ข้อเท็จจริง “ไข้กาฬหลังแอ่น” 12 ข้อ
แนะ 12 ข้อควรรู้ 'ไข้กาฬหลังแอ่น' เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ไม่แข็งแรง เมื่อออกมาจากร่างกายค สู่อากาศภายนอกได้ไม่นานก็จะตายไปเองภายใน 5 นาที โดยเฉพาะในสภาพอากาศร้อนของเมืองไทย
เมื่อวันที่ 9 มี.ค. เวลา 10.15 น. นายอนุกูล ตังคณานุกูลชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมด้วย นายแพทย์ประสิทธิ์ คงเคารพธรรม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา นพ.วีระศักดิ์ อนุตรอังกูร ผอ.รพ.พุทธโสธร (เมืองฉะเชิงเทรา) นายแพทย์สมชาย แก้วเขียว รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์ นพ.วัฒนา อารีย์หัวหน้ากลุ่มงานอายุรกรรม รพ.พุทธโสธร และ นพ.โชคชัย สาครพานิช นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
โดยทั้งหมดได้ร่วมกัน แถลงข่าวถึงผลการส่งตรวจพิสูจน์สารคัดหลั่ง จากหญิงชาวกัมพูชาที่เสียชีวิตลง ด้วยโรคไข้กาฬหลังแอ่น เมื่อวันที่ 4 มี.ค.58 ที่ผ่านมาระหว่างเข้ามาทำการรักษา ยังที่ รพ.พุทธโสธร ภายในห้องทำงานผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา อาคารศาลากลางจังหวัดชั้น 4 ว่า จากการที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง จากผู้ป่วยรายที่เสียชีวิต และได้ส่งไปทำการเพาะเชื้อตรวจพิสูจน์ยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลที่ออกมาสามารถยืนยันได้แล้วว่า เชื้อที่พบนั้น เป็นเชื้อแบคทีเรียของโรคไข้กาฬหลังแอ่นจริง
โดยเป็นชนิดไทป์บี (Type B) ซึ่งเป็นเชื้อที่เคยตรวจพบมากที่สุดในประเทศไทย เป็นส่วนมากถึงร้อยละ 50 เปอร์เซ็นต์ และไม่ใช่เชื้อสายพันธุ์ที่พบในแถบแอฟริกา หรือตะวันออกกลาง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไทป์เอ ไทป์ดี ไทป์วาย และไทป์ดับเบิ้ลยู จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยังถือว่า ไม่ใช่เป็นการระบาดของโรค แต่เป็นเพียงการพบผู้ป่วยเฉพาะรายเท่านั้น ประชาชนจึงไม่ควรตื่นตระหนก หรือหวาดกลัวกันมากจนเกินไป ซึ่งโรคดังกล่าวนี้ เป็นเพียงโรคเก่าที่เคยพบมีผู้ป่วยในอดีตมานานแล้ว และมียารักษาให้หายขาดได้
ส่วนในข้อกังวลเกี่ยวกับประวัติของผู้ป่วย ที่เคยขายคอหมูย่างให้แก่บุคคลทั่วไป ได้ซื้อไปรับประทาน ตามตลาดนัดในช่วงที่ผ่านมานั้น ขอชี้แจงว่า เชื้อชนิดนี้เป็นแบคทีเรียที่ไม่แข็งแรง เมื่อออกมาจากร่างกายคน สู่อากาศภายนอกได้ไม่นานก็จะตายไปเองภายใน 5 นาที โดยเฉพาะในสภาพอากาศร้อนของเมืองไทย จะยิ่งทำให้เชื้อตัวนี้ตายได้ง่าย โดยผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ได้เข้าไปสัมผัสกับผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเท่านั้น เช่น การสัมผัสกับร่างกายของผู้ป่วย รับประทานอาหารร่วมกันใช้ช้อนร่วมกัน หรือดื่มน้ำแก้วเดียวกัน และไอจามรดใส่กันเท่านั้น นายอนุกูล พร้อมคณะแพทย์ระบุ
พร้อมกันนี้กระทรวงฯได้ขี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคไข้กาฬหลังแอ่น ดังนี้ 1. ไข้กาฬหลังแอ่นเป็นโรคติดต่อที่มีมานานแล้ว เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย N.meningiditis 2. โรคนี้ติดต่อจากคนสู่คนโดยการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย สัมผัสเสมหะน้ำมูกน้ำลายผู้ป่วย 3. ระยะฟักตัว 2-4 วัน นานสุด 11 วัน 4. อาการ มีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียนมีรอยผื่นเลือดออกใต้ผิวหนัง ชักหมดสติ อาการแบบติดเชื้อในกระแสเลือดและอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ 5. รักษาโดยการให้ยาฆ่าเชื้อ 6. มีรายงานในต่างประเทศว่า ผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ปรากฏอาการ สามารถตรวจพบเชื้อนี้ในทางเดินหายใจส่วนต้นร้อยละ 5-10
7. ประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังโรคนี้มานานแล้ว โดยพบผู้ป่วยประมาณปีละ30 คน แต่ใน 5 ปีหลังมานี้พบผู้ป่วยน้อยกว่า 20 รายเสียชีวิตประมาณ 2 ราย ผู้ป่วยมีลักษณะกระจายในพื้นที่และไม่มีฤดูกาลที่ชัดเจน 8. ปัจจัยที่ทำให้ป่วย ได้แก่ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ ความเครียด สุขอนามัยไม่ดี อยู่ในที่แออัด เช่น ค่ายทหาร เรือนจำที่แออัด เช่นเคยเกิดการระบาดในผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ที่ซาอุดิอารเบีย 9. คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป ได้แก่ ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ ผู้ที่มีอาการไอเมื่อต้องอยู่ในที่สาธารณะต้องใส่หน้ากากป้องกันไม่ให้โรคแพร่สู่คนอื่นๆ
10. คำแนะนำสำหรับเจ้าหน้าที่ ได้แก่ หากพบผู้ป่วยที่สงสัยโรคไข้กาฬหลังแอ่น ให้ยาปฏิชีวนะทันที โดยไม่ต้องรอผลเพาะเชื้อ ผู้สัมผัสผู้ป่วยใกล้ชิดเช่น ใส่ท่อช่วยหายใจผู้ป่วย ให้ยา ciprofloxacin เจ้าหน้าที่อื่นๆ หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นให้เฝ้าระวัง จนพ้นระยะฟักตัวของโรค 11. โรคไข้กาฬหลังแอ่น แม้จะมีรายงานในประเทศไทยจริง เป็นหญิงกัมพูชา 1 ราย มีปัจจัยเสี่ยง คือ ภาวะเครียดและได้รับเชื้อ และไม่เกิดการระบาด เพราะติดต่อยาก ยกเว้นคนใกล้ชิด ขณะนี้สำนักงานสาธารณสุขฉะเชิงเทรา ได้ดำเนินการควบคุมโรค เฝ้าระวังผู้สัมผัสอย่างใกล้ชิด และ ให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่ ประชาชนทั่วไปไม่ต้องกังวล
12. หากสงสัยเจ็บป่วย เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน มีรอยผื่นเลือดออกใต้ผิวหนัง สงสัยสัมผัสผู้ป่วย ให้ไปพบแพทย์ ปะชาชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต