ่งของไทย ถ่ายทอดคำแนะนำดีๆ ในหนังสือ "วิ่งได้ไม่ใช่แค่ได้วิ่ง"


พร้อมกับเชิญชวนเหล่าบุคคลที่อยู่ในวงการ "การวิ่ง" มาแชร์ประสบการณ์การวิ่งครั้งแรกของตน วิ่งเพราะอะไร และได้อะไรจากการวิ่งบ้าง พร้อมแนะนำขั้นตอนการวิ่งในระยะเริ่มต้นสำหรับ ผู้ที่สนใจ


คนดังนั่งคุย เล่าประสบการณ์ 'วิ่งเปลี่ยนชีวิต' thaihealth


วิ่งเพราะ…อยากติดทีมชาติ


"ผมเริ่มต้นวิ่งมาตั้งแต่ 7 ขวบ และจริงจังกับการวิ่งเพราะอยากดัง อยากติดทีมชาติ"ครูดิน กล่าวถึงการเริ่มต้นวิ่งของตน จากเป็นเด็กบ้านนอกต้องดิ้นรนหาทางในเส้นทางนี้มาตั้งแต่ต้น


"ลงสนามแข่งครั้งแรกในชีวิต ผมได้ที่ 4 สิ่งที่เห็นในการแข่งครั้งนั้นไม่มีแบ่งเพศ อายุ ทุกคนแข่งได้ ในตอนนั้นที่ 1 ที่ 2 คือพี่ชาย ปกติคนไปแข่งวิ่งตอนนั้นจะมีนักวิ่ง กับนักมวย และคนบ้า หรือไม่ก็คนที่แก้บน ทำให้เห็นว่าใครก็วิ่งได้ หลังจากนั้นพี่ชายบอกว่าเข้ามาสู่วงการวิ่งจริงจังดีกว่า จึงพยายามพัฒนาตัวเองเข้าสู่การเป็นนักวิ่ง โดยเป็นตัวแทนของจังหวัดเข้าแข่งขันระดับนักเรียน กีฬาประเภทลู่ จนมาสู่วงการกีฬาในระดับประเทศ"


สำหรับนักวิ่งมือใหม่ ครูดินแนะนำการเตรียม ตัวว่า ขั้นตอนแรก ต้องพบแพทย์เพื่อตรวจดูความพร้อมของร่างกาย ต่อจากนั้นให้เริ่มวิ่งจากการ วางเป้าหมาย สั้นๆ ก่อน อาจจะวิ่งแบบ "Fun Run" เพื่อสร้างความมั่นใจให้ตนเอง เลือกสถานที่ ให้ปลอดภัย หาเพื่อน วิ่ง จะทำให้การวิ่งสนุกมากขึ้น อย่าลืมอุปกรณ์ที่จำเป็น ชุดวิ่งที่ใส่สบาย รองเท้าต้องเหมาะสมกับพื้นที่การวิ่ง การวางแผนเวลา เอาเวลาที่ว่างเป็นตัวตั้งก่อน


และท้ายสุดคือ การวางแผนการซ้อม ไม่ควรเร่งรีบ ไม่ใจร้อน คือสิ่งที่นักวิ่งมือใหม่ควรใส่ใจ


วิ่งเพราะ…เกิดคำถาม


"โย" ยศวดี หัสดีวิจิตร จากนางแบบผู้ผันตัวเองมาวิ่งอย่างจริงจัง พูดถึงจุดเริ่มต้นในการวิ่งของตน ทำให้เปลี่ยนจากนางแบบ มาสนใจการวิ่งจนก้าวเข้ามาสู่ "นักไตรกีฬา" อย่างเต็มตัวว่า เริ่มจากการได้ไปร่วมกิจกรรมการวิ่งมาราธอนระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เยอรมนี เป็นต้น


"การวิ่งของโย เป็นการสุ่มมากกว่า อยากจะรู้ว่าคนปัจจุบันทำอะไรมากที่สุด ผลคือ 'วิ่ง'"


ต่อมาเกิดคำถามว่าทำไมปัจจุบันคนจึงนิยมไปวิ่งกันขนาดนี้ วิ่งที่ไหน ทำไมกิจกรรมวิ่งจึงเกิดขึ้นมากมาย ครั้งแรกจึงลองไปวิ่งสวนลุม แต่เหนื่อยมาก เลยกลับมาตั้งต้นใหม่ โดยเริ่มต้นจากศูนย์


โยบอกว่า การวิ่งเป็นการเปิดโลกใบใหม่ให้กับตนเอง ได้รู้จักผู้คนหลากหลาย ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากการทำงานนางแบบ


การวิ่งคือเปลี่ยนความคิดและวิถีชีวิตของตนเอง คือการตื่นเช้า การซ้อม การมีระเบียบวินัย จนมาถึงขั้นที่ว่าลาออกจากงานที่ทำเพื่อมาทุ่มเทให้กับการวิ่งอย่างจริงจัง ตอนนั้นรู้สึกว่าตื่นมาเดินแบบรู้สึกเหนื่อย แต่พอตื่นมาวิ่งรู้สึกสดชื่นขึ้นมา ทำให้คิดว่าในชีวิตเกิดมาจะทำในสิ่งที่คิดว่าจะทำมันได้ ทำให้ดีไม่เสียเปล่า คิดว่าเลือกในสิ่งที่อยากจะทำให้ดีที่สุดดีกว่า จึงตัดสินใจว่าจะเป็นนักกีฬา


คนดังนั่งคุย เล่าประสบการณ์ 'วิ่งเปลี่ยนชีวิต' thaihealth


วิ่งเพราะ…สอบตกกรีฑา


อิทธิพล สมุทรทอง แอดมินเพจ "วิ่ง 42.195 k คลับ…เราจะไปมาราธอนด้วยกัน" และเป็นหนึ่งในทีมงาน "ก้าวคนละก้าว" ของพี่ตูน บอดี้สแลม เปิดเผยถึงการเข้าวงการวิ่งว่า มาจากการที่ตนเองสอบตกกรีฑาจึงหันมาสนใจการวิ่ง


"เริ่มจากสอบตกกรีฑา เป็นคนเดียวในห้องที่สอบตกกรีฑา จึงมาลองวิ่งที่สนามกีฬา ทีแรกเมื่อวิ่งรู้สึกไม่สนุก การวิ่งเป็นสิ่งน่าเบื่อ ยกเว้นเราจะมีเป้าหมาย จนมาสร้างกลุ่มใน Facebook 'วิ่ง 42.195 k คลับ…เราจะไปมาราธอนด้วยกัน' จุดประสงค์คือต้องการส่งแรงบันดาลใจให้คนค้นพบและส่งต่อให้คนอื่น ให้พวกเขารู้เป้าหมายที่ทำให้เขาอยากวิ่ง หาให้พบว่าวิ่งเพราะอะไรแล้วจะอยากวิ่งเอง อย่าวิ่งเพื่อออกกำลังกาย ให้ดูที่ใจของตัวเอง"


อิทธิพลบอก และสารภาพถึงความรู้สึกในการร่วมโครงการ "ก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ" กับ "พี่ตูน บอดี้สแลม" ว่า


"ช่วงตอนแรกผมคิดว่าผมเป็นผู้ให้ ปรากฏว่าผมกลายเป็นผู้รับมากกว่า ได้เจอประชาชน เจอผู้บริจาคที่ไม่ต้องการป่าวประกาศ ไม่ต้องการชื่อเสียงคำยกย่องใดๆ ทำให้รู้ว่าคนไทยน่ารัก โครงการนี้สำเร็จได้ด้วยประชาชนชาวไทย แต่เงินบริจาคไม่สำคัญเท่ากับวันนี้ทุกคนออกมาวิ่ง สนใจสุขภาพ และต้องการให้สุขภาพดีขึ้นช่วยลดภาระให้กับโรงพยาบาล"


วิ่งเพราะ…ครอบครัวและคนอื่น


ด้าน ทนงศักดิ์ ศุภการ นักแสดงผู้วิ่งอย่างจริงจังมากว่า 20 ปี เล่าว่า วิ่งมาตั้งแต่เด็กแต่ไม่ได้วิ่งเป็นเรื่องเป็นราว ส่วนใหญ่วิ่งเพราะเล่นกีฬา เช่น เตะฟุตบอล มาเริ่มวิ่งจริงจังตอนเป็นนักแสดง


"ส่วนตัวผมแล้วการวิ่งถือเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งในการเล่นกีฬาทุกประเภท เริ่มวิ่งจริงจังคือวิ่งเพื่อลูก ตอนนั้นโรงเรียนลูกจัดการแข่งขันกีฬาระหว่างครูและผู้ปกครอง ผมจึงเข้าร่วมเพราะอยากจะนำรางวัลที่หนึ่งมาให้ลูก พอเริ่มวิ่งจริงจังสังเกตคนอื่นทำไมวิ่งได้เร็วมาก ไม่มีเหนื่อย ขณะที่เราเหนื่อย จึงหันมาสนใจศึกษาการวิ่ง"


"หนังสือวิ่งสมัยก่อนมีน้อยมาก" ทนงศักดิ์บอก


แม้จะมาศึกษาการวิ่ง แต่หนังสือสำหรับการวิ่งยังมีน้อยมาก ทำให้ไม่ได้วิ่งอย่างจริงจังมากนัก ประจวบกับประสบอุบัติเหตุไฟฟ้าดูด และภรรยาเสียชีวิต ทำให้คิดได้ว่าการมีสุขภาพดีเป็นเรื่องสำคัญ


"ช่วงที่ภรรยารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯเพราะเป็นมะเร็ง สังเกตว่า ทางฝั่งจุฬาฯมีแต่คนป่วย ขณะที่ฝั่งตรงกันข้ามเมื่อมองไปทางสวนลุมมีแต่คนมาวิ่งเพื่อให้ร่างกายตนเองแข็งแรง จึงเริ่มวิ่งบ้าง และที่สำคัญอยากจุดประกายความคิดให้คนในสังคมรู้สึกว่าอย่าประมาท ต้องการออกมาสื่อสารให้คนในสังคมรับรู้ถึงความสำคัญของการดูแลรักษาสุขภาพ จึงก้าวเข้ามาทำงานร่วมกับทาง สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) หาภาคีเครือข่ายที่จะสนับสนุน ส่งต่อการมีสุขภาพดีให้กับประชาชน"


สำหรับหนังสือ "วิ่งได้ ไม่ใช่แค่ได้วิ่ง" นั้น ครูดินเปิดใจถึงสาเหตุของการตัดสินใจเขียนหนังสือเล่มนี้ว่า มาจากการมองตัวเองนับตั้งแต่มีวัตถุประสงค์อะไร อยากได้ผลลัพธ์อะไร ต้องเรียนรู้การวิ่งเพื่อไม่ให้ตนเองบาดเจ็บ และทำร้ายตนเอง


ที่สำคัญคือ อยากให้หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนคู่มือ เป็นองค์ความรู้ให้คนที่เริ่มวิ่งได้อ่าน เพื่อให้พื้นฐานสำหรับคนเริ่มคิดจะวิ่ง เพราะการวิ่งไม่ใช่เรื่องยาก

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ