ข้อเข่าเสื่อม ใกล้ตัวกว่าที่คิด
ที่มา : SOOK Magazine No.72
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
หลายคนอาจเข้าใจว่าข้อเข่าเสื่อมเป็นเรื่องของผู้สูงอายุ แต่ความจริงแล้วข้อเข่าเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่วัยรุ่นหรือวัยทำงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดความเจ็บปวด ข้อเข่าฝืด ผิดรูป
รู้ทันข้อเข่าเสื่อม
ข้อเข่าเสื่อมเกิดขึ้นได้จากการใช้งานข้อเข่ามากเกินไป ทำให้กระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่าเสียดสีกันจนเกิดการเสื่อมและสึกกร่อนของกระดูกอ่อนผิวข้อจนมีอาการปวดเข่า มักเกิดขึ้นจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่มีการใช้งาน ข้อเข่ามากเกินไปและอายุที่เพิ่มมากขึ้นมีผลทำให้เกิดความเสื่อมของข้อเข่า
รู้หรือไม่ผู้หญิงมีโอกาสเป็น ข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าผู้ชาย
ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนมีโอกาสเป็นข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า เพราะความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่น้อยกว่า และมวลกระดูกที่หายไปอย่างรวดเร็ว เมื่อมีแรงกระแทกจึงส่งผลต่อข้อเข่าได้โดยตรง จนเกิดการเสื่อมขึ้นได้
ใครบ้างมีความเสี่ยง
1. ผู้ที่มีน้ำหนักมาก เพราะน้ำหนักที่มากทำให้ข้อต่อต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อเข่าต้องรับภาระในการแบกน้ำหนัก ส่งผล ให้ข้อเข่าเกิดการเสียดสีและสึกกร่อนได้ง่าย
2. ผู้ที่ชอบใส่รองเท้าส้นสูง ทำให้น้ำหนักลงที่เขามากกว่าปกติ เมื่อใส่บ่อย ๆ ทำให้ข้อเสื่อมได้ง่าย
3. ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจากอุบัติเหตุหรือการเล่นกีฬา เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการข้อเข่าเสื่อมในวัยหนุ่มสาว แม้จะรักษาอาการบาดเจ็บนั้นได้ก็อาจส่งผลเรื้อรังจนทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อม
4. ผู้ที่มีกรรมพันธุ์ เช่น มีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคดังกล่าว หรือกรรมพันธุ์ที่ทำให้กระดูกไม่แข็งเป็นต้น ซึ่งปัจจุบันนักวิจัยค้นพบแล้วว่า ผู้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมถูกกำหนดมาแล้วด้วยพันธุกรรมถึง 60%
5. ผู้ที่มีข้ออักเสบอื่น ๆ การป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับข้อต่อของร่างกาย เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเกาต์ อาจส่งผลให้เกิดการทำลายข้อต่อจนเกิดเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้
6. ผู้ที่มีอายุ 40 ปี ความเสี่ยงของโรคจะเพิ่มมากขึ้น เพราะความเสื่อมของร่างกายเริ่มมาเยือน
เจ็บแบบนี้คือข้อเข่าเสื่อม
1. ข้อยึด ข้อฝืด ยึดงอขาออกได้ไม่สุดในบางครั้ง
2. ปวดบวมบริเวณข้อเข่า โดยเฉพาะในช่วงที่ใช้งานอย่างการยืน เดิน วิ่ง อาการจะลดลงเมื่อได้พัก
3. เวลาขยับหรือเคลื่อนไหว จะมีเสียงเสียดสีกันของข้อให้ได้ยิน
4. เวลายืน เดิน จะไม่มั่นคง จากการที่ข้อเสียดสีจนสึกและหลวม
5. ในผู้ป่วยบางรายกล้ามเนื้อรอบ ๆ อาจลีบเล็กลง และข้อผิดรูปจนขาโก่งได้
เลื่อมแล้วต้องรักษา
ปัจจุบันข้อเข่าเสื่อมแม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยไม่ต้องผ่าตัด แต่ผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการหรือมีอาการไม่มาก การรักษาจึงเป็นเพื่อลดอาการบาดเจ็บและทำให้ใช้ชีวิตประจำวันไม่ลำบาก โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ บางรายอาจเพียงให้ยาลดอาการปวดบวมหรือลดการอักเสบ แต่บางรายก็อาจต้องฉีดยาเพื่อให้ข้อเข่าหล่อลื่นไม่ติดขัด เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ
ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ได้รับการรักษาโดยรับประทานยาบรรเทาปวด ยาลดการอักเสบเอ็นและข้อ การรับประทานยาบำรุง ผิวข้อกระดูก รวมไปถึงการฉีดยาน้ำเลี้ยงไขข้อเข่า ยาฉีดสเตียรอยด์ และ การกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นการรักษาโดยไม่ใช้ยาและไม่ผ่าตัดที่สำคัญ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ลดอาการปวด เพิ่มองศาการขยับของข้อแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น อาจต้องพึ่งพาการผ่าตัดเพื่อเป็นทางออก สุดท้าย โดยผ่าตัดเปลี่ยนใส่ข้อเข่าเทียมทดแทนผิวข้อเข่าเดิมที่สึก ไม่เรียบ ขรุขระผิดรูป และการผ่าตัดปรับแต่งเปลี่ยนแนวกระดูกข้อเข่าที่ผิดรูป โก่ง ขึ้นอยู่กับความผิดปกติ ความรุนแรงของข้อเข่าที่เสื่อม เป็นต้น
ดูแลเข่าไม่ให้เสื่อมกว่าเดิม หากข้อเข่าเสื่อม การดูแลตัวเองคือสิ่งสำคัญ สามารถทำได้ดังนี้
1. ควบคุมน้ำหนัก ช่วยลดภาระในการแบกน้ำหนักของข้อเข่าให้ไม่ต้องทำงานหนัก
2. ออกกำลังลดแรงกระแทก การออกกำลังกายจะช่วยสร้างกล้ามเนื้อรับน้ำหนักและยืดหยุ่นได้ดีขึ้น แต่ ต้องเป็นการออกกำลังกายแบบที่ไม่มีแรงกระแทก เช่น โยคะ ว่ายน้ำ หรือออกกำลังกายในน้ำ
3. ประคบ ใช้ได้ทั้งการประคบร้อนและประคบเย็น โดยในช่วง 24 ชั่วโมงแรกให้ประคบเย็นเพื่อลดการบวมของ ข้อเข่า หลังจากนั้นหากยังปวดอยู่ให้ใช้การประคบร้อนเพื่อลดอาการปวด
4. ที่เสริมรองเท้าเพื่อสุขภาพ ช่วยลดแรงกดทับรองรับน้ำหนักที่หัวเข่าได้ดี ทำให้อาการปวดขณะเดินหรือยืนน้อยลงได้
เพราะฉะนั้นเรามาใส่ใจดูแลและป้องกันข้อเข่าเสื่อมกันดีกว่า จะได้ช่วยให้ข้อเข่าของเราแข็งแรงไปอีกนาน