ข้อคิด….ถึงโรงงานยาสูบไทย
พบยอดจำหน่ายบุหรี่คงที่ ประมาณ 2,000 ล้านมวนต่อปี
น่าสนใจความเป็นไปของโรงงานยาสูบ ภายใต้นโยบายควบคุมยาสูบที่เข้มแข็งของรัฐบาลไทย และกระแสการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ของภาคส่วนต่างๆ
รวมทั้งต้องแข่งกับบุหรี่ข้ามชาติหลากหลายบริษัทที่เข้ามาแย่งชิงตลาดในไทย
การที่แรงกดดันของเขตการค้าเสรีอาฟตาทำให้รัฐบาลไทยใช้นโยบายตั้งกำแพงภาษีนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศไม่ได้ ยิ่งทำให้โรงงานยาสูบไทยอยู่ในภาวะที่ลำบากมากขึ้น
ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยเองจำเป็นและได้ประโยชน์จากการกำหนดมาตรการควบคุมยาสูบด้านต่างๆ คือสามารถควบคุมไม่ให้ตลาดบุหรี่โตขึ้น ไม่ให้คนไทยสูบบุหรี่มากขึ้น แต่รายได้รัฐเพิ่มขึ้นมากจากการขึ้นภาษี
คำถามจึงมีว่าในปัจจัยหลากหลายที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ
โรงงานยาสูบควรจะดำเนินนโยบายอย่างไร จึงจะอยู่รอดและส่งผลเสียต่อสังคมไทยน้อยที่สุด
ผลรวมของมาตรการควบคุมยาสูบทั้งของภาครัฐและเอกชน หากพิจารณาจากขนาดของตลาดบุหรี่ไทย พบว่าในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายบุหรี่ค่อนข้างคงที่อยู่ที่สองพันล้านมวนต่อปี
ซึ่งการที่ตลาดบุหรี่ไทยไม่ได้ขยายตัวขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและการเพิ่มของประชากร นับว่าการณรงค์ควบคุมยาสูบของไทยประสบความสำเร็จมากพอสมควร
และถ้าหากไม่มีสินค้าของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติมาแย่งส่วนแบ่งของตลาดบุหรี่ไทย
กล่าวได้ว่าโรงงานยาสูบไทยไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมยาสูบของไทยเลยก็ว่าได้
แต่ในความเป็นจริง บุหรี่ของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติได้แย่งส่วนแบ่งตลาดบุหรี่ไทยไปประมาณร้อยละยี่สิบห้าหรือ หนึ่งในห้าของตลาดทั้งระบบ ไม่รวมบุหรี่นอกหนีภาษีอีกจำนวนหนึ่ง
นั่นคือ แม้ตลาดทั้งระบบจะไม่ได้เล็กลง แต่ส่วนแบ่งตลาดของโรงงานยาสูบลดลงไปถึงหนึ่งในสี่
ในความเป็นจริงหากรัฐบาลไม่ได้ควบคุมยาสูบอย่างจริงจังโดยเฉพาะการห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขาย การพิมพ์คำเตือนเป็นรูปภาพ และการห้ามโชว์บุหรี่ ณ จุดขาย โรงงงานยาสูบจะเสีย ส่วนแบ่งตลาดบุหรี่ให้แก่บุหรี่ข้ามขาติมากกว่านี้
เพราะอาวุธที่สำคัญที่สุดของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ คือมาตรการทางการตลาดและราคาบุหรี่
ราคาบุหรี่นำเข้าลดลงเพราะกำแพงภาษีหายไป เป็นเรื่องที่รัฐบาลทำอะไรไม่ได้
แต่กฎหมายควบคุมมาตรการทางการตลาดด้วยการห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขายทุกรูปแบบ เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ทุกประเทศทำได้
โรงงานยาสูบอาจจะคิดว่าการห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขายทำให้โรงงานยาสูบขยายตลาดไม่ได้
แต่ในความเป็นจริงการห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขายที่เข้มงวดส่งผลกระทบต่อบุหรี่ข้ามชาติมากกว่า และส่งผลให้โรงงานยาสูบบุหรี่เสียส่วนแบ่งตลาดไปน้อยลง
โรงงานยาสูบที่เป็นกิจกรรมของรัฐบาลประเทศอื่น ที่รัฐบาลไม่ควบคุมการโฆษณาและส่งเสริมการขายอย่างเข้มงวด ต่างต้องเสียส่วนแบ่งตลาดไปมากขึ้นมากขึ้น จนถูกบริษัทบุหรี่ข้ามชาติยึดกิจการไปในที่สุด
เพราะประสิทธิภาพในการแข่งขันกันทางตลาดกิจการยาสูบที่เป็นของรัฐบาลไม่มีทางที่จะแข่งขันกับกลยุทธ์และสายป่านของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ
โดยสรุป คือ มาตรการควบคุมยาสูบของรัฐบาลไทยทำให้โรงงานยาสูบไทยเสียส่วนแบ่งตลาดไปช้าลง
โรงงานยาสูบไทยจึงไม่ควรที่จะออกมาคัดค้านหน่วงเหนี่ยวหรือฝ่าฝืนกฎหมายห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขายเสียเอง
เพราะนั่นจะเป็นปัจจัยที่ทำให้โรงงานยาสูบเสียส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นและเร็วขึ้น
สสส.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ www.thaithealth.or.th สอบถาม 0-22980500 ต่อ 1222
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
Update:25-07-51