“ขุขันธ์” เรื่องดีๆ บ้านฉันอยากปันให้เธอรู้

หลังจากที่เราได้ฟังเรื่องราวของน้องจำเริญลักษณ์ ทองล้วน จากโรงเรียนพรหมานุสรณ์ จังหวัดเพชรบุรี กันไปแล้ว คราวนี้เราข้ามไปยังอีกซีกหนึ่งของประเทศ ไปที่จังหวัดศรีสะเกษ น้องกตัญชลี อิ่มอ้วน นักเรียนชั้น ม.5/7 โรงเรียนขุขันธ์ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ จะนำเรื่องดีๆ ที่อยากจะแบ่งปันให้เพื่อนๆ ที่จังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทยได้รับรู้กัน

นี่คือเรื่องราวที่น้องกตัญชลีจะมาเล่าให้เราฟัง

เรื่องดีๆ บ้านฉันอยากปันให้เธอรู้

ความแห้งแล้ง ทุรกันดาร และความยากจน คือสิ่งที่ฉันต้องเผชิญตลอดมา ฉันอาศัยอยู่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ บ้านฉันนับเป็นที่แห้งแล้งและยากจนที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อย่างไรก็ตาม ฉันยังคงเชื่อมั่นว่าบ้านฉันมีเรื่องราวดีๆ มากมายที่ซ่อนอยู่ในความเรียบง่าย และรอให้ทุกคนได้เข้าไปทำความรู้จักกับเรื่องดีๆ ในบ้านฉันที่อยากปันให้เธอรู้

เมืองขุขันธ์เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติมาช้านาน เป็นศูนย์รวมความหลากหลายของผู้คนจากหลากเชื้อสาย มีจารีตประเพณีวัฒนธรรมที่แตกต่างและงดงาม รวมถึงภาษาถิ่นที่มีมากถึงสี่ภาษา คือเขมร ลาว ส่วยและเยอ สำหรับตัวฉันเองเป็นคนเชื้อสายเขมร ฉันพูดภาษาเขมรซึ่งเป็นภาษาถิ่นได้อย่างคล่องแคล่ว โรงเรียนของฉันเป็นศูนย์รวมของลูกหลานชาวขุขันธ์ทั้งสี่ภาษาจากทั่วทุกสารทิศ ฉันจึงมีโอกาสได้พบปะเพื่อนๆ จากต่างถิ่นจำนวนมาก ความแตกต่างทางด้านภาษาและวัฒนธรรมไม่ได้ทำให้ฉันรู้สึกไม่ดี แต่ในทางตรงกันข้ามฉันกลับมองว่าความแตกต่างทำให้โรงเรียนของฉันรู้ว่า “คนเราแตกต่างได้ แต่ไม่จำเป็นต้องแตกแยก”

อาชีพหลักของชาวขุขันธ์คือการทำนา เราปลูกพืชทางการเกษตรมากที่สุดถึงร้อยละ 95 ของพื้นที่ เราใช้ชีวิตเรียบง่ายและพอเพียง เราจึงอยู่อย่างพอมีพอกิน คุณตาของฉันเป็นเกษตรกร เรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ท่านอาจไม่คุ้นชินเท่าใดนัก แต่ถ้าเป็นเรื่องการเกษตรแล้ว คุณตาคือเกษตรกรอันดับหนึ่งในใจฉัน คุณตาเคยบอกฉันเสมอว่า เราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกทำสิ่งที่ดีได้

แม้ที่นี่จะแห้งแล้ง ดินแตกระแหง แต่ด้วยสองมือที่มีตาเชื่อมั่นว่าไม่มีอะไรที่ยากเกินความสามารถของเรา เพราะคุณตาของฉันก็เริ่มต้นด้วยสมองและสองมือที่มีกับจอบใบเก่าๆ ขุดลงดินที่แข็งราวกับหิน ตาไม่ได้มีเวทมนตร์ที่จะเปลี่ยนหินให้เป็นดินได้ แต่ด้วยความพยายามและความอดทนเท่านั้นที่ทำให้คุณตาเปลี่ยนดินแข็งให้เป็นเงินทองได้

ช่วงเดือนพฤษภาคม ที่นาของตาเต็มไปด้วยข้าวเขียวขจี และช่วงเดือนพฤศจิกายน รวงข้าวจะสุกและเปล่งประกายเหลืองอร่ามประดุจสีทองคำ ฉันเห็นและอยู่กับธรรมชาติตั้งแต่จำความได้ ฉันรักธรรมชาติก็เพราะต้นข้าวที่คุณตาปลูก เมื่อฉันยังเด็กฉันรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อถึงฤดูเกี่ยวข้าว นับเป็นช่วงเวลาที่ครึกครื้น เพราะคนในหมู่บ้านจะรวมตัวกันลงแขกเกี่ยวข้าว

แม้จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า แต่รอยยิ้มที่จริงใจได้แสดงถึงความสุขที่ได้มอบน้ำใจให้แก่กัน เป็นการให้ที่ไม่หวังผลใดๆ ตอบแทน นับเป็นภาพแห่งความประทับใจที่ยังตราตรึงในใจฉันตราบเท่าทุกวันนี้

ปัจจุบันตาเริ่มปลูกพืชที่หลากหลายมากขึ้น ในส่วนของตาจึงไม่ได้มีข้าวเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีกล้วย มะม่วง มะพร้าว พริก มะเขือเทศ หอม กระเทียม และต้นพืชแปลกๆ อีกมากที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

ฉันสนุกกับการเป็นนักสำรวจตัวน้อย และสนุกที่ได้เรียนรู้ธรรมชาติที่หาไม่ได้ในห้องเรียน นอกจากนั้น เรายังใช้ประโยชน์จากน้ำในบ่อเลี้ยงปลาเพื่อรดน้ำผัก อีกทั้งยังได้กินปลาย่าง แกงส้ม ผัดเผ็ดปลาดุก และปลาราดพริก ซึ่งฉันได้ลิ้มรสอาหารระดับห้าดาว ฝีมือคุณยายคุณแม่ทุกวัน

เมื่อว่างจากฤดูเก็บเกี่ยว ชาวบ้านก็จะรวมตัวกันทำอาชีพเสริมเพื่อหารายได้ หนึ่งในนั้นคือ โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เช่น เกวียนน้อยบ้านใจดี ครุน้อยบ้านสะอาง และกระเป๋าใบตาลบ้านนาก๊อก

ครอบครัวของฉันก็เป็นอีกครอบครัวหนึ่งที่มีอาชีพเสริมดังกล่าว เราผลิต “ตอก”ภาชนะสำหรับใส่ของซึ่งได้มาจากการสืบทอดภูมิปัญญาของคนโบราณ ใช้สำหรับใส่ของ เช่น หมาก และพลู มีลักษณะรูปทรงคล้ายพาน ทำจากไม้ 4 ชนิดคือ เครือไส้ตัน ต้นข่อย เปลือกต้นงิ้ว และไม้ทองหลาง

สิ่งที่ฉันประทับใจมากที่สุดก็คือ การได้วาดลวดลายลงบนตอก เราทาสีดำรองพื้นจนดำสนิท แล้วจึงใช้สีเหลืองกับสีแดงวาดลายเส้น ที่ตัดกันลงบนตอกทำให้ตอกแลดูสวยงามและมีค่า ปัจจุบันไม่นิยมใช้ตอกเป็นภาชนะสำหรับใส่ของ แต่ส่วนใหญ่จะมีไว้ตั้งโชว์ และเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของพิธีกรรมทางความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายเขมรเขมรที่เรียกว่า “เรือมมะม็อด” หรือ “รำแม่มด” ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่เชื่อกันว่าสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยของผู้ที่ป่วยโดยไม่มีสาเหตุให้หายเป็นปกติได้ โดยวิธีการเล่นรำแม่มดคือ การทำพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วมาเข้าทรง

พิธีกรรมเรือมมะม็อดนี้จะต้องทำพิธีให้เสร็จภายในคืนเดียว หากการประกอบพิธีกรรมไม่เสร็จภายในคืนเดียว อันอาจจะเนื่องมาจากไม่มีการเข้าทรงก็จะต้องทำพิธีต่อในคืนวันถัดไป หรืออาจจะต้องทำพิธีอีกครั้งในปีถัดไป ผู้ป่วยก็จะหายจากอาการเจ็บไข้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ พิธีกรรมเรือมมะม็อดเป็นเรื่องลี้ลับ ยากที่วิทยาศาสตร์จะอธิบายและพิสูจน์ได้ แต่สิ่งที่เป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดจากพิธีกรรมนี้ก็คือ ความรักสมัครสมานของคนในครอบครัว เครือญาติ และพี่น้องชาวขุขันธ์นั่นเอง

วันแรมสิบสามค่ำ เดือนสิบของทุกปี คุณยายและคุณแม่ต้องตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อเตรียมสิ่งของในการห่อข้าวต้ม หลังจากนั้นช่วงสายๆ คุณยาย คุณแม่ ฉันและน้องก็จะนั่งล้อมวงช่วยกันห่อ “ข้าวจ้ม” ด้วยใบตองหรือใบมะพร้าว ฝีมือการห่อข้ามต้นของคุณยายสวยงามและประณีตมาก

คุณยายเคยเผยเคล็ดลับการห่อข้าวต้มให้อร่อยกับฉันว่า ต้องห่อให้มีขนาดพอดี ไม่ใหญ่หรือเล็กจนเกินไป จะได้รับประทานพอดีคำ และสำคัญที่สุดคือต้องก่อให้ขนาดเท่ากัน ข้าวต้มจึงจะสุกพร้อมกัน ข้าวต้มที่สุกแล้วจะถูกจัดลงในกระเชอหรือกระเช้า โดยมีผักผลไม้ ไก่ย่าง ปลาย่าง หมูย่าง ข้าวสาร เหล้าขาว หมาก พลู ธูปสามดอก และเทียนอีกหนึ่งเล่ม เพื่อนำไปเซ่นไหว้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษที่ล่วงลับที่บ้านของญาติผู้ใหญ่ในวันรุ่งขึ้น คือวันแรมสิบสี่ค่ำ เดือนสิบ

ในวันแรมสิบห้าค่ำ เดือนสิบ เราต้องไปทำบุญตักบาตรที่วัด ชาวขุขันธ์กระทำเช่นนี้เป็นประจำทุกปีจนเป็นประเพณี และเรียกประเพณีนี้ว่า ประเพณี “แซนโฎนตา” เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อให้ลูกหลานได้เซ่นไหว้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ เป็นประเพณีของคนไทยเชื้อสายเขมรที่ถือปฏิบัติกันมาช้านานโดยประเพณีแซนโฎนตาได้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ ที่ว่าการอำเภอขุขันธ์ทุกปี นับเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญของชาวขุขันธ์ที่จะได้มาร่วมรำลึกและมาแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ

แม้ฤดูกาลบ้านฉันจะแห้งแล้ง แต่เราไม่เคยแล้งน้ำใจ แม้บ้านฉันจะยากจน แต่เราก็มั่งคั่งไปด้วยความสุข ความรัก และความสามัคคี ฉันจึงภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นคนขุขันธ์ และภูมิใจที่ได้เกิดในชุมชนที่มีเชื้อสาย ภาษา วัฒนธรรมและประเพณีที่งดงามและหลากหลาย

ถ้าจะมีใครถามสักคนถามฉันว่าฉันเป็นใคร ฉันจะตอบด้วยความภาคภูมิใจว่าฉันเป็นลูกหลานของชาวขุขันธ์ และฉันจะอนุรักษ์สิ่งดีงามทั้งหลายของบ้านฉันเพื่อให้น้องๆ รุ่นต่อไปได้เข้าไปทำความรู้จักเรื่องดีๆ ในบ้านฉัน ซึ่งฉันเชื่อมั่นว่าเด็กๆ เหล่านั้นคงรู้สึกไม่ต่างไปจากฉันในตอนนี้ “ฉันรักขุขันธ์”.

อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

ปัญหาเด็กรอการแก้ไข

ขณะที่ไทยโพสต์ได้จัดประกวดเรียงความในหัวข้อเรื่องดีๆ บ้านฉันอยากปันให้เธอรู้ เพื่อกระตุ้นให้เด็กไทยมีเวทีในการเขียน การอ่านภาษาไทย แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้นเครือข่ายภาคีของ สสส.ก็ดำเนินเรื่องนี้อยู่เช่นกัน

การอ่านถือเป็นสิ่งสำคัญแก่ทุกคนที่จะสามารถช่วยเพิ่มพูนความรู้ในราคาถูกที่สุด แต่ปัญหาคือคนเรากลับไม่เลือกที่จะสัมผัสกับสื่อชนิดนี้

เมื่อการอ่านๆ ไม่มี การเขียนก็ไม่เกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับเด็กที่จะเติบโตขึ้นเป็นทรัพยากรของชาติในอนาคต

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล็งเห็นความสำคัญกับเรื่องนี้ จึงผุดแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดความสำคัญกับการอ่านและเขียน

เป้าหมายสำคัญคือต้องการให้เด็ก เยาวชน ครอบครัว เกิดการรับรู้ เรียนรู้ และมีทัศนคติแนวโน้มสู่พฤติกรรมการอ่านสู่สุขภาวะ เสริมสร้างกลุ่ม องค์กร เครือข่ายด้านการสร้างสรรค์สื่อและเครือข่ายด้านวิชาการ

อีกทั้งกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน รวมถึงกลไกและช่องทางนำหนังสือถึงมือเด็ก ให้ทุกภาคส่วนมีบทบาทในการสนับสนุน พัฒนาสื่ออ่านให้เข้าถึงเด็ก เยาวชน และชุมชน เป้าหมายสุดท้ายคือ ให้นักสื่อสาร สื่อมวลชน เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการเสริมสร้างวัฒนธรรมการอ่านเพื่อสุขภาวะของสังคม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านจึงต้องเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อน ส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิต พัฒนาหนังสือ สื่อการอ่านที่มีคุณภาพ มีเนื้อหาสอดคล้องและเหมาะสมทั้งกับทุกกลุ่มคนในสังคม โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย และวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หลากหลาย ที่นำสู่การสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน

พร้อมกันนี้ยังประสานงานกับเครือข่าย องค์กร กลไก ช่องทางต่างๆ ด้านการสร้างสรรค์หนังสือ การนำหนังสือถึงมือเด็ก ครอบครัว ชุมชน และการระดมทรัพยากรและปัจจัยต่างๆ เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ทั้งด้านการสร้างเสริมการอ่าน ระบบการอ่าน และบรรยากาศแห่งการอ่าน สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อร่วมสร้างกระแสสังคมการอ่าน เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายทุกระดับทั้งภาคสังคมและภาครัฐ ที่นำไปสู่การสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน

กลุ่มพื้นที่เป้าหมายคือ โรงเรียน เกิดการพัฒนา นวัตกรรมการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านที่ส่งผลกระเทือนทั้งโรงเรียนและยังเอื้อไปถึงชุมชนรอบข้าง รวมถึงสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์มีทัศนคติและกระบวนการทำงานเป็นผู้สร้างสรรค์ที่มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการอ่านในพื้นที่ด้วย

ค่าเฉลี่ยการอ่านของเด็กไทยจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจการอ่านของประชากร มีเด็กเล็กจำนวนทั้งสิ้น 5.5 ล้านคน (ชาย 2.8/ หญิง 2.7 ล้านคน) เด็กเล็กมีอัตราการอ่านหนังสือร้อยละ 36.0 (เด็กผู้ชายร้อยละ 36.7 เด็กผู้หญิงร้อยละ 35.2) มีเด็กเล็กที่อ่านหนังสือทั้งสิ้นเพียง 2.1 ล้านคน

สำหรับการดูหนังสือภาพร่วมกับเด็กหรือการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง มีสัดส่วนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่นๆ คือเพียงร้อยละ 36.0 ขณะที่กิจกรรมที่พาเด็กออกนอกบ้านคิดเป็นร้อยละ 72.9

การสำรวจจำนวนหนังสือสำหรับเด็กเล็ก (0-5 ปี) ที่มีอยู่ในบ้าน ซึ่งข้อตกลงจากแผนปฏิบัติการ “โลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก” (a world fit for children) ขององค์การกองทุนเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ในด้านพัฒนาการของเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ได้กำหนดตัวชี้วัดว่าควรมีหนังสือสำหรับเด็กในครัวเรือนอย่างน้อย 3 เล่ม

สถานการณ์ “เยาวชนกับการอ่าน” โดยอัตราการอ่านในกลุ่มวัย 6 ปีขึ้นไป จากที่เคยสูงขึ้นร้อยละ 69.1 ในปี พ.ศ.2548 (พ.ศ.2546 ร้อยละ 61.2) กลับลดลงในปี พ.ศ.2551 เหลือร้อยละ 66.3

การสำรวจการใช้เวลาว่างโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2544) พบว่า คนไทยอายุ 10 ปีขึ้นไปอ่านหนังสือเพื่อเป็นกิจกรรมในเวลาว่าง 4.4 คน จาก 100 คน (เกาหลี 56.4% ของคนทั้งหมด) เหตุผลเพราะมีสื่ออื่นที่น่าสนใจกว่า ได้แก่ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต หนังสือมีราคาแพง ไม่มีหนังสือให้อ่าน ไม่เห็นความสำคัญ (ผู้ปกครอง) ห้องสมุดมีหนังสือไม่น่าสนใจ ผู้บังคับให้อ่าน

ส่วนปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ กระทรวงศึกษาธิการเคยเปิดเผยว่า มาจาก 4 สาเหตุใหญ่ คือ 1.ปัญหาครอบครัวยากจน จนเด็กต้องขาดเรียนบ่อยๆ จนเวลาเรียนไม่ครบ 2.เด็กที่ไม่ได้พูดภาษาไทยที่บ้าน 3.มีปัญหาการเรียนรู้ ซึ่งมีประมาณร้อยละ 5-6 บางโรงเรียนอาจมีมากกว่านี้ และ 4.เด็กในโรงเรียนที่มีครูไม่เพียงพอหรือขาดแคลนครู

จึงเป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลอย่างเร่งด้วยเพื่ออนาคตของชาติไทย.

          

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ