ขับขี่ปลอดภัย สุขสันต์ปีใหม่ ไร้อุบัติเหตุ

เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : งานแถลงข่าว ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย ปีใหม่ 2568
ภาพโดย พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
                    เทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะถึงนี้ เป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองที่ทุกคนต่างตั้งตารอ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่มีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูงอย่างน่าใจหาย เนื่องจากพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะการดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ
                    ปีที่ผ่าน ๆ มา ประเทศไทยมีสถิติการขับขี่ภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์สูงนำไปสู่การบาดเจ็บ รวมไปถึงการสูญเสียชีวิตอีกด้วย โดยในช่วง 7 วัน ของเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา มีคดีดื่มแล้วขับ มากถึง 7,864 คดี สะท้อนให้เห็นถึงปัญหานี้ที่ยังคงเป็นเรื่องใหญ่ของสังคมไทย
                    ดังนั้น การเปิดแคมเปญ “ดื่มแล้วขับอาจเป็นฆาตกร และอาจทำให้กลับไม่ถึงบ้าน” ตามที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) และภาคีเครือข่าย จัดแถลง เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2567 ที่ MCC Hall เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน จ.นนทบุรี จึงเป็นเสียงเตือนใจที่ไม่อาจข้ามไปได้ ที่ว่า…
                    การดื่มแล้วขับ ไม่เพียงแค่เป็นการละเมิดกฎหมาย แต่ยังเป็นการทำให้ชีวิตของผู้อื่นและตัวเองต้องเสี่ยงต่อการสูญเสียตามมาอย่างน่าหดหู่เศร้าใจอีกด้วย  ซึ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ทุกการเดินทางควรสามารถนำพาทุก ๆ คน กลับบ้านไปพบกับครอบครัว ญาติ – มิตร ได้อย่างปลอดภัยที่เปี่ยมด้วยความสุข
                    จะเป็นเช่นนั้นได้ ก้าวแรกที่สำคัญ คือ การมีส่วนร่วมในการป้องกันเพื่อหยุดยั้งอุบัติเหตุ โดยคิดก่อนที่จะตัดสินใจขับด้วยการไม่ดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาดในทุกครั้งทุกเส้นทางเดินทาง
                    จากงานแถลงข่าวของ นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. ที่ย้ำถึง “ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” ปีใหม่ 2568 ระบุถึงพิษภัยของแอลกอฮอล์ที่ส่งผลต่อการควบคุมพฤติกรรมและการตัดสินใจ ทำให้การขับขี่ยานพาหนะเป็นอันตรายมากขึ้น
                    โดยยกสถิติความสูญเสียช่วงเทศกาลปีใหม่ 3 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2565-2567 ที่เกิดอุบัติเหตุ รวม 7,435 ครั้ง บาดเจ็บ 7,416 คน เสียชีวิต 934 ราย
                    หากมองในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 – 2567 (2023-2024) ประเทศไทย มีรายงานคดีการขับขี่ภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์ รวม 7,864 คดี ในระยะเวลา 7 วันของแคมเปญความปลอดภัยบนถนน ในช่วง 29 ธันวาคม 2566 – 4 มกราคม 2567 พบ กรุงเทพฯ มีคดีมากสุดถึง 469 คดี ตามมาด้วยนครพนม 351 คดี และ หนองคาย 328 คดี
                    แต่เมื่อเทียบกับปี 2565 (2022-2023) พบว่า จำนวนคดีขับขี่ภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ มีจำนวนมากถึง 8,567 คดี ซึ่งแสดงถึงการลดลงของจำนวนคดีในปีถัดมา
                    สถิติเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการขับขี่ภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์ ยังคงเป็นเรื่องน่ากังวลในประเทศและสังคมไทย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่มีการเฉลิมฉลองและการรวมตัวของผู้คน
                    ดังนั้น “สำหรับเทศกาลปีใหม่ 2568 สสส.จึงเดินหน้ารณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนด้วยแคมเปญ “ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” ผ่านสปอตโฆษณา “ฝังใจ” ภายใต้แนวคิด “ดื่มแล้วขับอาจเป็นฆาตกร และอาจทำให้กลับไม่ถึงบ้าน” เพื่อกระตุ้นให้ตระหนักถึงผลกระทบของการดื่ม ให้หยุดคิดก่อนตัดสินใจดื่มแล้วขับ”  นางก่องกาญจน์ กล่าวย้ำ
                    ขานรับจาก นายสุทนต์ กล้าค้าขาย สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า “การสานพลังของภาคีเครือข่าย สสส. ได้ร่วมกันสะท้อนประเด็นความไม่ปลอดภัยทางถนนเป็นปัญหาระดับชาติ  โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่มีการเดินทาง  จึงกำหนดนโยบายความปลอดภัยทางถนน ภายใต้แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งชาติ ในการลดสูญเสียบนท้องถนน จาก 25 ต่อแสนประชากร ในปี 2566 ให้เหลือ 12 ต่อแสนประชากร ภายในปี 2570  ซึ่งสอดคล้องกับการประกาศทศวรรษ แห่ง ความปลอดภัยทางถนน 2021-2030 ตามข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ องค์การสหประชาชาติ อีกด้วย
                    “…ส่วนสำคัญในการสร้างความปลอดภัยทางถนน จำเป็นต้องมีมาตรการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือทุกภาคส่วน อาทิ การบังคับใช้กฎหมาย การนำเข้ารถยนต์ที่สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัย การมีนวัตกรรมช่วยเหลือผู้ขับขี่ เช่น กล้องตรวจจับความเร็ว  ชุมชน ประชาสังคมจะต้องมีบทบาทและจิตสำนึกการใช้รถใช้ถนนร่วมกันด้วย…” สมาชิกวุฒิสภา กล่าว
                    สอดรับกับมาตรการด้านความปลอดภัยทางถนน พ.ต.อ.อังกูร ทวีเกตุ ผู้กำกับการจราจร กองแผนงานความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า “สำหรับแผนปฏิบัติงานเทศกาลปีใหม่ 2568 จะเน้นย้ำเรื่องดื่มแล้วขับ หากตรวจสอบประวัติผู้กระทำความผิดกระทำผิดซ้ำ จะดำเนินการส่งฟ้องต่อศาลให้ได้รับโทษสูงขึ้น สำหรับผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็ก-เยาวชน จะขยายผลสืบสวนไปยังร้านค้า และ ผู้ปกครองที่ ปล่อยปละละเลย อีกด้วย”
                    ขณะที่ นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสื่อสารความปลอดภัยทางถนนกับสังคม ว่า “ ผู้นำชุมชนจะต้องย้ำเตือนการสื่อสารให้ประชาชนตระหนักถึงความสูญเสียจากการดื่มแล้วขับ และไม่ขับเร็ว ไม่ว่าจะเดินทางใกล้หรือไกล ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนถึงจุดเสี่ยง จุดอันตรายบนท้องถนนภายในชุมชนด้วย  ย่อมช่วยลดเสี่ยงอุบัติเหตุระหว่างเดินทางได้
และสิ่งสำคัญ คือ อย่าร่วมวงร่วมคิด ร่วมชีวิตกับนักดื่ม สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดอันตรายบนท้องถนนได้ด้วยเช่นกัน”
                    นายณัฐวุฒิ อุประโจง นายกอบต.หนองหนาม อ.เมือง จ.ลำพูน กล่าวว่า “…เดิมในพื้นที่รับผิดชอบของ อบต. เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เนื่องจากไม่มีสัญญาณไฟจราจร จึงประสานแขวงทางการขอติดตั้งอุปกรณ์สัญญาณไฟที่ปลดระวางแต่ยังใช้งานได้ จากนั้นได้สานพลัง สสส.สร้างจิตอาสา ร่วมแก้ไขจุดเสี่ยงด้วยการทำสัญลักษณ์เตือนตามจุดเสี่ยงต่าง ๆ ซ้อมแผนฉุกเฉินในทุกหมู่บ้าน  ปัจจุบันสามารถลดอุบัติเหตุให้เหลือศูนย์ได้ พร้อมขยายผลจัดกิจกรรมความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลร่วมกับอำเภอ และจังหวัด โดยมี อปท.กว่า 15 แห่งเข้าร่วม ”
                    สสส.ขอต้อนรับเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ 2568 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่แห่งการเฉลิมฉลอง เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและการรวมตัวกันของครอบครัวและเพื่อนฝูง แต่ความปลอดภัยในทุกการเดินทางไป-กลับ  ควรเป็นหัวใจสำคัญที่ไม่ควรถูกละเลย ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคนพบกับการเฉลิมฉลองเต็มไปด้วยความสุข ปลอดภัย และ มีความรับผิดชอบ
Shares:
QR Code :
QR Code