ขุนทะเล ลงนาม MOU สู่ชุมชนน่าอยู่ พึ่งพาตนเอง

องค์การบริหารส่วนตำบลขุนทะเล อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช นำโดยนายโสภณ พรหมแก้ว นายก อบต.ขุนทะเล ร่วมประชุมและลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (mou) พื้นที่ภาคใต้ตอนบน และตำบลเครือข่ายขยายผลปีที่ 2 ในโครงการพัฒนาเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นร่วมขับเคลื่อนสู่ตำบลสุขภาวะ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ขุนทะเล ลงนาม mou สู่ชุมชนน่าอยู่ พึ่งพาตนเอง

โดยมี นายสมพร ใช้บางยาง ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานในพิธีลงนาม

น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ น.ส.ดวงพร กล่าวถึงการเป็นเครือข่ายเพื่อสร้างพื้นที่แห่งความสุขหรือเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ว่า ความสุขจะเกิดขึ้นกับคนในตำบล หากวันนี้เน้นพัฒนาทุนและศักยภาพของคนในตำบลเป็นหลัก เมื่อเข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในเครือข่ายแล้วกลับไปดูชุมชนของตนว่ามีทุนและศักยภาพอยู่หรือไม่

“เมื่อเรามานั่งตรงนี้เรามองว่าเรามีแหล่งเรียนรู้กี่แห่ง ถ้าเราคิดออกแสดงว่าเรามีทุนและศักยภาพ แค่เรายังไม่จัดระบบมันแค่นั้นเอง เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายเมื่อกลับไป สิ่งที่ต้องทำคือต้องไปค้นหาทุนและศักยภาพ แล้วพบว่ามีกลุ่มที่ทำเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ ท่านต้องชวนเขามาคุย เราเรียกสิ่งที่ทำนี้ว่าถอดบทเรียน วันนี้ท่านมาเป็นเครือข่ายกับขุนทะเล ท่านมีเพื่อนไม่ใช้เฉพาะวันนี้ที่มา ขุนทะเลตอนนี้มีเพื่อนทั้งหมดกว่า 60 ตำบล เพราะฉะนั้นท่านต้องถือโอกาสจากการเป็นเพื่อนของ 60 ตำบลนี้ไปเอาสิ่งดีๆ มาขับเคลื่อนในตำบลของท่าน”

นี่เป็นอีกบทบาทของการสร้างตำบลให้น่าอยู่และมีความสุขด้วยการเป็นเครือข่ายร่วมมือกันขับเคลื่อนให้ชุมชนมีแหล่งเรียนรู้ ค้นหาเรื่องราวดีๆ ของตำบลยกขึ้นมาเป็นแหล่งเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากตำบลอื่นแล้วสร้างให้เกิดขึ้นในตำบลของตนเอง

“ตำบลที่มีแหล่งเรียนรู้ 20 แห่งขึ้นไป ก็ถือเป็นตำบลที่ประชาชนเข้มแข็ง แล้วประชาชนจะมีความเป็นพลเมืองสูง หมายความว่าประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการชุมชนท้องถิ่นตัวเอง”

“เราชวนท่านมาเป็นเครือข่ายเพราะทุกวันนี้ความรู้มันหมุนเร็วมาก สิ่งที่เป็นจริงในอดีต ณ วันนี้มันไม่ใช่ความจริงในปัจจุบันแล้ว ฉะนั้นอยากบอกท่านว่าให้เวลากับการมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่าย ให้เวลากับการทำเครือข่ายภายใน ฉะนั้นการเป็นเครือข่ายสามารถทำให้เราอยู่รอด ซึ่งการเป็นชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเองได้ต้องทำเครือข่ายภายในให้เข้มแข็ง”

ขุนทะเล ลงนาม mou สู่ชุมชนน่าอยู่ พึ่งพาตนเองทั้งนี้เพราะอีกไม่นานประเทศไทยได้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นหลายอย่างอาจเป็นผลดี แต่หลายสิ่งอาจส่งผลเสียตามมา แต่ที่สำคัญชุมชนจะปรับตัวอย่างไรให้อยู่กับเพื่อนอาเซียนโดยไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ฉะนั้นการเป็นเครือข่ายยังได้มีการเตรียมพร้อมในเรื่องดังกล่าวล่วงหน้าเพื่อทำความเข้าใจและเรียนรู้

อย่างไรแล้ว น.ส.ดวงพร ยังกล่าวอีกว่าการเข้ามาเป็นเครือข่ายความร่วมมือนอกจากจะให้ความสำคัญกับแหล่งเรียนรู้ เรื่องราวดีๆ ในชุมชนแล้วต้องหานักวิชาการในท้องถิ่นเพื่อเข้ามาร่วมทำงานเป็นทีมขับเคลื่อน และถอดบทเรียนร่วมกันด้วย

“เราต้องมีการมอบหมายให้นักวิชาการในท้องถิ่นอย่างน้อย 2 คน มาร่วมทำงานกับทีม เราเรียกว่าเป็นนักวิชาการ เสร็จแล้วไปถอดบทเรียน ตาม 7 ประเด็นนโยบายสาธารณะเพื่อพัฒนาระบบการจัดการสุขภาวะชุมชนโดยชุมชน แต่ก่อนที่เรามักพูดว่าคนท้องถิ่นไม่สามารถกำหนดอนาคตประเทศไทย แต่ถ้าเป็นตำบลสุขภาวะต้องทำให้ได้ เพราะว่า ณ วันนี้เรามีแม่ข่ายอยู่กว่า 40 แห่ง”

นอกจากนี้ น.ส.ดวงพร ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า “ท่านอย่าทำอะไรยาก ทำง่ายๆ การทำสุขภาวะเอาใจมาก่อน เดี๋ยวทุกอย่างมันมาเอง เวลาท่านไปดูแหล่งเรียนรู้ ท่านต้องไปดู 3 อย่างหลักๆ ด้วยกันคือ 1.มีการทำจริงหรือเปล่า มีเกษตรที่ทำเป็น ทำจริงแต่ไม่ชอบพูด ไม่ชอบสื่อสารหรือเปล่า ท่านต้องมีหน้าที่ทำให้คนที่ทำจริงสื่อสารให้ได้ ใครทำจริงแล้วไปฟูมฟักให้เขาสื่อสารให้ได้ เราเรียกคนเหล่านี้ว่าวิทยากรชุมชนและแหล่งเรียนรู้เป็นแหล่งผลิตแกนนำให้ท่าน ท่านจะได้ผู้นำตัวจริง

2.ท่านต้องทำแหล่งเรียนรู้ในประเด็นเดียวกันได้รู้จักกัน เช่น คนหมู่ 1 กับคนหมู่ 2 ในตำบลท่านทำเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน สองกลุ่มนี้ต้องรู้จักกัน

3.ท่านต้องเพิ่มรายได้ให้กับแหล่งเรียนรู้ เมื่อไปให้เขาเรียนรู้ ให้มีการถอดบทเรียน ท่านให้เขาพูดได้สื่อสารได้ ในกระบวนการเรียนรู้ต้องไปสู่การคำนวณเรื่องรายได้ ถ้าคนมาเรียนรู้ที่แหล่งแล้วเขาต้องล่มสลายไปแสดงว่ามีความผิดพลาด เพราะฉะนั้นแหล่งเรียนรู้มีหน้าที่ต้องเพิ่มรายได้ให้กับคนในกลุ่ม ในชุมชน”

“วันนี้เป็นโอกาสของท้องถิ่น ท้องถิ่นต้องให้โอกาสกับชุมชน สสส. เรามีบทบาทในการกระตุ้น หนุนเสริม และนับจากวันนี้เป็นต้นไป เราก็เป็นเพื่อนกัน เราให้คำมั่นสัญญาที่จะทำงานหนักร่วมกันให้พี่น้องตำบลของเรามีความสุข และเราก็ต้องมีคำมั่นสัญญาต่อกันว่าเราจะดูแลชาติบ้านเมืองให้น่าอยู่สำหรับคนไทยทุกคนและทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย”

ที่มา: เว็บไซต์ปันสุข สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน

Shares:
QR Code :
QR Code