ข้าว 5 สี 5 พันธุ์ข้าวหอม

          โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง    มูลนิธิสุขภาพไทย  จัดแสดงข้าว 5 สี 5 พันธุ์ข้าวหอม ในงานมหกรรมอาหารและสุขภาพวิถีไท   ที่ฮอลล์ 8 อิมแพ็กเมืองทองธานี วันที่ 24-27 กรกฎาคม 2557 นี้


   /data/content/25091/cms/e_bcfgnrstu126.jpg       ประโยคคุ้นหูว่า "คนไทยกินข้าวเป็นอาหารหลัก" ยังเป็นความจริง แม้บางวันเปลี่ยนไปกินอาหารเส้น เช่น ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน เป็นการเปลี่ยนรสชาติอาหารบ้าง แต่ก็ต้องมีสักมื้อใน 1 วัน หันกลับมากินข้าวให้อยู่ท้อง


          ยิ่งเพื่อนๆ ในถิ่นอีสานและล้านนา ต้องกินข้าวนึ่งหรือข้าวเหนียว ไม่เช่นนั้นเหมือนร่างกายไม่มีแรง


          แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปมากในสังคมไทย คือ พันธุ์ข้าว ทั้งคนกินและคนปลูก รู้จักกินและเหลือพันธุ์ให้ปลูกไม่กี่สายพันธุ์ ทั้งๆ ที่ชาวนาไทยแต่เดิมจะปลูกพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในชุมชนตนเองอย่างน้อย 5 สายพันธุ์ และในแต่ละท้องถิ่นก็ยังมีการปลูกอีกไม่น้อยกว่า 20 สายพันธุ์ ตามสภาพผืนนาแต่ละแห่ง ข้าวพื้นเมืองแข็งแรงทนทานต่อศัตรูพืชไม่ต้องใช้ยาเคมี และรับมือกับน้ำท่วมฝนแล้งได้


          ประมาณกันว่าชาวนาไทยรู้จักปลูกพันธุ์ข้าวนำมากินนำมาใช้ประโยชน์มากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่วันนี้ผู้บริโภครู้จักและปลูกป้อนตลาดแค่ 10 กว่าสายพันธุ์เท่านั้น คนกินหรือผู้บริโภคมักจะถูกการตลาดเลือกให้กิน เดินไปห้างและร้านสะดวกซื้อ ก็จะพบข้าววางขายไม่กี่สายพันธุ์ แม้จะบอกว่าคัดเลือกพันธุ์ที่หอมนุ่มอร่อยไว้ให้ แต่คนจำนวนมากจึงไม่มีโอกาสเคยลิ้มชิมรสโอชะของข้าวพันธุ์พื้นเองอื่นๆ ที่หอมนุ่มอร่อย ทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว


          เหตุนี้ เครือข่ายความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพ รณรงค์และส่งเสริมการหันกลับมาปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง นอกจากรักษาสายพันธุ์และช่วยให้เกิดการพัฒนาสายพันธุ์พื้นเมืองแล้ว ข้าวพื้นเมืองทนทานต่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและมีคุณค่าโภชนาการดีกว่าที่คิด


          การศึกษาของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน พบว่า ข้าวพื้นบ้านอินทรีย์ มีสารต้านอนุมูลอิสระในระดับสูง โดยเฉพาะข้าวพื้นบ้านสีเข้ม เช่น หอมมะลิแดง ข้าวก่ำ ข้าวเหนียวแดง ฯลฯ มีสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระที่คำนวณได้นี้มีมากกว่าผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ราสเบอรี่ พรุน แบล็กเบอรี่ บลูเบอรี่ เชอรี่ ฯลฯ


          ข้าวพื้นบ้านที่มีประโยชน์ไม่ได้มีเพียงสีเดียว ข้าวมีถึง 5 สี เพราะความแตกต่างของพันธุ์ข้าวทำให้มีสีของ/data/content/25091/cms/e_dghlrvx12569.jpgเนื้อเยื่อหุ้มข้าวแตกต่างกัน เช่น ถ้าเป็นสายพันธุ์ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุม เมื่อกะเทาะเปลือกออกจะเห็นเนื้อในสีขาวสดๆ ตามธรรมชาติ


          แต่ถ้าเป็นข้าวสีอื่น มีสีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงสีแดงอ่อนๆ เช่น สังข์หยดเมื่อกะเทาะเปลือกข้าวออกจะเป็นสีออกแดงถึงน้ำตาลเข้ม บางสายพันธุ์ที่มีสีเข้มออกแดงชัดเจนหรือค่อนไปทางดำก็มี ข้าวสีมีคุณค่าทางอาหารและยามากกว่าข้าวขาว เพราะพบว่าทั้งสีดำ สีแดง สีม่วงเหล่านี้เกิดจากสารให้สีที่มีชื่อว่าแอนโธไซยานิน ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยในการหมุนเวียนของกระแสโลหิต และชะลอความเสื่อม


  • ข้าวสีแดง รู้จักกันทั่วไป คือ ข้าวมะลิแดง เป็นพันธุ์ข้าวเจ้ากะเทาะเปลือกข้าวออกมาเป็นสีแดง
  • ข้าวสีเหลืองเข้มหรือออกน้ำตาล เช่น พันธุ์ข้าวเจ้าเหลือง
  • ข้าวสีเหลือง (อ่อน) เช่น พันธุ์ ข้าวหอมปทุม เป็นข้าวเจ้าที่เรารู้จักกินกัน
  • ข้าวขาวหรือสีขาว เช่น ข้าวปิ่นแก้ว นอกจากข้าวมีสีมีคุณค่าทางอาหารและยาแล้ว ความหอมของข้าวยังมีอยู่ในสายพันธุ์พื้นบ้านอีกด้วย ซึ่งคนทั่วไปมักรู้จักแต่ข้าวหอมมะลิ 105 จึงขอแนะนำให้รู้จักพันธุ์ข้าวหอมชนิดพื้นบ้าน สัก 2 พันธุ์ เริ่มจากพันธุ์ข้าวเหนียว ชื่อ ข้าวหอมกอเดียว มีความหอมมาก ให้ผลผลิตสูง เมล็ดใหญ่ สวยและยาว ขณะนี้นิยมปลูกในพื้นที่ อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ และใช้ในงานบุญออกพรรษาของชาวภูไท จ.กาฬสินธุ์


          สำหรับพันธุ์ข้าวเจ้า ขอแนะนำ ข้าวหอมนครชัยศรี ถือเป็นข้าวพันธุ์พื้นถิ่นโบราณของทุ่งนครชัยศรี แต่ได้สูญหายไปจากท้องทุ่งราว 40 ปี แต่ขณะนี้ชาวบ้านชุมชนคลองโยง-ลานตากฟ้า อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม กำลังปลูกขยายพันธุ์ในพื้นถิ่นนครชัยศรีอีกครั้งหนึ่ง


          กล่าวถึงข้าวมาทั้งหมดนี้ ไม่เท่าไปเห็นด้วยตา และชิมข้าวหอมอีกหลายสายพันธุ์ เช่น ข้าวหอมมะลิใบเตย ที่กินแล้วหอมกลิ่นใบเตยอย่างไม่น่าเชื่อ ขอเชิญชวนทุกท่านมาชมใน "มหกรรมอาหารและสุขภาพวิถีไท" ที่รวมกลุ่มเกษตรกร หมอพื้นบ้าน นักวิชาการต่างๆ มานำเสนอความรู้ สาธิต และฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ที่ฮอลล์ 8 อิมแพ็กเมืองทองธานี วันที่ 24-27 กรกฎาคม 2557 นี้ ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด


 


 


        ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ 


        ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code