ขับเคลื่อน "ชุมชนท้องถิ่นต้นแบบเข้มแข็ง" ถวายในหลวง

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ขับเคลื่อน


เริ่มต้นจุดประกายแนวคิด "ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง" เพื่อสนับสนุนและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนคนไทยให้กับชุมชนเครือข่ายทั่วประเทศ มาตั้งแต่ปี 2552


ล่าสุดการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่น ที่ใช้ "พื้นที่เป็นตัวตั้ง" ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) วันนี้ได้ถูกยกระดับสู่การผนึกกำลังพัฒนาความเข้มแข็งชุมชนที่จะขยายผลกว้างออกไปอีกขั้น เมื่อ 4 หน่วยงานภาคพัฒนาท้องถิ่นได้ร่วมจับมือตั้งเป้าพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่กำลังยกระดับความเข้มแข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน


โดยเมื่อวันที่ 8 กันยายน กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการปกครอง ท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ


"การส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น"พร้อมประกาศตั้งเป้าดำเนินโครงการสนับสนุน ส่งเสริม เพื่อพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงใน 900 หมู่บ้าน 90 ตำบล 90 อำเภอ ใน 77 จังหวัด เพื่อขับเคลื่อน ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา ภายในระยะเวลา 3 ปี ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยมี อภิชาติ  โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ดุษฎี สุวัฒวิตยากร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สมพร ใช้บางยาง ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และ ธวัชชัย  ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. ร่วมลงนามในครั้งนี้


ธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. กล่าวว่า สสส. กำหนดทิศทาง เป้าหมาย และยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปี (2555-2564) มีเป้าเหมายเฉพาะให้ "ชุมชนและท้องถิ่นเข้มแข็ง" ซึ่งขับเคลื่อนโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) ซึ่งปีนี้จะเป็นการสนับสนุนและขับเคลื่อน ชุมชนท้องถิ่นต้นแบบเข้มแข็งทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 900 หมู่บ้าน 90 ตำบล กระจายตัวใน 90 อำเภอ 77 จังหวัด เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา โดยได้รับความร่วมมือ จากภาคีทั้ง 3 หน่วยงานรัฐในวันนี้และในอนาคต จะมีหน่วยงานภาคเอกชนเข้าร่วมด้วย ตามแนวนโยบายประชารัฐเพื่อร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นที่เป็นรูปธรรม


ขณะที่ สมพร ใช้บางยาง ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของทั้ง 4 หน่วยงานที่มีเป้าหมายเดียวกัน ทำให้เกิดกรอบแนวทางการ ขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นเข้มขับเคลื่อน แข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 5 แนวทาง และขับเคลื่อนด้วย 15 กิจกรรม ที่หลังการลงนามครั้งนี้จะกำหนดให้มีคณะทำงานร่วม เพื่อดำเนินการ โดยจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ในการขับเคลื่อนและดำเนินการตามเจตนารมณ์ดังกล่าวข้างต้นให้เกิดผลสำเร็จ


ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวระหว่างการปาฐกถา "ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" อย่างเชื่อมั่นว่าการนำศักยภาพของ หน่วยงานต่างๆ ทั้ง 4 พลังที่ร่วมมือกันในวันนี้ จะสร้างความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ด้วยความเสมอภาค ภราดรภาพ และการเรียนรู้ร่วมกันของแต่ละฝ่าย จะทำให้เกิด การสร้างชุมชนท้องถิ่นในอุดมคติเกิดขึ้นจริง และเป็นการพัฒนาการเปลี่ยนแปลง (Transformation) ในขั้นพื้นฐานอย่างมีบูรณาการทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การศึกษา และประชาธิปไตย


สำหรับ 5 แนวทางขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ 1. การพัฒนาและบูรณาการการจัดทำระบบข้อมูลการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นระดับหมู่บ้านและตำบล โดยชุมชนเอง ซึ่งครอบคลุมด้านสังคม ประชาธิปไตย เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ 2.การส่งเสริมและสนับสนุน การใช้ระบบข้อมูลในการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน/แผนชุมชนสู่แผนพัฒนาท้องถิ่น และแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด 3.การเพิ่มขีดความสามารถของแกนนำและบุคลากรที่ทำงานด้านการพัฒนาชุมชน 4.การพัฒนาตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็งเพื่อใช้ในกระบวนการเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งตนเองของชุมชนในทุกระดับตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและประเมินผลการทำงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5.การสนับสนุนและพัฒนาให้เกิดชุมชนท้องถิ่นต้นแบบการทำงานพัฒนาเชิงบูรณาการโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งขับเคลื่อน


ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส.กล่าวว่า จากกรอบแนวทางการขับเคลื่อนทั้ง 5 เรื่องดังกล่าว สสส.จะเข้าไปช่วยจัดการมาตรฐานของระบบจัดเก็บข้อมูลทั้งภาครัฐและท้องถิ่น เพื่อให้เป็นชุดข้อมูลที่เชื่อมโยงกันและนำไปใช้งานได้จริง โดยสสส.จะเป็นผู้พัฒนาเครื่องมือเหล่านี้ ที่จะมีการนำระบบออนไลน์หรือเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาใช้ ขณะที่การสร้างขีดความสามารถของแกนนำหรือผู้นำชุมชน มองว่าที่ผ่านมาผู้นำยังไม่ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างแท้จริง จึงมีแผนพัฒนาหลักสูตรด้านการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ 120 แห่ง ขณะเดียวกันก็จะสอดแทรกแนวคิดการเป็นผู้นำต้นแบบด้านสุขภาพลงไปด้วย ในด้านการพัฒนาตัวชี้วัด สสส.จะรวบรวมตัวชี้วัดจากชุมชนต่างๆ นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับตัวชี้วัดที่เป็นมาตรฐานทั่วโลก เพื่อให้ได้ตัวชี้วัดที่มีมาตรฐานเดียวกัน และสามารถเป็นหลักเกณฑ์ที่นำมาใช้ออกแบบกิจกรรมกับชุมชนต่อไปในอนาคต


ท้ายสุดดวงพรเอ่ยว่าเป้าหมายความร่วมมือดังกล่าว เป็นภารกิจของ สสส. นั่นคือการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในทุกท้องถิ่นให้มีสุขภาวะที่ดี ดังนั้นโอกาสที่เกิดจากความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยกระจายองค์ความรู้ เครื่องมือและกระบวนการพัฒนาชุมชนต่างๆ ที่ สสส. มีได้ขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ ที่อาจไม่ได้เป็นเครือข่ายสสส. เท่ากับเป็นการขยายฐานผู้รับประโยชน์จากการใช้องค์ความรู้ของตนเองที่มีของแต่ละชุมชนและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนได้มากยิ่งขึ้น


'ความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ด้วยความเสมอภาค ภราดรภาพ และการเรียนรู้ร่วมกันของแต่ละฝ่าย จะทำให้เกิดการสร้างชุมชนท้องถิ่นในอุดมคติเกิดขึ้นจริง และเป็นการพัฒนาการเปลี่ยนแปลง (Transformation) ในขั้นพื้นฐานอย่างมีบูรณาการทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การศึกษา และประชาธิปไตย' ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี

Shares:
QR Code :
QR Code