ขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตคนไทยเท่าเทียม
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แม้ว่าต้นทางของ "ประชารัฐ" กำเนิดขึ้นโดยการขับเคลื่อนตามแนวนโยบายของรัฐบาล แต่ปัจจุบันเรามีโอกาสได้เห็นผลิตผลแห่งความเปลี่ยนแปลงที่กำลังผลิดอกออกผล จากเมล็ดพันธุ์แห่งความร่วมมือของ 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมภายใต้นโยบาย "ประชารัฐ"
โดยทุกภาคส่วนล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือความต้องการมุ่งสร้างความเสมอภาคให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย ไม่ว่าจะเป็น "การกระจายโอกาสและการเข้าถึงโอกาส" "การสร้างความเท่าเทียมกัน" หรือแม้แต่ "ความร่วมใจเพื่อสร้างแนวทางการแก้ไขปัญหามิติต่างๆ ของประเทศร่วมกัน" เหล่านี้คือสัญญาณที่สะท้อนถึงเส้นทางการพัฒนาชาติที่เป็นรูปเป็นร่างที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในอีกไม่ช้า
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำโดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เป็นหัวเรือสำคัญในการขับเคลื่อนขบวน "ประชารัฐเพื่อสังคม" หรือกลุ่ม E6 ขณะที่ภาคเอกชนนำโดย นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทย และประธานสภาหอการค้าไทย และภาคประชาสังคมมี ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) ร่วมกันผลักดัน "เมกะโปรเจคท์" ซึ่งกำลังประจักษ์สู่สายตาประชาชนในเร็ววันนี้ ภายใต้การดำเนินงานของคณะทำงาน "ประชารัฐเพื่อสังคม"
แนวคิดประชารัฐเพื่อสังคมเป็น "กลไก" ซึ่งจะนำไปสู่การวางรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน และการสร้างทิศทางการดำเนินการที่ให้เกิดความต่อเนื่อง โดยจากความคืบหน้าในการประชุมร่วมกันระหว่าง 3 ภาคส่วน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2560 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.ที่ผ่านมา จึงเสมือนจุดเริ่มต้นของการทำความเข้าใจ และมองภาพเป้าหมายร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันใกล้ ในคณะทำงาน "ประชารัฐเพื่อสังคม" ยังได้สรุปเป้าหมายร่วมผลักดัน 5 ประเด็นเร่งด่วน หรือ "5 Quick win ได้แก่ 1. จ้างงานคนพิการ 2. จ้างงานผู้สูงอายุ 3. การออมเพื่อการเกษียณอายุ 4. พัฒนาที่อยู่อาศัยและระบบนิเวศน์ที่เหมาะสม และ 5. ความปลอดภัยทางถนน นั้นที่ร่วมกันผลักดัน และขับเคลื่อนการทำงานในประเด็นด้านสังคมร่วมกันจนบรรลุ ผลสำเร็จ
"หนึ่งในประเด็นสำคัญคือการเพิ่มอัตราการจ้างงานคนพิการในภาคเอกชน และภาครัฐ ที่เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้พิการที่มีศักยภาพ ได้มีโอกาสทำงาน และมีรายได้สำหรับการดำรงชีวิต ขอให้ทุกฝ่าย ร่วมสานพลังต่อไป พม. ถือเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงทุกภาคส่วน บนหลักการที่ว่าการพัฒนาสังคมเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อคนไม่ได้รับการพัฒนา การเมืองและเศรษฐกิจก็ไม่สามารถเดินต่อไปได้ และต้องพิจารณาข้อจำกัดของการดำเนินงานของแต่ละภาคส่วนของทั้ง 3 ภาคส่วนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เมื่อทำงานให้เป็นที่ประจักษ์แล้วและได้เห็นว่าสิ่งที่ทำนั้น สามารถเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง" พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว
นอกจากนี้ พม. กระทรวงแรงงาน และกรมสรรพากร ยังเร่งดำเนินการแก้ไขความชัดเจนมาตรา 35 และหารือเพื่อพิจารณาการขยายเวลาการขอใช้สิทธิ ตามมาตรา 35 ออกไปจากกำหนดเดิม คือ ภายใน 31 ธันวาคม 2559 เป็น 31 มีนาคม 2560 นี้ เพื่อให้เวลาสถานประกอบการในการดำเนินการตามมาตรา 35 ในปีการจ้างงาน 2560 เป็นกรณีพิเศษ
ความคืบหน้าล่าสุด คือสามารถส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของคนพิการ โดยมีจำนวนคนพิการที่มีสิทธิ์ถูกว่าจ้างทำงานตามกฎหมาย จำนวน 61,606 อัตรา ได้รับการจ้างงานตามมาตรา 33 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ พ.ศ. 2556 แล้ว 32,421 อัตรา
นอกจากนี้ ตั้งแต่ 3 ธันวาคม 2559 เป็นต้นมา ยังสามารถขับเคลื่อนให้เกิดการส่งเสริมอาชีพสำหรับคนพิการ ตามมาตรา 35 ได้อีกจำนวน 7,274 อัตรา และยังมีการวางแนวทางการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 35 ให้มากขึ้นอีก 8,845 อัตรา ภายในปี 2561 โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือการขยายการจ้างงานในเครือข่ายบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย เครือข่ายบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เครือข่ายบริษัทสมาชิกหอการค้า เครือข่ายบริษัทสมาชิกสมาคมการค้า และ เครือข่ายผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาค
ด้านการส่งเสริมการมีรายได้และจ้างงานผู้สูงอายุ มีความคืบหน้าในการดำเนินงาน สร้างช่องทางเพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างความต้องการงานของผู้สูงอายุ กับอัตรางานที่มี โดยได้มีการจัดกิจกรรมนัดพบแรงงานผู้สูงอายุรายภาค และการพัฒนาระบบ IT โดยอยู่ระหว่างหารือกับกรมการจัดหางาน และ ผลักดันการดำเนินโครงการปรับปรุงที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ "1 จังหวัดสร้าง 1 อำเภอซ่อม" ร่วมกับบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (SCG) และธนาคารอาคารสงเคราะห์
โดยกระทรวงแรงงานได้ทำการสำรวจสภาวะการทำงานของผู้สูงอายุในปี 2556 พบว่า ผู้ที่มีอายุ 60-64 ปี ยังอยู่ในภาคการทำงานร้อยละ 62 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ยังมีศักยภาพทำงานได้ ล่าสุดกระทรวงแรงงานจึงกำลังดำเนินการปรับแก้กฎหมายการกำหนดค่าตอบแทนในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับลักษณะการทำงานของกลุ่มคนเหล่านี้ได้มากขึ้น ซึ่งจะเชื่อมโยงการทำงานของกรมกิจการผู้สูงอายุ ที่จะจับคู่ความต้องการงานของผู้สูงอายุ กับปริมาณและลักษณะงานที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุต่อไป
ด้านการออมเพื่อการเกษียณอายุ ดำเนินงานผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชนโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เปิดเผยผลการศึกษาพบว่า คนไทยควรมีเงินหลังเกษียณขั้นต่ำ 4,361,799 บาท เพื่อสามารถใช้เงินหลังเกษียนได้ 20 ปี ทั้งนี้ มีประชากรเพียง 15 ล้านคน จากคนวัยทำงาน 40 ล้านคน ที่อยู่ในระบบการออมเพื่อวัยเกษียณทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ นำไปสู่ประเด็นขับเคลื่อนสำหรับแรงงาน 3 กลุ่ม คือ แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และผู้สูงอายุ ผ่านโครงการ "ขับเคลื่อนการออมเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน รองรับ สังคมผู้สูงอายุ (Happy Money, Happy Retirement Project) โดยการสร้างความตระหนัก ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ และผลักดันให้มีการออมอย่างสม่ำเสมอ
ส่วนความคืบหน้าโครงการประชารัฐเพื่อสังคมในประเด็นที่อยู่อาศัยและ สิ่งแวดล้อม โดยผู้แทนจากบริษัท SCG ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กล่าวถึงแผนงานภาพรวมในการเสริมสร้างยกระดับคุณภาพชีวิต โดยในปี 2569 เน้นการสร้าง Eco-System ของสังคมไทย สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน การอยู่ร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุกับสมาชิกในครอบครัวแต่ละ generation เพิ่มความตระหนักรู้ภาค ประชาสังคม สนับสนุนความรู้ด้านการปรับปรุงซ่อมแซมก่อสร้างที่เป็นเอกภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่น
ด้านความปลอดภัยทางถนน มีการดำเนินงานแผนการรณรงค์ช่วงสงกรานต์ อาทิ โครงการ "ถนนคนดี ประชารัฐร่วมใจ" โครงการ "หัวใจอมตะเมื่อฉุกเฉิน" MOU สานพลังประชารัฐ สื่อโฆษณา PTT Tune-up และโครงการ "ตรวจรถฟรี ขับขี่ปลอดภัย เทศกาลสงกรานต์" โดยกำหนดแผนงานโครงการในปี 2560 ใน 3 มาตรการ คือ 1. ด้านวิศวกรรม เน้นการปรับปรุงวิศวกรรมบริเวณจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ ยกระดับกฎหมาย รถทุกคันต้องมีอุปกรณ์ความปลอดภัยตามมาตรฐานฯ 2. ด้านการศึกษา เน้นการกำหนดมาตรฐานโรงเรียนสอนขับรถ และผู้ได้รับอนุญาตขับรถ (DDC) และ 3. ด้านการบังคับใช้ รถที่มาทำการต่อทะเบียนต้องเป็นไปตามมาตรฐานฯ ใบขับขี่ตลอดชีพ การรณรงค์เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน การตรวจรถก่อนเดินทาง และการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมผลักดัน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ร่วมขับเคลื่อนทั้งระยะสั้น กลาง ยาว
เมื่อ 3 หน่วยงาน ภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชนร่วมมือเสริมพลังกันในประเด็นทางสังคมเพื่อส่งเสริมความ เท่าเทียมของคนหลากหลายกลุ่มในสังคม โดยเน้น 5 Quick win ประเด็นตามความต้องการเร่งด่วนที่กล่าวไปแล้วนั้น ทำให้เกิดความเข้าใจภาพความเชื่อมโยงการทำงาน ความร่วมมือ ไปจนถึงการเสนอแนวทางเพื่อประสานพลังร่วมโครงการใหม่ ต่อยอดจากทุนเดิมให้เห็นผลอย่างยั่งยืน ถือเป็นอีกทิศทางและแนวทางการทำงานที่กำลังจะมีส่วนสำคัญที่ให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างแน่นอน
'พม. ถือเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนบนหลักการที่ว่าการพัฒนาสังคมเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อคนไม่ได้รับการพัฒนา การเมืองและเศรษฐกิจก็ไม่สามารถเดินต่อไปได้'