ขี่จักรยาน-เดิน ลดเสี่ยงโรคเรื้อรังคนไทย

/data/content/22129/cms/cehlmqvz2358.jpg

          ผลวิจัยชี้คนไทยรู้ขี่จักรยาน-เดิน ช่วยลดความเสี่ยงโรคเรื้อรัง แต่ยังไม่ลงมือทำ อ้างไม่มีเวลา ไม่ปลอดภัย

           ดร.เกษม นครเขตต์ ผู้จัดการแผนงานศูนย์วิจัยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวภายในการประชุมวิชาการ การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ครั้งที่ 2 : การเดินและจักรยาน ปฏิบัติได้ ปฏิบัติจริง ในบริบทไทย จัดโดย สสส. ถึงผลการวิจัยเรื่อง การรับรู้ด้านสุขภาพและทัศนคติของประชาชนไทยต่อการเดินและการขี่จักรยานว่า การวิจัยเพื่อศึกษาการรับรู้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การรับรู้ความรุนแรงของโรค การรับรู้ประโยชน์ของการเดิน

          การขี่จักรยานสามารถป้องกันการเกิดโรค การรับรู้อุปสรรคของการเดิน การขี่จักรยาน และทัศนคติของประชาชนต่อการเดินในระยะใกล้ด้วยการเดินการขี่จักรยาน โดยสำรวจประชาชนใน 5 จังหวัด คือ เชียงใหม่ นครราชสีมา ชลบุรี ภูเก็ต และกทม. จำนวน 5,000 คน

          “ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 70 จากกทม.และชลบุรี รับรู้ว่าตนเองเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง นอกนั้นมีเพียงครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่รับรู้ว่าตนเองเสี่ยง โดยกลุ่มตัวอย่างจากทุกจังหวัดที่สำรวจ ร้อยละ 63-94 รับรู้ความรุนแรงของโรคเรื้อรังว่าอาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้ โดยกลุ่มตัวอย่างจากทุกจังหวัด ร้อยละ 71-95 ทราบประโยชน์ของการเดินหรือขี่จักรยาน ในจำนวนนี้ร้อยละ 24 เชื่อว่าตนเองสามารถเดินได้ระยะทาง 1-1.5 กิโลเมตร ร้อยละ 45 เชื่อว่าสามารถขี่จักรยานได้ในระยะทาง 2-3 กิโลเมตร ร้อยละ 81 ยินดีสวมหมวกกันน็อกขณะขี่จักรยาน และร้อยละ 42 ยินดีซื้อหมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐานในราคา 500 บาท” ดร.เกษม กล่าว

          ดร.เกษม กล่าวอีกว่า เมื่อสำรวจด้านทัศนคติแง่อุปสรรค พบว่าร้อยละ 81 บอกว่าอุปสรรคคือการไม่มีเวลา รองลงมาร้อยละ 67 และ 63 ชี้ว่าอุปสรรคคือไม่มีอุปกรณ์และไม่มีเส้นทางที่ปลอดภัย เมื่อถามถึงเส้นทางขี่จักรยาน ร้อยละ 45 มีทัศนคติระดับดีต่อเส้นทางที่มี ร้อยละ 60-75 เห็นว่าการขี่จักรยาน การเดินบนเส้นทางรถยนต์ยังเป็นการกีดขวางการจราจร และอาจเกิดอุบัติเหตุ โดยสรุปเห็นได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจความเสี่ยงและความรุนแรงของโรคติดต่อเรื้อรัง และทราบว่าการออกกำลังกายมีประโยชน์แง่ป้องกันโรค แต่ยังมีอุปสรรคในเรื่องเวลา และความปลอดภัยในการออกกำลังที่ต้องใช้ทางร่วมกับรถยนต์ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

          ขณะเดียวกันผลวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่าคนไทยมากกว่าร้อยละ 75 บริโภคผักและผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน และผลสำรวจสุขภาพอนามัยพบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ร้อยละ 76.2 บริโภคผักและผลไม้เฉลี่ยต่อวันต่ำกว่ามาตรฐาน ทำให้เกิดโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง

 

 

          ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code