`ข่วงนี้..ดีแต้`

          /data/content/26770/cms/e_bdjnprxyz259.jpg


         โครงการคนสองวัยภาพยนตร์เชื่อมสัมพันธ์เมืองเก่าเชียงใหม่ ซึ่งเป็น 1 ในชุดโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา ภายใต้การสนับสนุนของ "สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ" (สสส.) "โครงการเขียวสวยหอม" และ "กลุ่มกั๊พไฟละครชุมชน" จัดกิจกรรมชุมชน 5 ธันวา "ข่วงนี้..ดีแต้" เมื่อวันที่ 5-6 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ชุมชน 5 ธันวา ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่


          เพื่อจัดกิจกรรม ข่วงอาหารขนมของกินพื้นเมือง การแสดงศิลปะพื้นบ้านล้านนา นิทรรศการภาพเก่าชุมชน วิดีโอเด็กเล่าเรื่องชุมชน การแสดงสดผลงานกราฟฟิตี้ หรือศิลปชุมชนบนผนังบ้าน พร้อมฉายภาพยนตร์เมืองเก่าเชียงใหม่ในอดีต เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา


          นายอัมรินทร์ เปล่งรัศมี ผู้อำนวยการกลุ่มกั๊พไฟละครชุมชน เล่าว่ากิจกรรมดังกล่าว เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์คนในชุมชน เปิดเวทีและพื้นที่ให้ชุมชน และเยาวชนได้แสดงออก แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ควบคู่กับการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในชุมชน พร้อมจัดกิจกรรมถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แบบล้านนา เพื่อเป็นมิ่งขวัญให้ชาวไทย


          "เรานำร่องที่ชุมชน 5 ธันวา เป็นแห่งแรกของชุมชนเมือง เพื่อเป็นต้นแบบหรือโมเดล ก่อนขยายผลไปยัง 95 /data/content/26770/cms/e_acjkmsvxz678.jpgชุมชนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ พร้อมสร้างเครือข่ายเยาวชน เพื่อมีส่วนร่วมสร้างเป็นชุมชนสีขาว ปลอดยาเสพติด การพนัน และอบายมุข มีพื้นที่แสดงออกเหมาะสมตามวัย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้พบเห็น เพื่อเรียนรู้ต่อ ยอดพัฒนาศักยภาพตนเอง และให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการชุมชนแบบยั่งยืนในอนาคต"


          นายอัมรินทร์กล่าวว่า ก่อนหน้านั้น เคยจัดกิจกรรมละครชุมชนพื้นที่ชนบท อาทิ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ อ.แม่ทา จ.ลำพูน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งประเมินผลได้รับความร่วมมือจากชุมชนเป็นอย่างดี เพราะมีพื้นที่รองรับ สามารถจัดกิจกรรมหลากหลาย ขณะที่ชุมชนเมือง มีพื้นที่จำกัด ความสัมพันธ์ในชุมชนน้อยกว่าชนบท การจัดงานอยู่ในวงแคบ จึงต้องผลักดันและขับเคลื่อนชุมชนให้มีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อสร้างความรัก สามัคคี ปรองดอง พร้อมฟื้นฟูอนุรักษ์สภาพแวดล้อม และรากเหง้าวิถีชีวิต


          ด้าน นางพรรณงาม สมณา วัย 62 ปี ประธานกลุ่มพัฒนาสตรีชุมชน 5 ธันวา และประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ชุมชน 5 ธันวา กล่าวว่า ชุมชนมี 112 ครัวเรือน กว่า 350 คน มีประชากรแฝงอีก 350 คน รวม 700 คน บางส่วนเป็นชนกลุ่มน้อย อาทิ ไทยใหญ่ อาข่า กะเหรี่ยง และม้ง จึงเข้าร่วมโครงการพื้นบ้านย่างเวียง เพื่อนำแนวคิดมาฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สาธารณูปโภค อาชีพ และสร้างพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงออก ภายใต้การเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ควบคู่แสดงศิลปะแบบข้างถนน เพื่อเปิดกว้างและมุมมองทางความคิด


          "พื้นที่ชุมชนอยู่บริเวณกำแพงเมืองชั้นนอก มีลำคูไหวไหลผ่าน แต่ไม่สามารถนำน้ำมาใช้บริโภคและอุปโภคได้ เนื่องจากคุณภาพน้ำไม่ได้มาตรฐาน จึงใช้วิธีธรรมชาติบำบัด พร้อมปลูกต้นไม้ริมลำน้ำ มีแปลงผักสาธิต อาทิ ผักกาด ผักบุ้ง คะน้า พริกขี้หนู ต้นหอมผักชี โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อผลิตผักปลอดสารพิษบริโภคภายในชุมชน พร้อมกับสร้างสวนสัตว์สีเขียว บริเวณกำแพงเมืองเก่า เพื่อปรับภูมิทัศน์สวยงามภายใต้การสนับสนุนของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนพัฒนาชุมชน 5 ธันวา"


          "ข่วงนี้..ดีแต้" จึงเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อเปิดพื้นที่แสดงออกชุมชนและเยาวชนในเขตเมือง ภายใต้บริบทรู้ปัญหา แก้ปัญหา พัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน


 


         


          ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน โดย ปราการ พรประสาท


          ภาพประกอบจากเว็บไซต์โกลทูโนว์

Shares:
QR Code :
QR Code