‘คนกล้าคืนถิ่น’ พัฒนาบ้านเกิด

ที่มา : เว็บไซต์ปลุกพลังเปลี่ยนไทย


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ปลุกพลังเปลี่ยนไทย


'คนกล้าคืนถิ่น' พัฒนาบ้านเกิด thaihealth


เมื่อเมืองใหญ่ไม่ใช่คำตอบ ‘คนกล้าคืนถิ่น’ จึงอาสาพาคนกล้ากลับบ้าน พัฒนาถิ่นเกิด


จากการสำรวจ เราพบว่าคนไทยกว่า 40 ล้านคนเป็นมนุษย์เงินเดือน เมื่อเกษียณไปพวกเค้าจะต้องมีเงินเก็บอย่างน้อย 2 – 3 ล้านบาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเราถามต่อว่าคุณมีเงินเก็บตรงนี้พอไหม ส่วนมากตอบว่าไม่มี เพราะแค่ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็แทบไม่มีเงินเก็บแล้ว ไหนจะสิ่งของล่อตาล่อใจที่แข่งกันดึงเงินในกระเป๋าออกไปอีก” สิ่งเหล่านี้คือปัญหาของคนส่วนใหญ่ในประเทศที่ด็อกเตอร์สุมิทบอกว่า มันคือ “ระเบิดเวลา”


'คนกล้าคืนถิ่น' พัฒนาบ้านเกิด thaihealth


จากปัญหาข้างต้นทำให้ ด็อกเตอร์สุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการดำเนินโครงการ “คนกล้าคืนถิ่น” และทีมงานมองว่าถ้าจะแก้ปัญหานี้ต้องแก้ด้วย “การทำเกษตรกรรม” ที่เป็นรากฐานของประเทศ


แต่สิ่งที่คิดกับความเป็นจริงช่างแตกต่างกันเหลือเกิน เพราะคนชนบทที่อยู่ในวัยทำงานจำนวนมากเดินทางเข้ามาเป็นมนุษย์เงินเดือนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ปัจจุบันภาคเกษตรกรรมเหลือเพียงเด็กและคนชราที่ติดอยู่กับวงจรการใช้สารเคมีอันนำไปสู่การกู้หนี้ยืมสิน ทำให้ภายใน 20 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรกว่า 10 ล้านครัวเรือนได้ลดเหลือเพียง 6 ล้านครัวเรือนเท่านั้น ซึ่งสวนทางกับหนี้ที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทำเท่าไหร่ก็ไม่พอใช้ เพราะต้องเอาไปจ่ายดอกให้เจ้าหนี้หมด เลยเถิดไปถึงบางครอบครัวต้องขายที่นาทำกินแล้วเช่าต่อจากนายทุนเพื่อมาทำนา แต่ตัวเองกลับไปซื้อข้าวกิน…


คนกล้าคืนถิ่น พาดินคืนบ้าน


“เราต้องการพาคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่กลับมาเติมพลังชีวิตให้ชุมชน ทำชุมชนให้มีชีวิตชีวาไปพร้อมๆ กับการทำเกษตรกรรม เพราะเกษตรกรรมนี่แหละคือทางออกของประเทศ เราต้องทำให้ทุกคนรู้ว่าเป็นเกษตรกรก็สามารถรวยได้ เกษตรกรมันต้องไม่จน และเมื่อคนส่วนมากเห็นแล้วว่า เออเป็นเกษตรกรก็รวยได้นะ ทีนี้มันจะเริ่มเกิดเป็นแรงดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ๆ เก่งๆ มาเป็นเกษตรกรกัน กลับมาช่วยกันทำให้รากฐานของประเทศเราแข็งแรง”


คือหนึ่งในแนวคิดของโครงการคนกล้าคืนถิ่นที่เกิดจากความร่วมมือขององค์กรภาครัฐและเอกชนกว่า 20 องค์กรที่มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือต้องการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ให้กลับไปเติมเต็มช่องว่างของชนบทด้วยการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืนแล้วช่วยกันขับเคลื่อนสังคมให้มั่นคงต่อไป


'คนกล้าคืนถิ่น' พัฒนาบ้านเกิด thaihealth


คนกล้ารุ่นแรก


เริ่มแรกนั้นโครงการคนกล้าคืนถิ่นเปิดรับสมัคร “คนกล้ารุ่นแรก” ทาง Social media ได้กว่า 1 พันคน แต่เมื่อผ่านการคัดเลือกแล้วจึงเหลือคนกล้าทั้งหมด 780 คนเพื่อไปอบรมเติมเต็มความรู้กับกลุ่มองค์ความรู้ทั่วประเทศ อาทิ คุณโจน จันได อาจารย์ยักษ์ และปราชญ์ชาวบ้าน นอกจากความรู้แล้ว แรงบันดาลใจคือสิ่งสำคัญ โครงการจึงเปิดพื้นที่ให้คนกล้ารุ่นแรกได้พูดคุยกับกลุ่มคนกล้ารุ่นก่อนที่โครงการจะเกิดว่า “ทำไมถึงกล้าลาออกจากงานประจำแล้วกลับไปเป็นเกษตรกร เมื่อเป็นเกษตรกรแล้วเจอปัญหาอะไรบ้าง แก้อย่างไร” และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “มิตรภาพ” ระหว่างเหล่าคนกล้าด้วยกัน ซึ่งมิตรภาพนี้ภายหลังได้กลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดึงเหล่าคนกล้าที่ท้อหรือหมดกำลังใจให้กลับมาอยู่บนเส้นทางของตัวเองอีกครั้ง


เมื่อคนกล้ากลับบ้าน


เมื่อผ่านการอบรมแล้ว ขั้นตอนต่อไปของเหล่าคนกล้าคือการลงมือทำบนพื้นที่จริงเป็นระยะเวลา 5 เดือน โดยมีทีมพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษา ซึ่งหลังจากผ่านมาครึ่งทาง คนกล้าหลายคนเชื่อว่าตัวเองมาถูกทางสามารถทำต่อได้ หลายคนสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมที่อยู่ด้วยการทำให้ชาวบ้านในบริเวณนั้นเห็นว่าการทำเกษตรอินทรีย์สามารถทำได้และมีรายได้เข้ามาจริงๆ เมื่อชาวบ้านเห็นตัวอย่างแล้ว พวกเขาจึงเริ่มกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีเกษตรของตัวเอง จากการใช้สารเคมีก็ค่อยๆ ลดลงจนกระทั่งเลิกใช้ในที่สุด แต่ก็มีคนกล้าจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ครอบครัวไม่สนับสนุนให้กลับบ้านมาเป็นเกษตรกร…


'คนกล้าคืนถิ่น' พัฒนาบ้านเกิด thaihealth


“มีคนกล้าจำนวนมากที่ครอบครัวไม่สนับสนุนในสิ่งที่พวกเขาทำ หลายคนโดนครอบครัวไล่ให้กลับไปทำงานในเมืองทุกวัน บางคนหนักขนาดที่ว่าเมื่อลูกปลูกอะไรก็ตาม วันต่อมาพ่อจะถอนทิ้ง จะทำทุกอย่างให้ลูกกลับไปทำงานในเมือง…”   เมื่อเจอกับสถานการณ์เหล่านี้บ่อยๆ ทำให้พวกเขาเริ่มหมดกำลังใจและคิดที่จะกลับไปทำงานในเมืองจริงๆ แต่ทุกครั้งก่อนจะกลับ กลุ่มคนกล้าที่ผ่านการอบรมมาด้วยกัน เมื่อรู้ข่าวต่างก็พากันเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อมาอธิบายถึงสิ่งที่พวกเขากำลังทำว่า “มันคือทางออกของประเทศนี้” และขอเวลาให้เพื่อนพิสูจน์ตัวเองกับครอบครัว เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งที่เหล่าคนกล้าทำเริ่มเห็นผล ทำให้ครอบครัวเกิดการยอมรับในตัวพวกเขา จากพ่อที่คอยถอนต้นไม้ของลูกทุกวันกลายเป็นพ่อที่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อมาแย่งลูกปลูกต้นไม้ แย่งลูกเก็บผลผลิต และนำความสำเร็จของลูกไปอวดเพื่อนบ้านอย่างภาคภูมิใจ


ก้าวต่อไปของคนกล้า


ระยะเวลากว่า 5 เดือนที่เหล่าคนกล้าลาออกจากการเป็นมนุษย์เงินเดือนมาเป็นเกษตรกรนั้น นอกจากความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกรแล้ว เป้าหมายต่อไปของพวกเขาคือการเป็น Change Agent หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่นำประสบการณ์จริงจากการลงมือทำด้วยตัวเองไปต่อยอดสร้างการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมต่อไปเพื่อให้สังคมเล็กๆ ที่ตัวเองอยู่สามารถพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคั่ง มั่นคง และยั่งยืนต่อไป


 

Shares:
QR Code :
QR Code