ขอนแก่นโมเดล คืนสิทธิ์ ‘คนไร้บ้าน’

          "สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน" ถูกบรรจุอย่างชัดเจนในกฎหมายสูงสุดอย่าง "รัฐธรรมนูญ"มาหลายยุคหลายสมัย ยิ่งในฉบับปี 2550 ที่มีจุดแข็งเป็นเรื่องดังกล่าว โดยระบุชัดว่า "รัฐ" จำเป็นต้องจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนทุกชนชั้น


          นั่นหมายความว่า ผู้ยากไร้ ผู้พิการ ทุพพลภาพ ต้องได้รับการศึกษาทัดเทียมบุคคลอื่น ขณะที่ "ผู้ไร้ที่อยู่อาศัย" ผู้สูงอายุ ไม่มีรายได้เพียงพอ ต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ฯลฯ


ขอนแก่นโมเดล คืนสิทธิ์ ‘คนไร้บ้าน’ thaihealth


          รพ.ขอนแก่น นำทีมแพทย์มาตรวจรักษาสุขภาพเบื้องต้นให้กลุ่มคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น


          แต่เมื่อสำรวจตามสภาพความเป็นจริง สมพร หารพรม ผู้ประสานงานเครือข่ายการแก้ปัญหากลุ่มคนไร้บ้าน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.)  ให้ข้อมูลว่า  จากการสำรวจจำนวนคนไร้บ้านด้วยวิธีการเดินนับตามแหล่งต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2553 พบว่า มีคนไร้บ้านประมาณ 1,092 คน ใน จ.เชียงใหม่มีราว 1,601 คน และคาดการณ์ว่าทั่วประเทศจะมีคนไร้บ้านสูงถึง 3,000 คน ในจำนวนนี้ไม่มีบัตรประชาชน 10-15%


          ซึ่งการเข้าไม่ถึงที่พักที่เหมาะสม ทำให้คนไร้บ้านมีปัญหาด้านความปลอดภัย ด้านคุณภาพชีวิต และขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขาดหลักฐานในการแสดงสถานภาพบุคคล ได้แก่ บัตรประชาชน และทะเบียนบ้าน


          เนื่องจากคนไร้บ้านจำนวนมาก มักขาดการติดต่อกับหน่วยงานราชการ จึงทำให้ถูกคัดรายชื่อออกจากระบบทะเบียนราษฎร์ของทางการ ส่งผลให้เข้าไม่ถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่รัฐจัดให้แก่ประชาชน เช่น  สิทธิในการศึกษา สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการได้รับเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ ฯลฯ


          นอกจากนั้น การไม่มีบัตรประชาชนยังทำให้คนไร้บ้านประสบความยุ่งยากในการดำเนินชีวิต เช่น ถูกตรวจค้นหรือถูกจับกุม เมื่อไม่มีบัตรประชาชน รวมถึงขาดโอกาสที่จะได้รับบริการทางการรักษาพยาบาล การศึกษา และด้านอื่นๆ เช่นเดียวกันกับคนไร้บ้านบางส่วน ที่มีบัตรประชาชนแต่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างถิ่น ซึ่งไม่ใช่แหล่งที่อยู่อาศัยทำมาหากินในปัจจุบัน ก็ยากที่จะเข้าถึงสิทธิในการเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ รวมทั้งการส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียน


 ขอนแก่นโมเดล คืนสิทธิ์ ‘คนไร้บ้าน’ thaihealth


บริการตัดผมโกนเคราฟรี ความเอื้ออารีจากเครือข่ายภาคประชาสังคมใน จ.ขอนแก่น


         เป็นที่มาของการจัดเวทีสื่อสารสาธารณะ "การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไร้บ้าน เรื่องบัตรประชาชน" ที่ศาลหลักเมือง จ.ขอนแก่น เมื่อเร็ว ๆ นี้  โดย เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์  ร่วมกับ ผู้แทนเครือข่ายคนไร้บ้าน มพศ. เทศบาลนครขอนแก่นร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยหวังให้ จ.ขอนแก่น กลายเป็นพื้นที่ต้นแบบการแก้ปัญหาคนไร้บ้านอย่างยั่งยืน และส่งเสริมให้คนไร้บ้าน ทั้งกลุ่มไร้บ้านถาวร และกลุ่มไร้บ้านชั่วคราว ที่มีอยู่ราว 120-160 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ไม่มีบัตรประชาชนราว  30-50 คน ในพื้นที่ขอนแก่น มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเข้าถึงสิทธิพื้นฐานตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้


          สมพร แจงถึงวัตถุในการจัดงานเพิ่มเติมว่า สืบเนื่องจากการเห็นความสำคัญเรื่องที่คนไร้บ้านไม่มีบัตรประชาชน ส่งผลให้เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะคนไทยคนหนึ่ง จึงหวังว่าเวทีเสวนานี้ จะช่วยกันสร้างรูปแบบกระบวนการออกบัตรประชาชนให้คนไร้บ้าน นำไปสู่การลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่จะออกบัตรประชาชนใหม่ให้คนไร้บ้านที่ไม่มีบัตร โดยไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก เพื่อแก้ปัญหานี้ได้จริงแต่ไม่หละหลวมด้านกฎหมาย และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้พื้นที่อื่นๆ เช่น กทม. เมืองพัทยา จ.ชลบุรี และ จ.เชียงใหม่


ขอนแก่นโมเดล คืนสิทธิ์ ‘คนไร้บ้าน’ thaihealth


ธเนศ จรโณทัย (ซ้าย) 


          ธเนศ จรโณทัย ผู้แทนเครือข่ายคนไร้บ้าน กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องออกแบบกระบวนการออกบัตรประชาชนแบบเฉพาะ ให้คนไร้บ้านที่ไม่มีบัตรประชาชน ว่า การที่คนไร้บ้านไม่สามารถมีบัตรประชาชนใหม่ได้นั้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากการออกบัตรมีขั้นตอนที่ซับซ้อน อาทิ ต้องตรวจสอบไปยังญาติพี่น้อง หรือต้องมีคนมารับรอง ขณะที่คนเหล่านี้ออกจากบ้านมานานจนบ้านเดิมอาจเปลี่ยนไปแล้ว หรือบางกรณีต้องพิสูจน์ดีเอ็นเอ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง คนเหล่านี้อาจไม่มีเงินเพียงพอที่จะดำเนินการ


          "เมื่อคนไร้บ้านเข้าไม่ถึงสิทธิและสวัสดิการพื้นฐานที่รัฐจัดให้แก่ประชาชน ทั้งการศึกษา การรักษาพยาบาล พบว่า คนไร้บ้านจำนวนไม่น้อยที่นอนป่วยจนเสียชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ก่อนจะมีหน่วยงานการกุศลมารับศพไปจัดการ และยังขาดสิทธิในการได้รับเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ ยังกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันด้วย ไม่สามารถสมัครเข้าทำงานในที่ต่างๆ ได้ หรือต้องหลบซ่อน ไม่กล้าเปิดเผยตัวเพราะจะถูกตรวจค้นจับกุมจากเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะไม่มีบัตรประชาชน ทั้งที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง จึงอยากให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาขั้นตอนในการที่จะช่วยให้คนไร้บ้านมีบัตรประชาชน"นพพรรณ พรหมศรี เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวเสริมนพพรรณ ยังบอกด้วยว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประชาชนทั่วไปในสังคม คนไร้บ้านมีความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิ และถูกคุกคามทำร้ายมากกว่า เพราะต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะที่มีผู้คนมากหน้าหลายตา โดยคนไร้บ้านที่เป็นผู้หญิง เด็ก และคนแก่ จะมีความเสี่ยงมากที่สุด


          "ภายนอกที่ดูไม่สะอาด สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมยังต่ำต้อย คนไร้บ้านจึงมักมีคนในสังคมดูถูกดูแคลนและเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงถูกเจ้าหน้าที่รัฐเลือกปฏิบัติ ไม่ปกป้อง ดูแล และคุ้มครองสิทธิเท่าเทียมกับพลเมืองคนอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาเกิดปัญหาต่างๆ ทั้งต่อร่างกายหรือทรัพย์สิน ยิ่งไปกว่านั้น บ่อยครั้งที่พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดสิทธิคนไร้บ้านเสียเอง เพราะเชื่อว่าคนไร้บ้านจะไม่สามารถกลับมาทวงสิทธิของตนเอง"เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยชี้ให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงที่คนไร้บ้านในสังคมไทย ต้องเผชิญอยู่ในทุกวันนี้


          ที่สำคัญไปกว่านั้น นพพรรณ อธิบายว่า การสูญเสียทุนทางสังคมเป็นเงื่อนไขสำคัญของการกลายมาเป็นคนไร้บ้าน ขณะที่การไม่มีทุนทางสังคมก็ทำให้คนไร้บ้านไม่ได้รับโอกาสจากสังคมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ไม่มีผู้ต้องการรับเข้าทำงาน หรือถูกขับไล่ออกจากพื้นที่สาธารณะต่างๆ โดยไม่ได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐเองก็มักมองคนไร้บ้านว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความด้อย หรือเป็นปัญหา จึงมักคิดค้นแนวทางในการแก้ไขพฤติกรรมหรืออบรมบ่มนิสัยของพวกเขา มากกว่าจะสร้างโอกาสและมีกลไก และมาตรการทางสังคมรองรับ เพื่อที่จะให้คนไร้บ้านสามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในการประกอบสัมมาอาชีพ และดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้


 ขอนแก่นโมเดล คืนสิทธิ์ ‘คนไร้บ้าน’ thaihealth


          การได้บัตรประชาชนโดยมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ช่วยให้ชีวิตคนไร้บ้านดีขึ้นได้นะ


         ด้าน ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์  ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ ว่า สสส. มีเป้าเพื่อลดความไม่เป็นธรรมทางสังคม และสุขภาพประชากรกลุ่มเฉพาะ หรือกลุ่มชายขอบหลายกลุ่ม อาทิ คนพิการ ผู้สูงอายุ แรงงานนอกระบบ ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล กลุ่มชาติพันธุ์ สำหรับคนไร้บ้าน เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มคนชายของชายขอบ เข้าไม่ถึงโอกาสทางสังคมหลายอย่างที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าถึงได้ เช่น รถไฟฟรี เบี้ยคนพิการ เบี้ยผู้สูงอายุ การมีที่อยู่อาศัย ฯลฯ สสส. จึงมุ่งเพื่อให้คนไร้บ้านมีศักยภาพดูแลช่วยเหลือตนเอง สามารถเข้าถึงสิทธิ และสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ และคนไทยพึงมี ซึ่งพร้อมนำร่องดำเนินงานในกรุงเทพฯ จ.ขอนแก่น และ จ.เชียงใหม่ โดยเน้นทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยงานรัฐส่วนกลาง แต่จากการวิเคราะห์ช่องว่างการดำเนินงาน และเล็งเห็นศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น สสส. จึงปรับทิศทางเน้นความร่วมมือกับหน่วยงานองค์กรในพื้นที่มากขึ้น


          "ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาคนไร้บ้าน เป็นปัญหาที่สำคัญ และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคม ถึงแม้ว่าหน่วยงานภาครัฐจะเริ่มตระหนักถึงการมีอยู่ของคนไร้บ้าน มองเห็นปัญหาของพวกเขา และพยายามหาแนวทางในการแก้ไข แต่ในระดับนโยบายกล่าวได้ว่าประเทศไทยยังไม่มีกฎหมาย และมาตรการทางสังคมที่จะใช้เป็นกลไกในการรองรับ และแก้ไขปัญหาให้แก่คนไร้บ้านโดยตรงและเป็นการเฉพาะ โดยเฉพาะการจัดการที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมให้แก่คนไร้บ้าน" ดร.ประกาศิต กล่าว และบอกด้วยว่า


          กฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสงเคราะห์ช่วยเหลือ และควบคุมคนไร้บ้านเป็นหลัก แต่ไม่มีกฎหมายว่าด้วยที่อยู่อาศัยโดยตรง ยกเว้นกฎหมายของการเคหะแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งคนไร้บ้านไม่อาจจัดรวมอยู่ในกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว หรือแม้กระทั่งโครงการบ้านมั่นคง โดยการกำกับดูแลของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นโครงการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนในชุมชนแออัดก็เช่นกัน กล่าวได้ว่าคนไร้บ้านไม่สามารถเข้าถึงความมั่นคงในที่อยู่อาศัยตามกลไกหรือกฎหมายที่มีอยู่


          "ดังนั้น สสส. จึงร่วมกับหน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ จ.ขอนแก่น เพื่อทำให้ขอนแก่นเป็นพื้นที่ต้นแบบในการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านอย่างยั่งยืนต่อไป"ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าว


 


 


          ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code