ขับเคลื่อนการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กด้อยโอกาส

ผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน ส่งไม้ต่อการศึกษา “ผู้ว่าฯคนใหม่-ผู้นำท้องถิ่น” ฝากความหวัง “สมาคมพัฒนาการศึกษาจังหวัด” ตัวกลางประสาน ไม่ทิ้ง “เด็กดอยด้อยโอกาส”

สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน  จัดประชุม “สมัชชาการศึกษาเพื่อการถักทอเครือข่ายพัฒนาการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน” โดยขับเคลื่อนกลไกความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อาทิ นายอัครเดช วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายวิมล จำนงบุตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รศ.ดร.ประพันธ์ ธรรมไชย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ และดร.จรูญ คำนวณตา ที่ปรึกษาสมาคมพัฒนาการศึกษาแม่ฮ่องสอน และดร.ไกรยส ภัทราวาท นักวิชาการสสค.เป็นวิทยากรบนเวทีเสวนา

นางนฤมล ปาลวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวเปิดงานว่า ในฐานะของผู้ว่าฯที่เป็นผู้หญิง เราก็มองว่า เด็กทุกคนเป็นลูกเป็นหลาน ฉะนั้นแม่คุณยายผู้ว่าฯคนนี้จะไม่อยู่แล้ว ก็หวังว่า งานขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กด้อยโอกาสในจังหวัด จะได้รับความร่วมมือและการส่งต่ออย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนผู้นำท้องถิ่น ท่านายกอบต. นายอบจ.และผู้ว่าฯท่านใหม่ที่จะมารับตำแหน่งแทน โดยหวังว่า “สมาคมพัฒนาการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน” จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลและความต้องการต่างๆเพื่อต่อยอดงานการศึกษาที่ท้องถิ่นจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ขับเคลื่อนมาในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว

นายสมพร ใช้บางยาง อดีตอธิบดีกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวถึงแนวทางที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับการศึกษาของแม่ฮ่องสอนให้เป็นจริงได้ ต้องเริ่มจาก การเปลี่ยนวิธีคิดก่อน “ทั้งภาคราชการและภาคประชาสังคมต้องเชื่อมั่นว่าคนในท้องถิ่นสามารถเชื่อมโยงร่วมมือกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้และเป็นเรื่องที่คนท้องถิ่นต้องทำด้วย  เพราะที่สุดแล้ว ไม่ว่าใครจะพยายามยึดโยงอำนาจไว้กับตัวกับองค์กรของตัวอย่างไร สภาพสังคมปัจจุบันจะทำให้ภาครัฐต้องกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นมากขึ้นเรื่อยๆ  หน่วยราชการจะกลายเป็นพี่เลี้ยง คอยช่วยให้คนพื้นที่ทำงานได้ดีขึ้น ไม่ใช่ผู้ควบคุมหรือลงไปปฏิบัติเอง  คนในแม่ฮ่องสอนจะต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และรับผิดชอบการพัฒนาและผลของการพัฒนาจึงจะยั่งยืนและเป็นจริงได้”

นายวิมล จำนงบุตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่เป็นภาระหน้าที่ที่ทุกคนทุกภาคส่วนต้องระดมกำลังมาช่วยกันอย่างจริงจัง “โลกยุคปัจจุบันนี้ คนในพื้นที่ต้องได้รับการพัฒนาให้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง คุณภาพการศึกษา ต้องเรียนรู้จริง นำมาใช้ได้จริง ไม่ใช่ได้คุณวุฒิ แต่ทำงานจริงไม่ได้ การศึกษาไม่ใช่เพื่อให้สอบเข้าทำงานในองค์กรหรือหน่วยงานเท่านั้น แต่ต้องคิดด้วยว่าศักยภาพของตัวเอง ของผู้เรียนจะสามารถประกอบอาชีพใดได้บ้าง การแสวงหาให้ได้ว่าแม่ฮ่องสอนต้องการอะไรและพยายามจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการและตลาดแรงงานของท้องถิ่น จะทำให้เด็กที่เรียนแล้ว แม้อาจไม่ต้องจบระดับ อุดมศึกษาก็สามารถมีงานทำ ในอนาคตสามารถเรียนต่อโดยมีรายได้เลี้ยงตัวเอง และมีชีวิตที่มีความสุขอย่างยั่งยืนได้ในบ้านเกิดของตัวเอง”

ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค. กล่าวว่า “ความสำเร็จของการยกระดับการเรียนรู้ฯของแม่ฮ่องสอน หรือปฏิรูปการเรียนการสอนเพื่อเด็กแม่ฮ่องสอนจะสำเร็จและเป็นจริงได้มีปัจจัยสำคัญอยู่ 4 ข้อ คือ 1.ต้องมีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นร่วมกัน  2.ต้องมีความรู้สึกของการเป็นเจ้าของร่วมกัน แบ่งหน้าที่กันทำ แล้วมาเชื่อมโยงถักทอเป็นเนื้อเดียวกัน 3.หน่วยงานส่วนกลางทั้งที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรง และไม่เกี่ยวข้องต้องให้การสนับสนุนหน่วยงานในท้องถิ่นอย่างจริงจัง และพร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น และ 4.แม้จะมีพลังทางสังคมพร้อมอยู่มาก แต่ การจะทำงานนี้ให้สำเร็จ ต้องสร้างให้เกิดกลไกการทำงานที่ขับเคลื่อนได้จริง”

ทั้งนี้ในช่วงบ่ายของการประชุมสมัชชาการศึกษาเพื่อการถักทอเครือข่ายพัฒนาการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสสค.และท้องถิ่นจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยจะเป็นการเสวนา “เครือข่ายยุทธศาสตร์กลุ่มย่อยเพื่อถักทอเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพการศึกษา” ในประเด็นแนวคิดโครงการครูยั่งยืน การบริหารการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หลักสูตรท้องถิ่นและการวัดประเมินผลการศึกษา และแนวคิดการจัดตั้งสภาการศึกษาจังหวัด และมหาวิทยาลัยแม่ฮ่องสอน ผลสรุปฉันทามติการประชุมสมัชชาการศึกษา จังหวัดแม่ฮ่องสอนประจำปี 2556  จะนำสู่แผนปฏิบัติการแนวทางการขับเคลื่อนสภาการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอนต่อไป

 

 

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

Shares:
QR Code :
QR Code