ขับเคลื่อนประเทศไทย เปลี่ยนแปลงจากภายใน
ขับเคลื่อนประเทศไทย เปลี่ยนแปลงจากภายใน
เวทีถูกจุดประกายความสนใจอีกครั้ง ด้วยการแสดงทัศนะสำคัญในการก้าวเข้าสู่ปีที่ 12 หัวข้อเรื่อง ‘สสส. กับ สานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่’ โดยนพ.วิชัย โชควิวัฒน รองประธานกรรมการ สสส. คนที่ 2 ที่ระบุถึงความท้าทายของ สสส. และภาคีเครือข่าย ด้วยภาษิตคำเมืองที่ว่า “เมื่อจะไปข้างหน้าให้เหลียวหลัง ถ้ามันมืดให้หยุดก่อนอย่าเพิ่งไป”
นพ.วิชัย เล่าว่า การเกิดขึ้นของ สสส. เมื่อปี 2544 ถือเป็นองคาพยพใหม่ของงานด้านสร้างเสริมสุขภาพ มีผลงานเห็นเด่นชัด ทำงานมา 12 ปี มี 12,000 กว่าโครงการ หรือเฉลี่ยปีละกว่าพันโครงการ ขณะที่ สสส.มีบุคลากรเพียงหลักร้อยเท่านั้น ถือว่าเป็นองค์กรที่มีความคล่องตัวสูง
กรรมการ สสส. รุ่นบุกเบิก เน้นย้ำว่า สิ่งท้าทายจากนี้ คืออำนาจการเมืองที่มอง สสส. ว่าสั่งไม่ได้ บางที บางภาคี ก็ไปทำเรื่องกวนใจผู้มีอำนาจ จึงพยายามจะเข้ามายึดอำนาจ สิ่งเหล่านี้จึงถือเป็นภัยคุกคาม สสส. อยู่ ให้มี 2 ทางเลือก คือจะยอม หรือไม่ยอม จากนี้ไปจึงต้องติดตามว่า จะมีการครอบงำ สสส. เกิดขึ้นหรือไม่ ถ้ามีต้องไม่ยอมรับ ต้องหนุนช่วยซึ่งกันและกัน คนที่เป็นกรรมการ สสส. ต้องแสดงศักดิ์ศรี เพื่อให้ สสส. เป็นของประชาชน และเพื่อประชาชน ถ้าไม่กล้าที่จะต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีก็ให้ลุกจากตำแหน่งเสีย
ด้าน ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ผอ.แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดีระบุว่า แผนงานที่เกิดขึ้นเกิดจากแนวคิดของหมอประเวศ วะสี ที่เรียกร้องให้นักวิชาการออกมาจากหอคอยงาช้างและมาขับเคลื่อนทางปัญญาแก้ปัญหาให้มากขึ้น โดยงานที่มีส่วนทำอยู่เป็นงานระดับท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งก็มี อปท. เป็นเครือข่าย แต่ก็ไม่ได้ละเลยงานระดับชาติ
ทั้งนี้ ข้อเสนอที่อยากให้ สสส. ได้เพิ่มเติมเมื่อก้าวสู่ปีที่ 12 ก็คือต้องเน้นการสื่อสารกับคนชั้นกลางมากขึ้น สสส.อาจต้องทุ่มทุนทำละครดีๆ โดยต้องไม่ให้เป็นการยัดเยียดเพื่อสร้างค่านิยมใหม่ให้สังคม ต้องสร้างคนรุ่นใหม่และทำงานกับนักวิจัยท้องถิ่น ต้องสร้างเด็กที่อยากอยู่และภูมิใจในท้องถิ่นเพราะปัญหาที่เผชิญอยู่ขณะนี้ คืออาจารย์รุ่นใหม่ๆ ไม่ค่อยสนใจจะทำงานท้องถิ่น นอกจากนั้น ข้อมูลความรู้ที่มีอยู่มากมายของ สสส. ก็อยากให้เชื่อมต่อและแบ่งปันข้อมูลประมวลผลระหว่างกันโดยลดการใช้กระดาษ เน้นการสื่อสารที่เข้าถึงได้รวดเร็วและสะดวก
ด้าน ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ อดีตกรรมการ สสส. ระบุว่า อยากเห็นบทบาทของ สสส. เป็นตัวเชื่อมภาครัฐ กับภาคสังคม หรือภาคสังคมกับภาคธุรกิจ อยากเสนอให้ สสส. จัดสัมมนาร่วมกับคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย อาจจะมีการประชุมร่วมกันทุกเดือนเพื่อลดปัญหาและข้อขัดแย้งกับภาคสังคมและธุรกิจ
ปิดท้ายด้วยบทสรุปจาก นพ.มงคล ณ สงขลา ที่ปรึกษาของคณะกรรมการ สสส. ที่ย้ำถึงความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างที่ซ้อนทับกันไปมา ต้องประยุกต์การทำงานเชิงพื้นที่ให้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ต้องเน้นการทำให้ฐานรากเข้มแข็ง และทำให้เต็มพื้นที่ จึงอยากเสนอให้มีการ ‘คิดใหม่’เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ด้วย
นพ.มงคล ยังได้ฝากด้วยว่า สสส. นั้นได้ทำงานร่วมกับองค์กรอื่นๆ มากมาย แต่ความรู้ที่ได้มายังกระจัดกระจายอยู่กับองค์กรภายนอก ดังนั้นจึงต้องทำให้เป็นองค์ความรู้ที่มีอยู่ภายใน สสส. โดยสร้างและออกแบบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้รวดเร็ว ให้สมบูรณ์แบบกว่านี้ขึ้นไปอีก
ที่มา : จดหมายข่าว “มหามวลมิตร” เวทีครบรอบ สสส. 12 ปี ฉบับที่ 1