ข้อแพลง

ที่มา: มูลนิธิหมอชาวบ้าน


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ข้อแพลง thaihealth


ข้อแพลง มักเกิดจากการได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เช่น เดินข้อพลิก ข้อบิด หรือสะดุด หกล้ม เป็นภาวะที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง สามารถให้การดูแลรักษาด้วยตนเองได้ ซึ่งมักจะหายได้เองภายใน ๓-๔ สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ถ้าดูแล ๒-๓ วันแล้วไม่ทุเลา หรือมีอาการปวดรุนแรง หรือสงสัยเกิดจากสาเหตุอื่นควรรีบไปปรึกษาหมอที่อยู่ใกล้บ้าน


การดูแลตนเอง


๑. พักการใช้ข้อที่แพลง กล่าวคือ ให้ข้อนั้นอยู่นิ่งๆ ขยับเขยื้อนให้น้อยที่สุด ถ้าเป็นที่ข้อเท้าแพลงก็พยายามหลีกเลี่ยงการเดิน หรือยืนด้วยเท้าข้างที่บาดเจ็บ และยกให้สูง (เวลานอนก็ใช้หมอนรองให้สูง หรือเวลานั่งควรยกเท้าวางบนโต๊ะหรือเก้าอี้อีกตัวหนึ่ง อย่าห้อยเท้าลง


ถ้าข้อมือแพลง ควรยกข้อมือให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจ โดยใช้ผ้าคล้องคอ และอย่าใช้ข้อมือข้างนั้น


๒. ในกรณีที่เพิ่งได้รับบาดเจ็บในระยะ ๔๘ ชั่วโมงแรก ให้ประคบด้วยน้ำแข็งหรือน้ำเย็น (ถ้าเป็นที่ข้อเท้า อาจใช้เท้าแช่ในน้ำเย็น) นาน ๑๕-๓๐ นาที วันละ ๓-๔ ครั้ง เพื่อลดอาการบวมและปวด


๓. ถ้าปวดมาก ให้กินยาพาราเซตามอลบรรเทา


๔. ในระยะหลังบาดเจ็บ ๔๘ ชั่วโมงไปแล้ว หรือเมื่อข้อบวมเต็มที่แล้ว ให้ประคบด้วยน้ำอุ่นจัดๆ นาน ๑๕-๓๐ นาที วันละ ๓-๔ ครั้ง เพื่อลดอาการอักเสบ อาจใช้ขี้ผึ้ง น้ำมันระกำ ยาหม่องหรือเจลทาแก้ข้ออักเสบ ทานวด


๕. ถ้าเป็นมากจนเคลื่อนไหวข้อนั้นไม่ได้เลย หรือสงสัยกระดูกแตกร้าว หรือเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อขาด หรือดูแลตนเอง ๒-๓ วันแล้วไม่รู้สึกดีขึ้นให้รีบไปหาหมอ


การป้องกัน


๑. หมั่นบริหารข้อต่างๆ ด้วยวิธียืดเหยียดข้อต่างๆ เป็นประจำ


๒. ป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ เช่น อย่าเดินบนพื้นผิวขรุขระ หรือในที่มืดสลัว หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง การสวมใส่รองเท้าที่กระชับพอเหมาะ

Shares:
QR Code :
QR Code