ขับเคลื่อนแผนลดเหล้าทั่วประเทศ

       /data/content/26250/cms/e_giklmopqrz57.jpg


          ช่วงเดือนตุลาคมจะเห็นการลดเหล้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงดเหล้าครบพรรษา สู้ต่อไปงดเหล้าออกพรรษา หรือแม้แต่กฐินปลอดเหล้า ออกมาต่อสู้กับธุรกิจน้ำเมายังคงโหมทำการตลาด เพื่อหวังดึงคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเยาวชนให้เข้ามาเป็นนักดื่มหน้าใหม่ ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ร่วมขับเคลื่อนรณรงค์งดเหล้ามาโดยตลอด อย่าง “วิษณุ ศรีทะวงศ์” หรือพี่ตุ้ย ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อทดแทนธุรกิจแอลกอฮอล์ด้านประเพณีวัฒนธรรมและการส่งเสริมนโยบายสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยอมรับว่า เป็นเรื่องที่เหนื่อย แต่ก็ต้องสู้ต่อไป 


           “จริงๆแล้วในวัฒนธรรมของคนไทยก็มีการดื่มในช่วงเทศกาลต่างๆ แต่ก็ไม่ถึงขั้นเมากันหัวราน้ำ หรือปล่อยให้เด็กเยาวชนเข้าถึงเหล้าได้อย่างง่ายดาย เขาถึงมีคำเรียกกันว่าขี้เหล้าเมายา แต่ปัจจุบันธุรกิจน้ำเมามีการใช้สื่อทำการตลาดเปลี่ยนทัศนคติจนเปลี่ยนจากคนกินเหล้าที่เป็นคนไม่ดี กลายเป็นคนปกติถึงขั้นเป็นฮีโร่ เพราะมีการใช้ศิลปินดารามาเป็นพรีเซนเตอร์ ที่สำคัญแม้จะยังมีกฎหมายห้ามโฆษณาแต่กลุ่มธุรกิจน้ำเมาก็ยังทำ อย่างการขึ้นป้ายโฆษณาโลโก้บริษัทน้ำเมาต่างๆ ตามตึกใน กทม. หรือตามข้างทางที่มุ่งหน้าออกต่างจังหวัด ก็เพราะเสียค่าปรับเพียงวันละ 5 หมื่นบาทเท่านั้น แต่สามารถโฆษณาได้ตลอด 24 ชั่วโมง ดีกว่าโฆษณาทางทีวี 1 นาทีที่ต้องเสียหลายแสนบาท”


           พี่ตุ้ย บอกเล่าถึงปัญหาการรณรงค์ลดเหล้าในปัจจุบันที่ต้องเผชิญ ซึ่งแม้จะต้องต่อสู้กับธุรกิจน้ำเมาขนาดใหญ่ แต่พี่ตุ้ยก็ขอสู้ต่อไป โดยบอกว่า ถึงเหนื่อยก็ต้องทำ เพราะถ้าพวกเราไม่ทำ ใครจะทำ และท้ายที่สุด ถ้าไม่มีใครทำเลย รุ่นลูกรุ่นหลานก็จะบอกว่าเขาเริ่มกินเหล้าตั้งแต่ ป.5-ป.6 แล้ว เขาโตมากับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะรณรงค์ให้ลดการดื่มทำไม นี่คือสิ่งที่น่าห่วงที่ทำให้พี่ตุ้ยยังคงต้องทำงานขับเคลื่อนด้านนี้ต่อไป


           ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปี ที่พี่ตุ้ยเข้ามาจับงานด้านการรณรงค์ลดเหล้า ได้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญหลายด้าน โดยเฉพาะแผนการขับเคลื่อนรณรงค์ลดเหล้าต่าง โดยพี่ตุ้ย อธิบายว่า ได้ใช้มาตรการทางการเงินมาสู้ เพราะธุรกิจเหล้ายังเป็นสปอนเซอร์ได้ เราก็สามารถทำได้ โดยนำเงินไปสนับสนุนการจัดงานกิจกรรมสำคัญต่างๆ ซึ่งมีข้อแม้ว่าจะต้องไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในงาน รวมไปถึงต้องขับเคลื่อนมาตรการสังคมณรงค์ และกระตุ้นให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายด้วย 


            “ที่ต้องทำเรื่องนี้เพราะเหล้าเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดเหตุเศร้าทั้งบนโรงพักและโรงพยาบาล คือเกิดอุบัติเหตุเจ็บตายจากการเมาแล้วขับ การก่ออาชญากรรม ทะเลาะวิวาทเนื่องจากขาดสติ นอกจากนี้ ยังเป็นต้นเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ อีกด้วย แต่การขับเคลื่อนนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ด้วยกำลังที่มีคงไม่สามารถไปปรับเปลี่ยนทั้งประเทศได้ ที่เราทำได้/data/content/26250/cms/e_fklnrsu12469.jpgคือบอกสังคมว่าทิศทางที่เรากำลังจะไปมันไม่ถูกต้อง เราต้องเปลี่ยนทิศทางแล้ว และสังคมจะต้องเห็นด้วย จึงสามารถแก้ปัญหาได้ อย่างเมื่อก่อน กทม. ถนนข้าวสารเมื่อเข้าไปรณรงค์จัดกิจกรรมปลอดเหล้าเขาแทบไม่เอาด้วยเลย เพราะกลัวเสียนักท่องเที่ยว แต่พอไปรณรงค์ที่อื่น อย่างถนนข้าวเหนียวแล้วได้ผล คนในสังคมเริ่มเห็นด้วย อย่างสงกรานต์ปีนี้ทางท่องเที่ยวของ กทม.ก็เป็นคนพูดเองว่าควรจัดแบบงดเหล้า เพราะเป็นสาเหตุของการทะเลาะวิวาท การลวนลามต่างๆ”


            พี่ตุ้ย บอกอีกว่า เมื่อปี 2554 ได้เริ่มลงไปทำงานลดเหล้ากับพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย เพราะหากประชาคมในพื้นที่เอาด้วยการทำงานก็จะง่ายขึ้น สิ่งที่เราทำคือไปชวนเจ้าภาพ เช่น ผู้ว่าฯ นายกเทศมนตรี ในการจัดงานหรือกิจกรรมต่างๆ ที่ปลอดเหล้า ซึ่งบางพื้นที่ก็เห็นดีที่จะทำ เมื่อทำแล้วเห็นผลพื้นที่อื่นๆ ใกล้เคียงก็ทำตาม นอกจากนี้ ยังลงไปให้ความรู้กับคนในพื้นที่ว่าที่จริงแล้วคุณค่าในการจัดงานต่างๆ เพื่ออะไร อย่างสงกรานต์คุณค่าของมันอยู่ที่มีโคโยตีออมาเต้น มีการกินเหล้าหรือไม่ เป็นต้น


             “จากการทำงานร่วมกับพื้นที่เช่นนี้ หลายพื้นที่เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง อย่างงานช้าง จ.สุรินทร์ ปกติมีคนตายทุกปี เพราะมีการเอาเหล้าเข้ามากิน ดูคอนเสิร์ตแล้วตีกัน แต่หลังจากลงไปทำงานในพื้นที่พบว่า 6 ปีที่ผ่านมาไม่มีเหตุเศร้าเกิดขึ้น หรือการแข่งเรือที่ จ.น่าน ก็ไม่มีคนตายมาหลายปี จากเดิมที่มีการนำเหล้ามาดื่มเชียร์แล้วเกิดการทะเลาะวิวาท เรียกได้ว่าสถิติเจ็บตายน้อยลง ซึ่งขณะนี้เรากำลังรวบรวมสถิติทั้งหมดเพื่อบอกแก่สาธารณะว่ามันได้ผลอย่างไร”


             อย่างไรก็ตาม พี่ตุ้ย บอกว่า สุดท้ายเหล้าก็ยังคงอยู่คู่สังคมไทยและโลกต่อไป แต่สิ่งที่เราต้องทำคือทำอย่างไรไม่ให้เยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนวัย ไม่ได้จำกัดสิทธิปัจเจกบุคคลในการดื่ม แต่เพียงการดื่มนั้นควรอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม คือตามร้านที่จัดให้ดื่ม มิใช่การดื่มในที่สาธารณะ แต่ต้องดื่มอย่างถูกที่ถูกทางและถูกกาลเทศะ


 


 


              ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ โดย สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์


              ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ