ข้อมูลฉลาก อาหารปลอดภัยสกัดโรคเรื้อรัง
ที่มา : เว็บไซต์ไทยโพสต์
แฟ้มวภาพ
อย.เดินหน้าโครงการอาหารปลอดภัย เผยปี 2560 ลงพื้นที่เข้าถึงกลุ่มชุมชน ประเดิมที่จังหวัดเชียงรายและชลบุรี หวังให้ชุมชนห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลบนฉลาก ทั้งสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ”
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวการดำเนินงานโครงการอาหารปลอดภัย ปี 2560 โดย นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีพลังงานไขมัน โซเดียม และน้ำตาลสูง ประกอบกับมีการบริโภคผักผลไม้ลดลง และไม่ออกกำลังกาย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไตวายเรื้อรัง หังใจและหลอดเลือด ฯลฯ โดยในประเทศไทยมีแนวโน้มของการเกิดโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นสูงมาก จากการรายงานในปี 2556 พบว่าเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึง 349,090 ราย หรือร้อยละ 75 ของการเสียชีวิตของประชาชนไทย
ดังนั้น โครงการอาหารปลอดภัย ปี 2560 จึงมุ่งเน้นให้มีการอ่านและใช้ประโยชน์จากข้อมูลบนฉลาก เช่น สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” หรือ Healthier Choice ซึ่งเป็นวิธีที่ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์และเป็นทางเลือกในการเลือกอาหาร โดยขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 6 กลุ่ม จำนวน 200 รายการ ได้มีการติดฉลากในผลิตภัณฑ์แล้ว ได้มีการรณรงค์โดยเริ่มจากการติดในรถโดยสารประจำทางและสื่อโทรทัศน์ต่างๆ
นพ.พูลลาภกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ อย.ได้ผลิตสื่อต้นแบบและออกแบบกิจกรรมเพื่อส่งเสริมเรื่องการอ่าน และใช้ประโยชน์จากฉลากในพื้นที่ 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และชุมชนสันโค้งหลวง เทศบาลนครเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยจัดกิจกรรมจำนวน 3 ครั้งต่อชุมชน มุ่งให้นำความรู้ไปสู่การปฏิบัติบนพื้นฐานความรู้ที่ถูกต้องผ่านสื่อต้นแบบต่างๆ เช่น สารคดีนิทานชาวบ้าน, วีดิทัศน์การ์ตูน Motion infographic จำนวน 2 เรื่อง คือ กินไม่เหมาะสม โรคภัยตามมา และอ่านฉลาก ลดเสี่ยงโรค, สื่อนิทรรศการ และคู่มือความรู้ เพื่อสร้างความตระหนักถึงมหันตภัยที่น่ากลัว และความทรมานที่เกิดจากโรค รวมทั้งรวบรวมความรู้ ตลอดจนความเชื่อผิดๆ ด้านการบริโภคอาหารในรูปแบบของคลิปวิดีโอคำถาม เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องควบคู่ไปกับการบรรยายให้ความรู้
ด้าน น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผอ.สำนักอาหาร กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการควบคุมปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ นั้น ขณะนี้อยู่ใน พ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับใหม่แล้ว โดยบรรจุอยู่ในร่างกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยหากมีกฎหมายดังกล่าวออกมาแล้ว ในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ จะต้องมีความหวานไม่เกินร้อยละ 10 หากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องมีการเสียภาษีเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันพบว่าผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิดมีการใส่สารความหวานสูงมาก ประมาณร้อยละ 12-14 ซึ่งสูงกว่าในยุโรปกว่า 2 เท่า เพราะในยุโรปนั้นจะอนุญาตให้ใส่ได้ประมาณร้อยละ 6 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม คาดว่ากฎหมายที่จะออกมาควบคุมปริมาณความหวานนั้นจะทันใช้ภายในปี 2560.