ข้าว : วัฒนธรรม วิถีชีวิต และภูมิปัญญา
ศาสตร์และศิลป์แห่งการใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมข้าวที่รวมเอาวิถีชีวิต ภูมิปัญญา วัฒนธรรมของคนทำเกษตรกรรมเข้าไว้ด้วยกัน
หากเรามองย้อนกลับไปในอดีต จะเห็นถึงความผูกพันหว่างคนไทยกับข้าวที่มีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน นอกจากจะเป็นอาหารแล้ว ยังเกี่ยวเนื่องกับมิติด้านอื่นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการทำกสิกรรมโดยตรง เช่น การสู่ขวัญแม่โพสพ พิธีแรกนา เลี้ยงผีไร่(ข้าว) การเสี่ยงทายขอฝน เป็นต้น หรือสอดแทรกอยู่วิถีชีวิตประจำวันอย่างงานบุญของพื้นที่ต่างๆซึ่งมีการนำข้าวมาแปรรูปเป็นขนมตามความเหมาะสมของแต่ละช่วงฤดูกาล
หน้าหนาวของภาคอีสานจะมีงานบุญอย่างบุญข้าวจี่ มีการทำข้าวโป่ง นั่งผิงไฟพร้อมกับนำข้าวเหนียวมาทาไข่ โรยเกลือ จี่หอมๆ หรือนำข้าวโป่งมาย่างไฟ พร้อมหน้าผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัว เล่านิทานก้อมก็สามารถสร้างความอบอุ่นให้ได้เป็นอย่างดี หรืออย่างข้าวต้มลูกโยนในแถบภาคกลางและภาคใต้ช่วงออกพรรษาที่ช่วยให้สะดวกต่อการใส่บาตร ไปจนถึงการทิ่มเม่าในช่วงก่อนเก็บเกี่ยวที่ช่วยให้ได้มีขนมอร่อยกันร่วมกัน
ข้าวจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยยึดโยงผู้คนในสังคมเข้าด้วยกันซึ่ง หากเรามองถึงการแปรรูปเป็นอาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขนม เครื่องดื่ม ยารักษาโรค ไปจนถึงเครื่องประทินความงามล้วนมาจากกระบวนการค้นคิดและภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อน ผนวกรวมกับองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และกระบวนการศึกษา ทดลอง วิจัย เพื่อเพิ่มคุณค่าให้เป็นที่ประจักษ์มากยิ่งขึ้น
การแปรรูปข้าวจึงถือได้ว่าเป็นศาสตร์และศิลป์ที่คงคุณค่าต่อการศึกษาเรียนรู้ อันจะช่วยฟื้นฟูภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวนา ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและคืนมิติความสัมพันธ์ของคนในชุมชน แม้อาจจะถึงกับเห็นบรรยากาศของครอบครัวสมัยก่อนในยามทำขนม จากที่ลูกเล็กเด็กแดงเคยวิ่งเล่นอยู่ไกลๆ เริ่มเปลี่ยนมาเป็นด้อมๆ มองๆ อยู่ไม่ห่าง หนุ่มๆ ช่วยกันขูดมะพร้าว ก่อไฟ ส่วนสาวๆ โม่แป้ง เจียดใบตอง เพื่อห่อขนม ยิ่งถ้าน้ำในกระทะเริ่มเดือด ขนมเริ่มสงกลิ่นหอมออกมาเมื่อใด เป็นสัญญาณกลายๆ ให้เหล่าบรรดาจอมซนตัวน้อยๆ จะหยุดเล่นไปโดยปริยาย มาล้อมวงเพื่อชิมขนมที่นานๆ ครั้งจะมีโอกาสได้ลิ้มลอง
จึงเกิดเป็นการรวมรวมองค์ความรู้ที่เกิดจากการแปรรูปข้าวทั้งในมิติของภูมิปัญญาดั้งเดิม และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้เห็นว่าแท้จริงแล้วข้าวและชาวนานั้นอยู่ในทุกมิติของสังคม
ที่มา: มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน